Monday, December 12, 2022
More

    เผยข้อมูลตลาดแรงงานไทยหลังการแพร่ระบาดโควิดในไตรมาส 2 มีผู้ว่างงานสูงถึง 0.74 ล้านคน

    การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในด้านอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก บางแห่งมีการเลิกจ้างแรงงานและบางแห่งอาจจะมีการฟื้นตัวจ้างงานเพียงเล็กน้อย สถาบันวิจัยวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อตลาดแรงงานไทย มีคนว่างงานและอยู่ในข่ายตกงานสูงถึง 3 ล้านคนและรวมถึงคนทำงานไม่เต็มเวลาอีกกว่า 14 ล้านคน

    ตลาดแรงงานยังทรงตัวเล็กน้อยในไตรมาส 2 ปี 63 พบเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1

    ผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 มีผลต่อตลาดแรงงานโดยจำนวนประชากรประมาณ 68 ล้านคนทำงานในไตรมาส 2 ปี 63 จำนวน 56.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.1% หากเทียบกับไตรมาส 1 ส่วนกำลังแรงงานมีจำนวน 38.17 ล้านคน ลดลง 0.1% จากไตรมาส 1 จากกำลังแรงงานดังกล่าว ผู้มีงานในไตรมาส 2 จำนวน 37.03 ล้านคน ลดลง 0.9% ขณะที่ไตรมาส 1 ตลาดแรงงานยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจากผลกระทบการแพร่ระบาดมีผลต่อตลาดแรงงานอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาส 1 ปี 2563 ทำให้การมีงานทำลดลง 28,000 คน (0.7%) และรุนแรงขึ้นในไตรมาส 2 ทำให้การมีงานลดลงถึง 71,000 คน (1.9%)


    ผู้ว่างงานไตรมาส 2 สูงขึ้นคิดเป็นอัตราว่างงาน 2%

    จากตัวเลขผู้มีงานที่เปิดเผยโดย สคช. ในจำนวนที่มีงานทำในปี 63 ไตรมาส 2 จำนวน 37.07 ล้านคนและ มีผู้ไม่ทำงาน ถึง 2.62 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 62 ถึง 47.9% ขณะที่ไตรมาส 1 ของปี 63 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 62 ผู้มียังมีตำแหน่งงานอยู่แต่ไม่ทำงานเพียง 17.6% เท่านั้น หลังจากที่เริ่มมีการแพร่ระบาดมา 6 เดือนพบว่า ผู้ว่างงานในไตรมาส 2 สูงขึ้นเป็น 0.74 ล้านคน คิดเป็นอัตราว่างงาน 2% ซึ่งปัญหาการว่างงานมีความเป็นไปได้ที่จะรุนแรงขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 ขึ้นอยู่กับนโยบายความมั่นคงทางสุขภาพซึ่งดูแลโดย ศบค. รวมทั้งในด้านเศรษฐกิจของประเทศ

    กลุ่มที่มีงานประจำเสี่ยงตกงานมากยิ่งขึ้นถึง 2.52 ล้านคน

    ความน่าเป็นห่วงคือ ผู้ที่มีงานประจำแต่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงตกงานที่สุดมีจำนวน 2.52 ล้านคน เมื่อรวมกับผู้ว่างงานจริงในไตรมาส 2 อีก 0.746 ล้านคน เป็น 3.266 ล้านคนเป็นผู้อยู่ในข่ายว่างงานจำนวนสูงสุดที่เป็นไปได้ คิดเป็น 8.55% ของกำลังแรงงาน ไม่เพียงแต่ทำให้แรงงานตกงานเท่านั้น ยังก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรงคือ มีแรงงานที่ทำงานอยู่ไม่ถึง 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จนถึงน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มสูงขึ้นถึง 14 ล้านคน หากเทียบกับไตรมาส 2 พบว่าแรงงานทำงานต่ำระดับเหล่านี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 4.12 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 41.7% ส่งผลกระทบต่อรายได้ของแรงงานต้องลดลงเป็นอย่างมากอันเนื่องจากไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

    ตลาดแรงงานภาคอุสาหกรรมการผลิตลดลงถึง -4.49% มากที่สุดในไตรมาสที่ 2

    สำหรับจำนวนผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบในไตรมาส 2 มีทั้งแรงงานหญิงและชาย ซึ่งไม่ต่างกันมากจะเห็นได้ว่าแรงงานหญิงที่ว่างงานมีจำนวน 0.336 ล้านคนเทียบกับแรงงานชายจำนวน 0.410 ล้านคน คิดเป็น 44.1% และ 100.7% ตามลำดับ โดยแรงงานตามอุตสาหกรรมในภาพรวมในไตรมาส 2 พบว่า

    – แรงงานภาคเกษตรมีจำนวน 11.47 ล้านคน ลดลง –0.30%
    – แรงงานอุตสาหกรรมมีจำนวน 6.27 ล้านคน ลดลง -4.20%
    – แรงงานอุตสาหกรรมการผลิตมีจำนวน 6.0 ล้านคน ลดลง -4.49%
    – แรงงานภาคบริการมีจำนวน 19.28 ล้านคน ลดลง -1.80%

    ภาพรวมของตลาดแรงงานมหภาคซึ่งมีการจ้างงาน 37.03 ล้านคน ซึ่งตลาดแรงงานยังอยู่ท่ามกลางมรสุมการระบาดโควิด-19 ในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งมีการจ้างงานมากที่สุดก็ถูกกระทบมากเช่นกัน คิดเป็นการจ้างงานที่หายไป จำนวนประมาณ 648,790 คน