ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยถึงธุรกิจเครื่องดื่มของไทย ซึ่งที่ผ่านมามีทิศทางชะลอการเติบโต แต่สำหรับเครื่องดื่มสุขภาพ คาดว่ายังเป็นกลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งกลุ่มน้ำดื่มผสมวิตามิน คือกลุ่มน้ำดื่ม Water Plus หนึ่งในตลาดเครื่องดื่มที่น่าจับตา จากจุดเด่นสำคัญคือความใส ไร้สี และดับกระหายได้เช่นเดียวกับน้ำเปล่า แต่ให้สารอาหารเพิ่มขึ้นอย่างเช่น วิตามิน B และ C ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ รวมถึงสารอาหารอื่น ซึ่งอาจทำให้มีกลิ่นหรือรสชาติที่แตกต่างจากน้ำเปล่า แต่ให้พลังงานและน้ำตาลน้อยมาก ตอบรับกับเทรนด์สุขภาพได้ดี
คนไทยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น น้ำดื่มผสมวิตามินจึงเป็นเป้าหมายของสายเฮลตี้
ความนิยมน้ำดื่มผสมวิตามิน สำหรับผู้บริโภคเกิดจากการตื่นตัวกับการดูแลและต้องการเสริมภูมิคุ้มกันจากสภาวะแวดล้อมในชีวิต ทั้งที่มาจากโรคภัยและการใช้ชีวิตแบบวิถีคนเมือง ในส่วนของฝั่งผู้ประกอบการ ถือเป็นการยกระดับการพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จากน้ำดื่มบรรจุขวด – น้ำแร่ ไปสู่น้ำดื่มผสมสารอาหาร (Water Plus) รวมถึงยังเป็นช่องวางในการตลาดใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการที่พยายามปรับตัวให้สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่คุมเข้มมากขึ้นในกลุ่มสินค้าที่มีผลต่อสุขภาพ ซึ่งส่งผลให้สินค้าเดิมในตลาดที่เข้าข่าย อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว น้ำผลไม้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำเป็นต้องปรับแผนการผลิต หลังจากเผชิญกับต้นทุนทางธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น
คาดปี 63 น้ำดื่มผสมวิตามินจะมีมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาทและขยับถึง 6 พันล้านในปี 64
สำหรับในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินในไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 1.2 ของมูลค่าเครื่องดื่มทั้งหมดในไทย อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าตลาดจะขยับขึ้นเป็นประมาณ 6,000 – 7,000 ล้านบาทในปี 2564 ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการแข่งขัน (Competitive Landscape) พบว่ามีมูลค่าตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินที่มีแนวโน้มมาจากการขยายตัวด้านปริมาณและระดับราคาสินค้าที่จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มบรรจุขวดพรีเมียมที่มีราคาสูง มีส่วนช่วยในการผลักดันการเติบโตของภาพรวมตลาดเครื่องดื่มหลังจากอิ่มตัวมาระยะหนึ่ง
เผยสาเหตุการอิ่มตัวของตลาดเครื่องดื่มและยังคงไม่เติบโตแบบก้าวกระโดด
สาเหตุที่ตลาดเครื่อมดื่มมีการอิ่มตัวมาจาก การขยายตัวด้านปริมาณที่เพิ่มขึ้น จากการ Switching ประเภทเครื่องดื่มของผู้บริโภคจากสินค้าทดแทน 2 กลุ่มคือ
1. กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลดริงก์ ที่ชูจุดขายการเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเช่นเดียวกับน้ำดื่มวิตามิน แต่อาจจะมีปริมาณน้ำตาลหรือให้พลังงานที่มากกว่า
2. กลุ่มน้ำแร่ ซึ่งเป็นน้ำดื่มบรรจุขวดพรีเมียม การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมาจากการให้ความสำคัญด้านคุณภาพและความตระหนักด้านผลลัพธ์ด้านสุขภาพเช่นเดียวกับน้ำดื่มผสมวิตามิน โดยทั้งสองประเภทมีระดับราคาและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใกล้เคียงกับน้ำดื่มผสมวิตามิน
รวมถึงระดับความรุนแรงของการแข่งขันด้านราคาที่คาดว่าเพิ่มขึ้น ทั้งจากผู้ทำธุรกิจเดิมที่อาจจะข้ามสายการผลิต หรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ เพื่อเพิ่มอัตราการทำกำไรกับธุรกิจมากขึ้น อีกทั้งผู้เล่นรายใหม่ข้ามธุรกิจที่มองเห็นโอกาสทางการตลาดและต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด เช่น ธุรกิจอาหาร ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม (อาหารเสริม โรงพยาบาล)
เผยภาพรวมตลาดเครื่อมดื่มไทยในปี 63 อาจจะหดตัวถึง 3.0 %
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองภาพรวมตลาดเครื่องดื่มประเทศไทยในปี 2563 ว่าอาจจะมีมูลค่าอยู่ที่ระดับ 4.45 แสนล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.0 จากการหดตัวของกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหลัก โดยรวมตลาดเครื่องดื่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กระทบช่องทางการขายซึ่งถูกจำกัดในช่วงมาตรการล็อคดาวน์ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแรงตามสภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าในปี 64 มูลค่าตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย