รฟม.จัดพิธีรับมอบรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก ของรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง เตรียมทดสอบระบบเมษายนปีหน้า
รฟม. จัดพิธีรับมอบรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก ของรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง
เล็งเปิดทดลองวิ่งให้ประชาชนขึ้นฟรีทั้ง 2 เส้นทางเดือนกรกฎาคม 2564 และจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูจากสถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ในเดือนตุลาคม 2564 และเปิดวิ่งเต็มเส้นทางในเดือนตุลาคม 2565
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ จากช่วงสถานีสำโรง-สถานีวัดศรีเอี่ยม ในเดือนตุลาคม 2564 และเปิดให้บริการครบตลอดเส้นทางในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยเก็บค่าโดยสารในราคา 16-42 บาท
ผู้มาร่วมงานรับมอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง
การรับมอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จะมี
– พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
– นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
– พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
– นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
และคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม
– นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
– นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ผู้บริหารบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด นำโดย
– นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
– นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
– นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยผู้บริหาร ส่วนราชการในท้องที่และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี
นายกฯ ย้ำให้เปิดใช้รถไฟฟ้าชมพู-เหลืองเต็มรูปแบบปี 2565
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า
– โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี
– โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง
เป็นส่วนหนึ่งภายใต้นโยบาย PPP Fast Track ของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานโครงการให้มีความรวดเร็ว รวมทั้งเปิดโอกาสให้เอกชนได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ร่วมกับภาครัฐ การมารับขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู และสายสีเหลือง ถือเป็น “นิมิตหมายอันดียิ่ง”
แสดงถึงความก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งของโครงการนอกเหนือจากงานก่อสร้าง เชื่อมั่นว่าทั้ง 2 โครงการจะเดินหน้าเต็มกำลัง ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าโมโนเรลแก่ประชาชน ตามที่กำหนดไว้ให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2022
และนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมได้ผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง ย้ำสิ่งสำคัญทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจกับประชาชนและรณรงค์ให้คนมาใช้ให้มากขึ้น ดูแลประชาชนให้มากที่สุด พยายามปรับราคาให้เหมาะสม และให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง
รฟม.เตรียม Test Run รถไฟฟ้าโมโนเรลชมพู-เหลืองเมษายน 2564
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า สำหรับรถไฟฟ้าที่รับมอบแล้ว จะนำไปไว้ยัง Depot ของแต่ละโครงการ และจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ และระบบอื่น ๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติม
จากนั้นจะเข้าสู่ขบวนการทดสอบระบบต่าง ๆ ทั้งการทดสอบการทำงานของระบบและอุปกรณ์ การทดสอบ Test Track ทดสอบเรื่องระบบเบรค เพราะวิ่งด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. รวมถึงทดสอบระบบอาณัติสัญญาณเบื้องต้น โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบการเดินรถ (Test Run) ประมาณเดือนเมษายน 2564
เล็งเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้บริการกรกฎาคม 2564
จากนั้นเดือน กรกฎาคม 2564 จะทดลองเดินรถเสมือนจริง (Trial Running) ของทั้ง 2 เส้นทาง ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรี ลักษณะเดียวกับที่เปิดทดลองให้บริการในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยในส่วนของสายสีชมพูจะทดลองให้บริการจากช่วงสถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ขณะที่สายสีเหลืองจะทดลองให้บริการจากช่วงสถานีสำโรง-สถานีวัดศรีเอี่ยม
รฟม.ยันพร้อมเปิดใช้โมโนเรลครบ 2 เส้นทางในปี 2565
ส่วนการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการและเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น จะเริ่มเปิดให้บริการในส่วนของช่วงสถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ในเดือนตุลาคม 2564 และจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางในเดือนตุลาคม 2565 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ จากช่วงสถานีสำโรง-สถานีวัดศรีเอี่ยม ในเดือนตุลาคม 2564 และเปิดให้บริการครบตลอดเส้นทางในเดือนกรกฎาคม 2565
เก็บค่าโดยสาร 16-42 บาท
สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และสายสีเหลืงฯ มีอัตราเริ่มต้น 16 บาท สูงสูด 42 บาท สำหรับผู้ที่เดินทางเชื่อมต่อระบบจะเสียค่าแรกเข้าระบบเพียงครั้งเดียว
ทั้งนี้ รฟม. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ กับผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท นอร์ทเทิร์น บองกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ กับผู้รับสัมปทาน บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 โดยทั้ง 2 โครงการได้รับการออกแบบให้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) แบบคร่อมราง บนทางวิ่งยกระดับเหนือแนวเกาะกลางถนน ทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนนะบบรอง (Feeder) ป้อนผู้โดยสารเข้ารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลัก
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และสายสีเหลืองฯ
โดยเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีแนวเส้นทางพาดผ่านตอนเหนือของกรุงเทพฯ ในแนวตะวันตก-ตะวันออก จากถนนติวานนท์ ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ไปสิ้นสุดบนถนนสีหบุรานุกิจ ระยะทางรวม 34.5 กม. มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการรวม 30 สถานี มีจุดเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลิมรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีมีนบุรี โดยมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ตั้งอยู่ใกล้กัลสถานีมีนบุรี
ส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีแนวเส้นทางพาดในแนวเหนือ-ใต้ ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ จากถนนลาดพร้าว ผ่านถนนศรีนครินทร์ ไปสิ้นสุดบนถนนเทพารักษ์ ระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการรวม 23 สถานี มีจุดเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ที่สถานีรัชดา เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก ที่สถานีพัฒนาการ เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีแยกลำสาลี และเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีสำโรง โดยมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีศรีเอี่ยม
รถไฟฟ้าซึ่งจะนำมาวิ่งให้บริการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และสายสีเหลืองฯ
สำหรับรถไฟฟ้าซึ่งจะนำมาวิ่งให้บริการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ เป็นรุ่น Bombardier Innovia Monorail 300 ควบคุมด้วยระบบอาณัติสัญญาณ CITYFLO 650 แบบไร้คนขับ ภายในห้องโดยสารของขบวนรถมีอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างครบครัน อาทิ
– กล้อง CCTV
– เครื่องตรวจจับควัน
– ปุ่มติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมรถ
– ถังดับเพลิง
– ที่เปิดประตูฉุกเฉิน ฯลฯ
โดยบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะทยอยส่งมอบรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ จำนวนรวม 42 ขบวน และของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ จำนวนรวม 30 ขบวน มายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จนครบจำนวนภายในปี 2564
พร้อมกันนี้ บริษัทผู้รับสัมปทานทั้งสองโครงการจะดำเนินการติดตั้งและทดสอบระบบเพื่อสร้างความมั่นใจ และเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565 โดยในระยะแรกจะให้บริการด้วยรถไฟฟ้า 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง และในระยะต่อไปยังสามารถเพิ่มจำนวนตู้โดยสารได้สูงสุด 7 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง