Monday, September 25, 2023
More

    อนุมัติวางกรอบพัฒนา-อนุรักษ์เขตเมืองเก่าร้อยเอ็ด ส่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

    เปิดแผนพัฒนา-อนุรักษ์เมืองยั่งยืน ขอบเขตเมืองเก่าร้อยเอ็ด

    ครม. เห็นชอบเขตเมืองเก่าร้อยเอ็ด วางกรอบพัฒนา-อนุรักษ์เมืองยั่งยืน

    คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเขตเมืองเก่าร้อยเอ็ด วางกรอบพัฒนา-อนุรักษ์เมืองยั่งยืน ป้องกันการทำลายหลักฐานที่สำคัญ และอนุรักษ์เมืองเก่าไว้เป็นมรดกของชนรุ่นหลัง ทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม


    สำหรับขอบเขตเมืองเก่าและแนวทางการอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ด แบ่งเป็นเมืองเก่าในกลุ่มที่ 2 คือเมืองที่มีความสำคัญตั้งแต่อดีต และมีหลักฐานทางศิลปกรรมรองจากเมืองเก่ากลุ่มที่ 1 โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 3.01 ตารางกิโลเมตร

    ลักษณะเป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นกำแพงเมือง-คูเมือง เกิดเป็นโบราณสถานที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งมีคุณค่าความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

    5 พื้นที่การพัฒนาขอบเขตเมืองเก่าร้อยเอ็ด

    โดยแบ่งเป็นเขตพื้นที่เมืองเก่า 5 พื้นที่ (Zoning)
    1.บริเวณใจกลางเมืองร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองเก่าร้อยเอ็ดประกอบด้วย วัดบึงพระลานชัย สระชัยมงคล บึงพลาญชัย ศาลหลักเมือง สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด และอนุสาวรีย์พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์

    2.บริเวณวัดกลางมิ่งเมือง วัดบูรพาภิราม วัดราษฎร์ศิริ และย่านการค้าถนนผดุงพานิชด้านตะวันออก รวมถึงแนวกำแพงเมืองคูเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

    3.บริเวณวัดสระทอง วัดเหนือ วัดคุ้มวนาราม และย่านการค้าถนนผดุงพานิชด้านตะวันตก รวมถึงแนวกำแพงเมืองคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

    4.บริเวณวัดสระแก้วและชุมชนโดยรอบวัด ย่านชุมชนด้านตะวันตกเฉียงใต้ รวมถึงแนวกำแพงเมืองคูเมืองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้

    5.บริเวณย่านสถานที่ราชการ ประกอบด้วย แนวกำแพงเมืองคูเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อาคารสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาและย่านชุมชนโดยรอบ

    แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาขอบเขตเมืองเก่าร้อยเอ็ด

    ด้านแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนา แบ่งเป็น
    1.แนวทางทั่วไป เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์ การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน การส่งเสริมวิถีชีวิตท้องถิ่นและคุณภาพชีวิต การป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์และธรรมชาติ ระบบจราจรและสิ่งแวดล้อม และการดูแลบำรุงรักษาอาคาร

    2.แนวทางสำหรับเขตพื้นที่ เช่น
    – การใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดให้ใช้เพื่อหัตถกรรม การท่องเที่ยว พาณิชยกรรม การอยู่อาศัย ศาสนสถาน สถานศึกษา หน่วยงานราชการ สาธารณูปโภค นันทนาการ และการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น
    – อาคารและสภาพแวดล้อม กำหนดความสูง สัดส่วนพื้นที่ว่าง (Open Space Ratio) ขนาด ลักษณะ และรูปแบบของอาคารให้สอดคล้องกลมกลืนหรือไม่ทำลายโบราณสถานในพื้นที่
    – ระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมให้มีทางเดินเท้าและการใช้ยานพาหนะขนาดเบา เช่น รถจักรยาน รถลากจูง เพื่อลดมลภาวะ ลดปริมาณการจราจร โดยห้ามรถบรรทุกหนักและขนาดใหญ่เข้าพื้นที่
    – การพัฒนาภูมิทัศน์ สร้างเส้นทางต่อเนื่องระหว่างเมืองเก่า โบราณสถาน และพื้นที่เปิดโล่งในเมือง
    – การบริหารจัดการ โดยการออกระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับเขตเมืองเก่า เป็นต้น

    ทั้งนี้ ครม. ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการมาตรการจูงใจหรือการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการการให้สิทธิพิเศษในการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ในบางบริเวณหรือพื้นที่อื่น มาตรการทางด้านภาษี มาตรการการยกเว้นค่าธรรมเนียมบางรายการ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม