ศบค. ได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการ “ชอปดีมีคืน” เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถนำไปลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 30,000 บาท และมีลักษณะคล้ายกับมาตรการชอปช่วยชาติที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2558 – 2561 ในส่วนของมาตรการ “ชอปดีมีคืน” กำหนดวงเงินในการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้จะต้องเป็นการใช้จ่ายในช่วง 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 63 คิดเป็นระยะเวลา 70 วัน วงเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
มาตรการ “ชอปดีมีคืน” คาดช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4/2563 เป้าหมายหลักกลุ่มรายได้ปานกลาง – สูง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย โครงการ “ชอปดีมีคืน” มีเป้าหมายหลักคือผู้ที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการบริโภคช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 63 และหากรวมมาตรการต่างๆที่รัฐออกมา ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2563 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นและหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสก่อนหน้านี้ สำหรับมาตรการ “ชอปดีมีคืน” คาดว่าจะช่วยให้เกิดการระบายสินค้าคงคลังที่มียอดสูง อีกทั้งจะช่วยผลักดันยอดขายและเพิ่มสภาพคล่องของผู้ประกอบการต่างๆ ในทางที่ดีขึ้น รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้สร้างบรรยกาศทางเศรษฐกิจที่ดี ส่งผลให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น มองในภาพรวมคาดว่าผู้ประกอบการค้าปลีกจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ในขณะที่ยอดใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อธนาคาร เนื่องจากมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตขยายตัวมากขึ้น
มาตรการ “ชอปดีมีคืน” จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงชั่วคราว ส่งการจ้างงานค่อนข้างจำกัด
คาดว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายเพียงชั่วคราว และมีผลประโยชน์ต่อการจ้างงานค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผู้ผลิตอาจจะยังไม่พิจารณากลับมาผลิตเพิ่ม หากอุปสงค์ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้รับประโยชน์โดยตรงน่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ซึ่งอาจจะทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) อาจจะยังไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเท่าไหร่นัก หากการฟื้นตัวของการบริโภคหลังจากที่มาตรการดังกล่าวหมดไป คงกลับมาขึ้นอยู่กับแรงขับเคลื่อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ การท่องเที่ยว รายได้จากการจ้างงาน และรายได้จากภาคการเกษตร เป็นสำคัญ และท่ามกลางความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก คาดว่าไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในระยะข้างหน้า