ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้ออ่อนแรงของผู้บริโภค ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ยังคงสร้างแรงกดดันต่อการเติบโตทางธุรกิจค้าปลีก ส่งผลให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวและกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นผู้บริโภคให้ออกมาจับจ่าย
รัฐบาลกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านมาตรการที่เอื้ออำนวยแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
ในช่วงปลายปีนี้ รัฐได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายต่างๆ เช่น มาตรการ “คนละครึ่ง” เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อร้านค้าปลีกรายย่อย ที่เน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคประจำวัน เช่น ร้านธงฟ้า ร้านโชห่วย ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก รวมถึงมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งคาดว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการค้า ที่จดทะเบียนในระบบและออกภาษีได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายของธุรกิจในภาพรวมได้ในระดับหนึ่ง
มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ส่งพฤติกรรมผู้บริโภคแตกต่างกันออกไป
จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” (จำกัดวงเงินคนละไม่เกิน 30,000 บาท) มีผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แตกต่าง ดังนี้
– มากกว่าร้อยละ 70 สำหรับผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 42,000 ขึ้นไป วางแผนที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีฐานรายได้สุทธิมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนใหญ่วางแผนที่จะใช้สิทธิเต็มจำนวน (30,000 บาท) สำหรับคนที่มีรายได้ไม่ถึง 500,000 ต่อปี วางแผนใช้สิทธิเพียงร้อยละ 40 ซึ่งส่วนใหญ่จ่ายเพียงบางส่วน เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 5,000 – 10,000 บาท เนื่องจากมีความกังวลต่อกำลังซื้อในอนาคต
– สินค้าและบริการ อย่างการรับประทานอาหารในร้าน อุปกรณ์ไอที และของใช้จำเป็นส่วนบุคคล เป็น 3 อันดับแรกในกลุ่มช่วงอายุไม่แตกต่างกันมากนัก โดยปกติผู้บริโภคมีการรับประทานอาหารและซื้อสินค้าในกลุ่มของใช้จำเป็นส่วนบุคคลอยู่แล้ว จึงไม่มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าช่วงที่ไม่มีมาตรการมากนัก ขณะกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ไอที อาจจะได้รับความสนใจจากกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมากขึ้นในช่วงที่ไม่มีมาตรการ
– ผู้บริโภคใน 3 กลุ่มวางแผนที่จะจ่ายผ่านห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ซึ่งห้างสรรพสินค้า เป็นช่องทางหน้าร้านหรือ Physical store ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องความสะดวก รวมถึงยังมีสินค้าและบริการที่ครบวงจร ส่วน E-market place เป็นช่องทางออนไลน์ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน มีความคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าผ่าน E-Commerce อยู่แล้ว อีกทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ร่วมกับร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มดังกล่าว มีการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการลดราคา ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้
“ช้อปดีมีคืน” และ “คนละครึ่ง” หนุนภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกกระตุ้นการใช้จ่ายส่งท้ายปี 63
มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” และ “คนละครึ่ง” เป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายส่งท้ายปี 63 นี้ รวมถึงกระตุ้นกำลังซื้อและการใช้จ่ายที่ออกมาก่อนหน้านี้ เช่น มาตรการ “คนละครึ่ง” อาจจะช่วยหนุนภาพรวมของธุรกิจค้าปลีก ให้หดตัวลดลงเป็นร้อยละ 6.0 หากเทียบกับไม่มีมาตรการ ที่คาดว่าจะหดตัวราวร้อยละ 7.2 เปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งผู้ที่ประกอบการค้าปลีกควรที่จะเตรียมสต็อกสินค้า อำนวยความสะดวกในเรื่องใบกำกับภาษี โดยเฉพาะการจัดการใบภาษีที่สะดวกและรวดเร็ว เช่น บริการจัดส่งใบภาษีถึงที่พักอาศัย ออกใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องรอคิวนาน
รวมถึงข้อกำจัดด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มและผู้บริโภคที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แต่ยังไม่มีการวางแผนการใช้จ่าย ผู้ประกอบการค้าปลีกอาจจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดควบคู่ไปกับมาตรการดังกล่าว เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยรูปแบบการทำตลาดยังคงให้ความสำคัญกับการลดราคาสินค้า ความคุ้มราคา และการผ่อนชำระ 0% เพื่อจูงใจกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แต่อาจมีรายได้ไม่สูงนัก