มองเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และความท้าทายในการปรับตัวของแบรนด์ยุคนิวนอร์มัล หลังพบผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มพิจารณาประเด็นทางสังคม และจริยธรรม ก่อนตัดสินใจว่าจะเลือกสนับสนุนแบรนด์นั้น ๆ หรือไม่ เพิ่มขึ้น
การปรับแต่งแบบเฉพาะบุคคล แนวทางสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภค
รายงาน “อะไรที่ทำให้แบรนด์ยังครองความแข็งแกร่ง แม้เผชิญสถานการณ์ยากลำบาก และความไม่แน่นอน” ของ Adobe เผยว่า การดำเนินงานสู่ดิจิทัลของแบรนด์ต่าง ๆ คือความแน่นอนอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคโควิด-19 หรือแม้แต่แบรนด์ที่ใช้ช่องทางออนไลน์อยู่แล้ว ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อรองรับความต้องการทางออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึง “ทัศนคติและรสนิยม” ของลูกค้าที่เปลี่ยนไปจากเดิม
โดยความหลากหลายในยุคปัจจุบัน ทำให้การเข้าถึงผู้บริโภคอย่าง การปรับแต่งแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะส่งผลให้รสนิยมและความชอบของผู้บริโภคเดาทางยาก และมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น
เวลาที่ใช่ ความเข้าอกเข้าใจ ข้อมูลเรียลไทม์ ปัจจัยหลักครองใจผู้บริโภค
ซึ่งรายงานยังชี้ว่าเวลาที่แบรนด์จะเข้าถึงผู้บริโภค ต้องเป็นเวลาที่ “ใช่” โดยจังหวะเวลาในการติดต่อสื่อสารนับเป็นเรื่องที่แบรนด์ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะเป็นช่องทางสำคัญที่เข้าถึงลูกค้า และกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงไปตรงมา แต่แบรนด์ต้องคำนึงถึงการเข้าสู่ช่องทางที่โดยทั่วไปแล้ว สงวนไว้สำหรับเพื่อน งาน และครอบครัว ทำให้ความเข้าอกเข้าใจ และข้อมูลแบบเรียลไทม์จะช่วยให้แบรนด์รู้จักจังหวะ และการเข้าถึงลูกค้าอย่างเหมาะสม
Gen Z และ Millennial มีแนวโน้มยกเลิกการรับอีเมลจากแบรนด์
ผลการสำรวจความรู้สึกของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกของอะโดบี (Adobe APAC Consumer Sentiment Survey) ชี้ว่าคน Gen Z และ Millennial มีแนวโน้มที่จะยกเลิกการรับอีเมลจากแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวตอกย้ำความสำคัญของการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางที่เหมาะสม และเวลาที่ถูกต้อง
ผู้บริโภคดิจิทัล 77% ได้ลองใช้แอปฯ ใหม่ ๆ ในยุคโควิด-19
นอกจากนี้ ยังพบว่าโมบายล์แอป กลายเป็นช่องทางการสื่อสารเกี่ยวกับข้อความสำคัญ และข้อเสนอพิเศษ โดยผลการศึกษาของ Bain และ Facebook ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 28% ลองใช้แอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ 77% ของผู้บริโภคดิจิทัลที่ตอบแบบสอบถาม ได้ลองใช้แอปพลิเคชันใหม่ และมีแผนที่จะใช้แอปฯ นั้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
Gen Z และ Millennial พร้อมสนับสนุนบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
และยังพบว่าคน Gen Z และ Millennial ให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดต่อบริษัทที่แสดงความมุ่งมั่นในการรับใช้สังคม และพร้อมที่จะสนับสนุนบริษัทดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งการเชื่อมรสนิยม และความชอบของลูกค้าในวันนี้ และในอนาคต ด้วยค่านิยมที่มีร่วมกัน จะสามารถชนะใจลูกค้ากลุ่มนี้ได้ไม่ยาก
ทั้งผลการสำรวจความรู้สึกของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก หรือ APAC พบแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่พิจารณาประเด็นทางสังคม และจริยธรรม ก่อนตัดสินใจว่าจะเลือกสนับสนุนแบรนด์นั้น ๆ หรือไม่อย่างชัดเจน
โดยเกือบสามในสี่ของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก หรือ APAC เชื่อว่าแบรนด์ต่าง ๆ ควรดำเนินงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์และความเป็นไปของโลกใบนี้ กุญแจสำคัญจึงอยู่ที่การปรับแต่งการเข้าถึง ให้สอดคล้องกับความรู้สึกของลูกค้าผ่านหลากหลายช่องทาง และสื่อสารประเด็นปัญหาเหล่านั้นด้วยความจริงใจ