ภาพรวมสุขภาพคนไทยในช่วงที่ผ่านมาพบว่า “โรคอ้วน” หรือสภาวะอ้วน BMI (Body Mass Index) สูงมากกว่า 25% เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.28 ของประชากรวัยทำงาน ส่งสัญญาณอันตรายหลายด้านทั้ง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตัน ซึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า “โรคอ้วน” คร่าชีวิตประชากรทั่วโลกไปกว่า 4 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานแตะ 4.8 ล้านคน เสียชีวิตไปแล้วกว่า 200/วัน
ประเทศไทยพบ “โรคอ้วน” สูงกว่า 25% หรือคิดเป็นร้อยละ 48.28 และเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน
สาเหตุการเกิด “โรคอ้วน” มาจากหลายปัจจัยรวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่มีคุณค่า ขาดการออกกำลังกาย สะสมความเครียด และมลพิษจากมลภาวะ โดยโรคอ้วนและน้ำหนักเกิน พบมากในทุกประเทศทั่วโลก และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน จากการสำรวจข้อมูลในระดับนานาชาติ พบว่า ประเทศไทยมีความชุกของภาวะโรคอ้วนโดยมีดัชนีมวลกาย หรือ BMI สูงมากกว่า 25% โดยสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากมาเลเซียซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.28 จากภาวะคนไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้คนไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน และเสียชีวิตจากการโรคดังกล่าวไปมากกว่า 200 คน/วัน โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นถึง 13.1% ซึ่งผลพวงการเกิดโรคมาจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้บริโภคอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ขาดการออกกำลังกาย ความเครียดสะสม และมลพิษจากมลภาวะรอบตัว
เผยสาเหตุที่ทำให้เกิด “โรคอ้วน”
สาเหตุและปัญหาหลักเกิดจากการใช้ชีวิตของแต่ละคน ประกอบด้วย
– การรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่เกินกว่าที่ร่างกายจะสามารถเผาผลาญได้
– การพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เกินการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและทำให้เกิดความหิวมากกว่าเดิม รวมทั้งอยากรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง
– ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการเผาผลาญไขมันส่วนเกินออก
– อายุที่มากขึ้นและฮอร์โมนที่ลดลงทำให้อัตราการเผาผลาญช้าลง ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ง่าย รวมถึงอาจจะเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม
เผยเทคนิคที่จะช่วยให้ห่างไกลจาก “โรคอ้วน”
สำหรับเทคนิคในการดูแลร่างกายให้ห่างไกลจาก “โรคอ้วน” และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งอย่างแรกควรที่จะ รับประทานอาหารตามนาฬิกาของชีวิต (Circadian eating) งดทานอาหารในเวลาที่ใกล้เข้านอน เน้นทานมื้อเช้าและเน้นรับประทานอาหารธรรมชาติและพืชเป็นหลัก (Whole-food Plant-based) หลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำตาลและอาหารแปรรูปเป็นประจำ ออกกำลังกายสร้างนิสัยให้เป็นคนที่มี Active lifestyle ทำจิตใจให้แจ่มใส คิดบวก และสำคัญที่สุดคือการพักผ่อนให้เพียงพอไม่ควรนอนดึกจนเป็นนิสัย เพื่อให้ร่างกายสร้างโกรทฮอร์โมนได้อย่างเต็มที่ นอกจากส่งผลเสียต่อการเผาผลาญแล้วยังส่งผลเสียต่อระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร คือ ฮอร์โมนเกอลิน (Ghrelin) ที่จะบอกให้ร่างกายรู้สึกหิว และ ฮอรโมนเลปติน (Leptin) ที่จะบอกให้สมองสั่งการให้หยุดกินและรู้สึกอิ่ม ถ้านอนไม่พอ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเกอลินเพิ่มขึ้นและ ฮอร์โมนเลปตินลดลง ส่งผลให้รู้สึกหิวอยู่ตลอดและไม่รู้สึกอิ่ม อย่างไรก็ตาม กินให้ถูก ร่างกายต้องได้ขยับ เครียดให้น้อย และ นอนให้พอ จะเป็นวิธีที่สามารถทำให้ห่างไกลจาก “โรคอ้วน” และป้องกันการเกิดโรคอื่นๆตามมา