คนไทยเริ่มต้องการการออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น จากมาตรการ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากข้อมูลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า มีคนไทยเดินทางทางเที่ยวในเดือนกรกฏาคม – กันยายน 63 จำนวน 24.3 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 63 ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 มีเพียง 3.9 ล้านคน/ครั้ง
มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ หวังฟื้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้าย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่า ในช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. 63 มีการเดินทางท่องเที่ยวทั้งรูปแบบค้างคืนและแบบเช้ากลับเย็นกว่า 60.0% ขณะที่ยังไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวมีสัดส่วน 40.0% ซึ่งในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้รัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยอย่างเช่น การเพิ่มวันหยุดยาวพิเศษ วันที่ 19 – 20 พ.ย. 63 และเปลี่ยนแปลงวันหยุดชดเชยจากวันที่ 7 ธ.ค. เป็นวันที่ 11 ธ.ค. 63 เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ มักเดินทางท่องเที่ยวในวันหยุดมากกว่าวันธรรมดา รวมทั้งต่ออายุและปรับเงื่อนไข โครงการเราเที่ยวด้วยกัน พร้อมมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งสถาการณ์ด้านการท่องเที่ยวในปีนี้อาจจะแตกต่างออกไปจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาวะด้านเศรษฐกิจที่อาจจะไม่เอื้อต่อนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความกังวลต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศ
สภาวะด้านเศรษฐกิจ และความกังวลต่อโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์การเมือง ส่งแผนใช้จ่ายนักท่องเที่ยวปรับลด 5.5%
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 นี้ พบว่า มีการเดินทางท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 77.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยหากเทียบกับผลสำรวจเดือนเดียวกันในปีก่อน แต่การท่องเที่ยวยังไม่มีความแน่นอนสูง ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าหากมีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะส่งผลต่อการปรับแผนการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่เหลือนี้ รวมถึงประเด็นการเมืองที่ต้องติดตาม ในส่วนของการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังมีความกังวลในภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้ความถี่การเดินทางลดลง รวมถึงแผนการใช้จ่ายของนักเดินทางต่อทริปปรับลดลงประมาณ 5.5% หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน
3 เดือนสุดท้ายของปี คาดมีมูลค่าการใช้จ่ายของคนไทยประมาณ 1.8 แสนล้านบาท
แม้ว่าภายใต้กรณีไม่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศอีกครั้ง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และการชุมนุมทางการเมืองที่อยู่ในขอบเขตจำกัด ช่วยทำให้การใช้จ่ายของคนไทยท่องเที่ยวในประเทศ ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ อาจจะมีมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท หดตัวประมาณ 37.1% ดีขึ้นจากที่ผ่านมาหดตัวในช่วงก่อนหน้า ผลจากโควิด-19 ทำให้การใช้จ่ายของคนไทยในประเทศน่าจะมีมูลค่า 5.06 แสนล้านบาท หดตัว 53.3% จากปี 62