ในช่วงระยะที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลก ยังคงน่าเป็นห่วง จากการเผชิญกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ซึ่งสร้างปัญหาทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างกว้างขวาง สำหรับประเทศไทยถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี แต่สถานการณ์ ทางเศรษฐกิจและรายได้คนไทยยังคงฝืดเคือง เนื่องจากประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาด้านการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ธุรกิจเสี่ยงต้องปิดตัวลงจำนวนมาก ส่งผลให้มีจำนวนผู้ตกงานและสูญเสียรายได้เป็นประวัติการณ์
3 มาตรการ จะช่วยกระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี คาดประมาณ 1.07 แสนล้าน
แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ผ่านรายจ่ายครัวเรือนในรูปแบบต่างๆ รวม 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการชอปดีมีคืน, โครงการคนละครึ่ง, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่ง KKP Research ประเมินว่าผลของมาตรการที่ออกมาในครั้งนี้ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะยังไม่สูงมากนัก โดยคาดว่า การใช้จ่ายผ่าน 3 มาตรการ จะช่วยกระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี ประมาณ 1.07 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินไว้ว่า จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเกือบ 2 แสนบ้านบาท พร้อมคาดว่ากำลังซื้อที่จะเกิดขึ้นภายใต้มาตรการกระตุ้นรอบใหม่นี้ ส่วนใหญ่จะมาจากมาตรการ ชอปดีคืน 111,000 ล้านบาท จากโครงการคนละครึ่ง 60,000 ล้านบาท และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมอีก 21,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 192,000 ล้านบาท
การใช้จ่ายยังกระตุ้นไม่มากนัก พบ GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้น 0.17% ต่ำกว่าที่ สศค. คาดไว้ที่ 0.54% ของ GDP
แม้มาตรการใช้จ่าย อาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากนักเท่าที่รัฐบาลคาดไว้โดยเฉพาะ ชอปดีมีคืน ด้วยสาเหตุหลักคือ
1. กำลังซื้อที่อ่อนแอลงมากจากภาวะการว่างงานและรายได้ของครัวเรือนที่ถูกกระทบอย่างหนัก
2.ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้มาตรการต่าง ๆ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเดิมที่ตั้งใจจะใช้อยู่แล้ว (Existing demand)
3. ในแง่ของการกระตุ้น GDP ส่วนหนึ่งจะรั่วไหลไปกับการนำเข้าสินค้า ซึ่งไม่นับรวมอยู่ใน GDP ของไทย (Import leakage)
โดยประเมินว่าทั้ง 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้จะส่งผลทำให้ GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้น 0.17% ต่ำกว่าที่ สศค. คาดไว้ที่ 0.54% ของ GDP
พบงบฯ การลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศกลับเบิกจ่ายได้เพียง 48%
การพลักดันการใช้จ่ายและการลงทุนตามงบประมาณของภาครัฐ เป็นเครื่องมือทางการคลังอีกอย่างหนึ่ง ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่การประกาศใช้งบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้าเกือบ 2 ไตรมาสและการแพร่ระบาดโควิด-19 ประกอบกับการปิดเมืองของรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานของภาครัฐและทำให้การเบิกจ่ายงบฯ ล่าช้า แม้ว่าภาพรวมงบฯ รายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท จะเบิกจ่ายแล้วกว่า 83% ภายในเดือนสิงหาคม จะเป็นค่าใช้จ่ายเงินเดือนและค่าจ้าง แต่ส่วนงบฯ ของการลงทุนฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศกลับเบิกจ่ายได้เพียง 48% ของงบประมาณที่ตั้งไว้ นอกจากนี้รัฐฯ ยังได้ออกมาตรการพิเศษสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มูลค่ารวม 1.9 ล้านล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่มีการแบ่งจ่ายไม่ถึงครึ่งหนึ่งเกิดจาก ความล่าช้าของกระบวนการ ตั้งแต่พิจารณาไปจนถึงอนุมัติและเบิกจ่าย โดยเฉพาะงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และเงื่อนไขมาตรการที่ไม่เอื้อให้เกิดการใช้อย่างวงกว้าง เช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งอยู่ภายใต้วงเงิน 4 แสนล้านบาท หลังจากมีมาตรการออกมาแล้ว 3 เดือน มียอดใช้สิทธิ์เพียง 30% ของทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ์
ภาพรวมเม็ดเงินจากภาครัฐ ทั้งภายใต้โครงสร้างงบประมาณปกติและภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังไม่ตกสู่เศรษฐกิจอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้บทบาทของภาครัฐที่ควรเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญและประคองเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตครั้งนี้มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แม้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับการหดตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี
คาด หนี้สาธารณะเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 41.1%
รายงาน World Economic Forum ชี้ว่า เม็ดเงินที่รัฐบาลแต่ละประเทศใช้ในแต่ละครั้งมีขนาดใหญ่กว่าในอดีตเป็นประวัติการณ์ จนหลายคนกล่าวว่าเป็นการยิง “บาซูก้า” ของผู้ดำเนินนโยบาย ซึ่งแน่นอนว่าการออกมาตรการขนาดใหญ่เช่นนี้ ย่อมนำมาสู่ภาระที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ โดยเฉพาะการกู้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อชดเชยการขาดดุลที่เพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมารัฐฯออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือวิกฤตในครั้งนี้ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดการสร้างหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ทั้งจาก การขาดดุลที่วางแผนไว้ตามงบประมาณ หนี้ที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม การขาดดุลเพิ่มเติมจากรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการเลื่อนหรือลดภาษีให้กับประชาชน คาดว่าจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 41.1% ของ GDP สิ้นปีที่แล้วก่อนเกิดปัญหา COVID-19 เป็นประมาณ 58% ในปี 2564 ซึ่งใกล้กับเพดานหนี้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ 60%
รัฐมีแผนจัดลำดับการใช้เงินตามเป้าหมายของนโนบาย
สำหรับข้อเสนอแนะ แม้รัฐบาลจะได้ตั้งงบประมาณในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับค่อนข้างสูง แต่ในความเป็นจริงมาตรการเหล่านี้ยังออกมาน้อยไป โดยเฉพาะส่วนของการลงทุนภาครัฐ ขณะที่มาตรการกระตุ้นผ่านการใช้จ่ายรอบใหม่ที่เพิ่งออกมาอาจจะได้ผลจำกัด เพราะรายได้ของคนจำนวนมากถูกกระทบอย่างหนักอาจจะไม่ได้เป็นการกระตุ้นอุปสงค์ใหม่ นอกจากนี้เชื่อว่ารัฐบาลยังมีความสามารถในการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ 60% แต่รัฐมีแผนในการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดลำดับของการใช้เงินตามเป้าหมายของนโยบายและทิศทางของประเทศที่อาจจะเปลี่ยนไปอย่างจริงจังและชัดเจน