Sunday, June 11, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    คุยกับจิตแพทย์เด็ก ถึงผลร้ายของโซเชียลมีเดีย และการถูกบูลลี่-คุกคามทางเพศของเด็กพิเศษ

    พญ.ชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในฐานะรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ปัญหาเรื่องผลเสียของการใช้โซเชียลมีเดีย ตลอดจนประเด็นการโดนบูลลี่-ล่วงละเมิดทางเพศของเด็กพิเศษ ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง


    โซเชียลมีเดีย ภัยอันตรายที่อาจตามมา หากมีการใช้ในทางที่ผิดของเด็กพิเศษ

    เริ่มจากปัญหาด้านโซเชียลมีเดียที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งด้านหนึ่งได้กลายมาเป็นการเพิ่มช่องทางที่เป็นความเสี่ยงให้กับเด็กพิเศษ หากไม่ได้ใช้งานอย่างระมัดระวังนั้น

    พญ.ชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ : เด็กพิเศษ หรือกลุ่มเด็กที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือ บำบัด และฟื้นฟูตามความต้องการของเด็กแต่ละคน ซึ่งพบว่าเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละช่วงเวลาของวันค่อนข้างมาก

    และเด็กพิเศษเกือบทุกคนที่มาพบแพทย์ จะใช้โซเชียลมีเดีย เนื่องจากบางคนเขียนหนังสือไม่คล่อง สื่อสารได้ไม่ดี ต้องอาศัยการเปิดเฟซบุ๊ก และดูคลิป ฟังเพลง ดูการ์ตูน และสื่อต่าง ๆ ในยูทูบที่สามารถเข้าถึงได้

    หรือกรณีตัวเด็กมีปัญหาการเข้าสังคมกับเพื่อนวัยเดียวกัน แต่เมื่ออยู่ในโซเชียลมีเดียจะได้เป็นตัวของตัวเอง เป็นบุคคลเสมือนที่สามารถพูดคุยกับกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือนกัน เช่น กลุ่มเล่นเกม ที่ได้ความสนุก ตื่นเต้น รู้สึกเป็นผู้ชนะ และมีการยอมรับ ขณะที่ในชีวิตจริงไม่มีสิ่งเหล่านี้

    ซึ่งจริง ๆ แล้วโซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยให้เด็กพิเศษรู้สึกมีตัวตน เป็นพื้นที่ผ่อนคลายที่สามารถยืนอยู่ได้อย่างที่อยากจะเป็น แต่บางครั้งก็มีสิ่งที่เป็นอันตรายแฝงเข้ามา อย่างเช่น การซื้อขายสินค้า หรือการชักจูงไปทำในสิ่งที่นอกเหนือสายตาผู้ใหญ่

    อย่างส่วนหนึ่งที่เป็นอันตรายแก่เด็กอย่างมาก คือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด หรือการถูกชักจูงออกไปเจอกันข้างนอก หรือแม้แต่การพูดคุยในเรื่องที่ส่อทางเพศ ซึ่งหากเป็นเด็กปกติจะสามารถรู้เท่าทันได้ แต่เด็กพิเศษจะถูกชักจูงได้ง่าย

    เนื่องจากสติปัญญาที่ไม่สามารถคิดแก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือตัวเองได้ ที่สำคัญเด็กพิเศษบางคนเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก็มีความต้องการทางเพศ ทำให้ถูกชักจูงไปในเรื่องทางเพศได้ง่ายเช่นกัน

    มสช. ผลิตสื่อมัลติมีเดีย สร้างการรับรู้ถึงรูปแบบภัยอันตรายทางเพศที่มากับสื่อออนไลน์

    พญ.ชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ : ด้วยเหตุนี้ สถาบันราชานุกูล และ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จึงจับมือเดินหน้าโครงการผลิตสื่อมัลติมีเดียผ่านคลิปวิดีโอ “โลกละเมิดออนไลน์กับเด็กพิเศษ ตอนที่ 1-3” ซึ่งเผยแพร่ทางยูทูบ Rajanukul Channel

    หวังใช้สร้างการรับรู้ถึงรูปแบบภัยอันตรายทางเพศที่มากับสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กพิเศษที่สามารถดูแลตนเองได้ เพื่อช่วยให้เข้าใจความซับซ้อนของสื่อ และเกิดการรู้จักระมัดระวังตัวเอง โดยเน้นย้ำในสิ่งที่เด็กต้องฝึกทำคือการปิดบทสนทนาที่ล่อแหลม ทักษะการปฏิเสธ และการรีบบอกผู้ใหญ่

    ส่วนกลุ่มเด็กที่สื่อสารยังไม่ได้ หรือมีปัญหาเรื่องความเข้าใจนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ต้องมีบทบาทในการที่จะป้องกัน และช่วยเหลือเด็ก โดยต้องมีความตระหนักรู้ถึงภัยที่อาจจะตามมาจากการใช้สื่ออนไลน์

    มีความกระตือรือร้นสอดส่องการใช้มือถือ และสื่อต่าง ๆ ของเด็ก หากพบที่ไม่เหมาะสมให้ทำการบล็อก และคัดกรองเว็บไซต์รวมถึงช่องยูทูบ เป็นต้น

    การถูกล่วงละเมิดทางเพศของเด็กพิเศษ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโซเชียลมีเดีย

    พญ.ชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ : อย่างไรก็ตาม การถูกล่วงละเมิดทางเพศของเด็กพิเศษ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังมีความเสี่ยงจากคนใกล้ชิด ทั้งคนในบ้าน แถวบ้าน หรือในชุมชนที่คิดว่าไว้ใจได้อีกด้วย

    โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนใกล้ชิดควบคุมตัวเองได้น้อยลง ทั้งเมื่อคนใกล้ชิดเจอเด็กพิเศษที่อยู่ในบ้าน และไม่ได้ระวังตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าต้องระวัง

    บ้านที่ควรจะเป็นสถานที่ปลอดภัย จึงกลายเป็นพื้นที่ล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งมีเคสแบบนี้ไม่น้อยทีเดียว จึงอยากให้พ่อแม่ป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยการให้ทุกอย่างอยู่ในสายตา สอดส่องดูแลลูกให้มากขึ้น ทั้งการใช้สื่อ และดำเนินชีวิตประจำวัน

    เด็กพิเศษยังต้องเผชิญการถูกบูลลี่ ทั้งในโลกความจริงและในโลกเสมือน

    พญ.ชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ : นอกจากนี้ เด็กพิเศษยังต้องเผชิญกับการถูกบูลลี่ ทั้งในโลกความจริง และในโลกเสมือนอย่างโซเซียลมีเดียด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ จนสามารถดูแลตัวเอง และใช้ชีวิตประจำวันปกติ มีหน้าตาปกติ ทำให้คนภายนอกมองไม่ออกว่าเป็นเด็กพิเศษ

    ดังนั้นเมื่อเด็กโวยวาย หรือมีพฤติกรรมแปลกออกไปจากการแปลความหมายของคนอื่น หรือสถานการณ์ที่ซับซ้อนไม่ออก มักจะมีคนถ่ายคลิปวิดีโอแล้วนำไปลงในโซเชียลมีเดีย จนเกิดการแชร์ในวงกว้าง

    และเสนอภาพดังกล่าวซ้ำ ๆ จนเกิดกระแสดราม่า ในขณะที่เด็กพิเศษในฐานะผู้เสียหายไม่สามารถปกป้องตัวเองได้เลย

    เด็กพิเศษ 1 ใน 10 ต้องเจอกับปัญหาด้านการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

    พญ.ชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ : ฝากแง่คิดเพิ่มให้กับพ่อแม่ และผู้ปกครองของเด็กพิเศษว่า สิ่งที่จะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้ คือการเตรียมใจเขาให้เข้าใจว่าเก่งแล้วที่เข้าสังคมได้ แต่ยังมีความซับซ้อนของสังคมที่ต้องระวัง ค่อย ๆ เรียนรู้ หากไม่แน่ใจอย่าเพิ่งตัดสิน หาคนที่ไว้ใจคุยด้วย และทำให้เข้าใจว่าเวลาเจอกับสถานการณ์อะไร ก็ยังมีคนให้คำปรึกษาอยู่เสมอ

    เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ทั้งหมด และพบว่าเด็กพิเศษยังถูกล่วงละเมิดทางเพศอยู่มากโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะว่าเด็กบอกไม่ได้ สื่อสารยาก ซึ่งหากประเมินจะพบว่าใน 10 คน จะมี 1 คน ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

    ส่วนกรณีกลั่นแกล้ง และถูกบูลลี่ พบว่าเคยโดนกันทุกคน แบบ 100% ซึ่งหากพบเห็นเด็กพิเศษถูกกระทำ เราสามารถแจ้งที่ศูนย์ประชาบดี สายด่วน 24 ชั่วโมง โทร.1300 โดยจะมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยามาช่วยดูแล หรือมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี สายด่วน โทร.1134 และมูลนิธิสายเด็ก สายด่วน โทร.1387 เป็นต้น

    ปัญหาเรื่องเยาวชนกับสื่อออนไลน์ ยิ่งทวีความร้ายแรง เมื่อเป็นเด็กพิเศษ

    นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) : ปกติปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนกับสื่อออนไลน์ นับว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่อยู่แล้ว และยังขาดกลไกในการแก้ไข พอยิ่งเป็นกรณีเด็กพิเศษกับภัยจากสื่อออนไลน์ ยิ่งพบว่ามีความเปราะบางเป็นทวีคูณ

    ด้วยสติปัญญา และลักษณะทางกายภาพที่บกพร่อง ไม่สามารถจัดการอะไรเทียบเท่ากับเด็กปกติได้ ทำให้จุดนี้เป็นสิ่งที่ มสช.มองเห็น และอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

    ปัญอย่างถึงของการที่เด็กพิเศษถูกกระทำ คือการที่พ่อแม่ของเด็กรับรู้ตอนสายไปแล้ว

    นายพงศ์ธร จันทรัศมี : ทุกวันนี้เราจะพบว่าเด็กพิเศษถูกละเลยการกระทำเยอะมาก ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลกระทบทาง จิตใจของเด็กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้ง คุกคาม การล่วงละเมิดทางเพศผ่านช่องทางออนไลน์

    ทั้งพ่อแม่เองบางครั้งก็ยังไม่รู้ว่าลูกถูกทำร้าย หรือถ้ารู้ส่วนมากก็เป็นตอนปลายเหตุแล้ว อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีองค์กรใดเข้ามาดูแลทั้งระบบ

    มสช.จึงพยายามคลี่คลายปัญหา และวางแนวทางการแก้ไขปัญหาของเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ แต่ละปัญหาเฉพาะปัญหาอย่างเร่งด่วน ว่าทางออกนั้นควรเป็นอย่างไร และใครควรเป็นเจ้าภาพ และเบื้องต้นได้ลงไปประสานกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือแก้ไขอย่างทันท่วงที และจะวางแผนแนวทางการช่วยเหลือในระยะยาวร่วมกันอีกครั้ง