ช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง 18 – 22 พ.ย. นี้ กระทรวงคมนาคม คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนเดินทางท่องเที่ยว หรือกลับภูมิลำเนาด้วยขนส่งสาธารณะ กว่า 10.3 ล้านคน
คาดฯ หยุดยาว กทม. จะมีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะถึง 6.38%
กระทรวงคมนาคม เตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง 5 วัน ระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤศจิกายน 2563 เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว และเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยคาดการณ์ว่ามีปริมาณประชาชนที่มาใช้บริการขนส่งสาธารณะทั่วประเทศตลอด 5 วัน รวม 10.3 ล้านคน
สำหรับการเดินทางในกรุงเทพฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6.38% หรือ 8.2 ล้านคน แบ่งเป็น รถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 4.34 ล้านคน รถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มี 1.44 ล้านคน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ มี 1.84 แสนคน รถไฟฟ้าบีทีเอส 2.14 ล้านคน เรือด่วน,เจ้าพระยา,เรือคลองแสนแสบ 7.35 หมื่นคน
ส่วนการเดินทางระหว่างจังหวัด คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 6.22% หรือ 2.1 ล้านคน แบ่งเป็น รถโดยสาร บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 6.34 แสนคน รถไฟระหว่างเมือง 2.50 แสนคน เรือภูมิภาค 6.90 แสนคน และท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบริษัท ท่าอกาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 5.09 แสนคน
ผนึกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมอำนวยความสะดวกประชาชนในช่วงวันหยุดยาว
โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในช่วงวัดหยุดยาว ดังนี้
1. กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้หยุดงานก่อสร้าง และคืนผิวจราจรให้มากที่สุด
2. ทล. ประสานกองบังคับการตำรวจทางหลวง ประชาสัมพันธ์แจ้งระยะจุดพักรถล่วงหน้า ให้รถยนต์ที่ไม่ใช้จุดพักรถ (Rest Area) ใช้ช่องทางด้านขวา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดเป็นคอขวดบริเวณดังกล่าว
3. ทล. และ กทพ. ให้เปิดช่องเก็บเงินทุกช่อง และติดป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์ประชาชนให้ชัดเจน 4) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประสานกระทรวงมหาดไทย จัดกำลังพลอำนวยความสะดวกประชาชนบริเวณจุดตัดทางรถไฟ หรือทางลักผ่าน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและอำนวยความสะดวกประชาชนที่ไม่ชำนาญเส้นทางในช่วงเทศกาลหรือตามความเหมาะสมของพื้นที่
5. กำหนดราคาค่าโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภทให้เป็นมาตรฐาน
พร้อมมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5
สำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ส่วนของการคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพฯ แลปริมณฑล ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่
1. ช่วงสถานการณ์วิกฤตในเดือนธันวาคม 2563 – เมษายน 2564 อาทิ การปล่อยละอองน้ำดักฝุ่น โดยขอให้ทุกหน่วยงานที่กำกับดูแลเข้มงวดผู้รับเหมาฉีดน้ำ และรักษาความสะอาด
2. มาตรการระยะสั้น ในปี 2563 – 2564 บำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสภาพรถของหน่วยงานทุกเดือน
3. มาตรการระยะกลาง ในปี 2565 – 2569 เปลี่ยนเครื่องยนต์รถของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เป็นพลังงานสะอาด
4. มาตรการระยะยาว ในปี 2570 – 2575 เปลี่ยนเครื่องยนต์รถโดยสารสาธารณะเป็นพลังงานสะอาด หรือ EV ทั้งหมด
โดยที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการ แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เช่น บำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสภาพรถของหน่วยงานทุกเดือน หรือเป็นประจำ ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันของรถ เรือ และรถไฟสาธารณะ แก้ปัญหาการจราจรติดขัด ลดปริมาณฝุ่นละออง และแต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ของภาคคมนาคม