Wednesday, December 7, 2022
More

    บุหรี่ไฟฟ้า ทางตายใหม่ของผู้บริโภค

    บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร
    บุหรี่ไฟฟ้าหรือ E-Cigarettes เป็นอุปกรณ์รูปแบบใหม่ที่จะส่งผ่านสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายในรูปแบบละอองฝอยโดยไม่ต้องมีการเผาไหม้หรือการลุกไหม้  ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดใจและทันสมัยคล้ายซิการ์ปรุงรสชาติต่างๆ เช่น รสเชอร์รี่ ช็อกโกแลต วานิลลา โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 พบว่าใน 2-3 ปีมานี้ วัยรุ่นของสหรัฐฯ มีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และใช้อย่างต่อเนื่องในระยะ 30 วัน

    ผู้สูบบางคนคิดว่า ถ้าใช้น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคติน 0% แต่จริงๆ แล้วยังมีสารเคมีอื่นอยู่ด้วย ซึ่งสารเคมีนี้อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งหากบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีนิโคตินคนก็จะไม่สูบ แต่ที่สูบก็เพราะว่าติดนิโคติน ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม


    สีสันล่อตารสชาติล่อใจ
    ผลการวิจัยพบว่าเหตุผลหลักที่เยาวชนสนใจบุหรี่ไฟฟ้า คือ ความอยากรู้อยากเห็นชอบรสชาติและเข้าใจว่าละอองฝอยปลอดภัย เมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ อีกทั้งอุตสาหกรรมยาสูบได้ใช้เทคนิคที่ล่อตาล่อใจ รวมถึงการสร้างค่านิยมวัยรุ่นแบบใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้วการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษต่างๆ เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปกติ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสารนิโคตินหากเข้าในกระแสเลือดของแม่ที่สูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์ ก็สามารถผ่านรกมาส่งผลต่อทารกในครรภ์ซึ่งมีผลกระทบต่อทารกมากมายรวมไปจนถึงการเสียชีวิตกะทันหัน

    นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสมองและระบบประสาทด้านการได้ยินน้ำหนักที่อาจทำให้ทารกตัวเล็กกว่าปกติ

    ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ระบุอีกว่า ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดเรื่องการได้รับสารนิโคตินในวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะทำให้วัยรุ่นเกิดการเสพติดได้อย่างง่ายดาย และส่งผลทำลายสมองส่วนคิดชั้นสูงของวัยรุ่น และสารต่างๆ ที่รับเข้าไปโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจซึ่งองค์การอาหารและยาระบุว่า สารที่ก่อให้เกิดละอองฝอยจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารที่ใช้ในอาหาร เพื่อรสชาติ สีสัน ทั้งในการผลิตยาหรือเวชภัณฑ์เครื่องสำอาง หากสัมผัสในระยะสั้นจะระคายเคืองระบบทางเดินหายใจและสายตา หากสัมผัสในระยะยาวจะทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด เป็นต้น

    กฎหมายไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า
    จากผลสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี  ครั้งล่าสุดในปี 2558 สำรวจพบว่าเยาวชนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 1.9 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

    ด้วยเหตุนี้รัฐบาลปัจจุบันจึงมีนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2557 ซึ่งหากมีผู้ฝ่าฝืนนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้นรวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย

    นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฉบับที่ 9/2558 ห้ามขายและห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และตัวยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์  2558 กรณีพบผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ขายหรือให้บริการเป็นผู้ผลิตผู้สั่งนำเข้ามาขายต้องรับโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

    อีกทั้งในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบครั้งที่ 7 (COP7) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-12 พฤศจิกายน 2559 ​ณ ประเทศอินเดีย มีมติร่วมกันเรียกร้องให้ประเทศภาคี 180 ประเทศ ให้ความสำคัญและดำเนินการออกกฎเกณฑ์มาตรการเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยเร็ว

    อย่างไรก็ตามสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเรื่องของการควบคุมยาสูบ เราต้องคิดถึงผลที่เกิดจากการเสพนิโคติน ไม่ว่าจากการสูบบุหรี่ธรรมดา หรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นประเด็นใหม่มาก

    ทั่วโลกร่วมมือสั่งห้ามจำหน่าย
    ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 55 ประเทศมีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศมี 17 ประเทศที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอีก 26 ประเทศกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบหนึ่ง มี 4 ประเทศที่กำหนดว่าภาชนะบรรจุนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารพิษ

    ทั้งนี้ 1/4 ของประเทศในอาเซียน คือ บรูไน กัมพูชา สิงคโปร์ และไทยได้ห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว

    แต่องค์การอนามัยโลกยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดจากสารพิษและไม่มีข้อพิสูจน์ว่า ปลอดภัยแต่กลับพบว่าควันหรือไอจากบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ เพราะมีสารฟอร์มาลดีไฮด์สูงถึง 15 เท่าของบุหรี่ทั่วไป

    นอกจากนั้น The US Surgeon General ได้เผยแพร่รายงาน เมื่อไม่นานมานี้ว่ามีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอจนสรุปได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนโดยพบงานวิจัยที่แสดงถึงอันตรายดังกล่าวยิ่งกว่านั้นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Southern California พบว่าวัยรุ่นที่ลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะกลายเป็นผู้สูบบุหรี่ประจำในที่สุด

    ใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้จริงหรือไม่?
    จากการสำรวจผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่จริง หลายคนเลิกบุหรี่ได้จริงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว โดยลดจำนวนนิโคตินที่อยู่ในน้ำยาจากปริมาณมากให้น้อยลงเรื่อยๆ ส่วนคนที่เลิกไม่ได้มักจะเป็นเพราะสูบบุหรี่ไฟฟ้าคู่ไปกับบุหรี่จริง  

    ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า วารสารทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือที่สุดของประเทศอังกฤษ “แลนเซต” ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2558 ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่วิจารณ์หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษว่า รีบด่วนยอมรับข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งภายหลังจากการประชุมปฏิบัติการเพียงสองวัน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95 % โดยไม่มีการระบุที่มาที่ไปของคณะผู้เชี่ยวชาญที่สรุปความเห็นดังกล่าว อีกทั้งหนึ่งในผู้รายงานผลการวิจัยที่ชื่อ “ริคาร์โด โพโลซา” เป็นประธานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของบริษัทแอลไอเอเอฟ ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า

    ทั้งนี้ บรรณาธิการวารสารยูโรเพียน แอดดิคชั่นรีเสริช ที่ตีพิมพ์รายงานดังกล่าว ได้ระบุในท้ายบทความด้วยการเตือนผู้อ่านว่า บทความดังกล่าวมีประเด็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

    ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อไปว่า ข้ออ้างที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการของประเทศอังกฤษ และในประเทศอื่นใดอีกเลย รวมทั้งรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2559


    พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์  ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
    มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไป ทั้งที่บุหรี่ไฟฟ้ามีความเข้มข้นนิโคตินสูงกว่า เพราะนิโคตินจะมีผลต่อระบบสมองหัวใจ ความดันและหลอดเลือด ดังนั้นจำเป็นต้องมีกฎหมาย เพื่อให้เกิดการควบคุมการนำเข้าอย่างเข้มงวด

    ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย  ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ
    ปัจจุบันอุตสาหกรรมยาสูบมีแนวโน้มที่จะหันมาพัฒนาตลาดบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น โดยโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณที่ไม่เป็นความจริงว่า ปลอดภัยมากกว่า อยากให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการกวดขันการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตอีกทาง เพราะกำลังเป็นปัญหาอย่างมาก

    รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี  ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล
    บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นสารทดแทนในการเลิกบุหรี่ แต่เป็นจุดตั้งต้นในการเสพสารเสพติดประเภทอื่นๆ ด้วยรูปลักษณ์และองค์ประกอบ ทำให้สร้างความยั่วยวนใจในวัยรุ่นให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นรัฐต้องจัดการกฎหมายเพื่อปกป้องประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน

    ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าคนที่ 1
    “ผมสูบแล้วไม่มีกลิ่นตัว อีกอย่างสามารถเลือกปริมาณนิโคติน เลือกกลิ่น หรือรสชาติได้ ซื้อมาครั้งเดียวดูดได้นาน เมื่อเทียบราคาแล้วถูกกว่าบุหรี่ทั่วไปด้วยซ้ำ”

    ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าคนที่ 2
    “ในมุมมองผม คิดว่ามันปลอดภัยและทำให้เลิกบุหรี่ได้ อย่างคนที่ออฟฟิศผมดูดบุหรี่วันละ 1-2 ซอง แต่พอมาดูดบุหรี่ไฟฟ้าก็เลิกบุหรี่ซองทันที

    Reference :
    http://www.ashthailand.or.th/th/news_page.php?id=1027
    http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/040/7.PDF
    http://www.thailawforum.com/ecigarette/
    http://www.drugfree.org/news-service/e-cigarette-vapor-can-contain-high-concentrations-formaldehyde-study/
    http://time.com/4561490/ecig-e-cigarette-smoking/
    http://time.com/3686557/california-ecigarettes-health-risk/