Friday, December 8, 2023
More

    “เชื้อดื้อยา” ภัยร้ายในร่างกาย

    ประเทศไทยมีสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวนมากมายในแต่ละปีแต่คุณรู้กันมั้ยว่าเชื้อดื้อยาคือสาเหตุที่ทำให้คนไทยตายมากกว่าอุบัติเหตุทางถนนเสียอีกอย่าคิดว่าไม่น่ากลัวเพราะเชื้อดื้อยานี้มีอยู่ในร่างกายของเราทุกคนจะกลายเป็นหนทางสู่ความตายอย่างช้าๆ

    แล้วเชื้อดื้อยามาจากไหน!? เชื่อมั้ยล่ะถ้าจะบอกว่ามาจากพฤติกรรมของเราเองนั่นล่ะ
    ความไม่รู้จนเกิดความเข้าใจผิดกันไปต่างๆ นานาและการใช้ยาไม่ถูกวิธี คือสาเหตุหลักมีอาการป่วยบางอย่างที่สามารถหายเองได้แต่คนส่วนมากไม่รู้ เช่น ไข้หวัด เจ็บคอ ซึ่งเชื้อที่ทำให้เกิดอาการเหล่านั้น คือเชื้อไวรัส การใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาจึงไม่ได้ผล เพราะยากลุ่มนี้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กินเข้าไปก็ย่อมเสียเงินฟรีและไม่ได้ประโยชน์อะไร จะทำให้เชื้อในตัวเราดื้อยาด้วย ฉะนั้นการเป็นไข้หวัด จึงไม่ต้องกินยาปฎิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อเลย


    ส่วนการใช้ยาต้องใช้ให้ถูกวิธีตามแพทย์สั่งคือ ใช้ให้ครบตามปริมาณที่จะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั้นๆ ได้ เช่น หมอสั่งยาให้ทานยาวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน แต่คนไข้ส่วนใหญ่เมื่อรู้สึกว่าอาการดีขึ้นจะหยุดทานยาก่อนครบกำหนด การกินยาไม่ครบถ้วน ไม่ได้รับการรักษาจากเชื้อต้นตอที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว หากยิ่งซื้อยากินเองเรื่อยๆ ก็จะมีผลทำให้เชื้อในร่างกายนั้นดื้อยา

    เราจะเห็นว่าคนไทยใช้ยาปฏิชีวนะเป็นทางเลือกแรกในการรักษาด้วยตัวเอง แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ยาปฏิชีวนะทำงานอย่างไร รู้แค่สะดวก ซื้อง่าย เมื่อเรากินยาปฏิชีวนะเข้าไปยาจะไปทำลายเชื้อต่างๆ ที่อ่อนแอให้ตายไป แต่เชื้อตัวไหนที่ไม่ตาย มันจะกลับมาแข็งแกร่ง พัฒนาตัวเอง จนกลายมาเป็นซูเปอร์บัค (Super Bug) ที่ดื้อต่อยาและหายารักษาได้ยากขึ้นเรียกง่ายๆ ว่าเชื้อดื้อยานั่นเอง และเมื่อเชื้อโรคธรรมดาๆ ในร่างกายเรากลายเป็นเชื้อดื้อยาแล้ว แพทย์ก็ต้องสั่งจ่ายยาตามอาการเป็นตัวยาใหม่ที่แรงขึ้นกว่าเดิม จากที่เราเคยกิน เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกลับไปกินยาซ้ำแบบเดิมได้อีก ซึ่งหากเรายังมีพฤติกรรมการทานยาผิดๆ จะยิ่งทำให้เชื้อดื้อยาขยายตัวและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สุดท้ายแล้วตัวเราเองนั่นแหละจะเป็นผู้รับเคราะห์จนอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้

    สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวไว้ว่า ในแต่ละปี คนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด และผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการขนส่ง และยังส่งผลให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาต้องอยู่ในโรงพยาบาลโดยรวมนานขึ้น 3.24 ล้านวัน หรือเฉลี่ยคนละ 24-46 วันและในอีก 30 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าทั่วโลกอาจจะมีคนตายเพราะเชื้อดื้อยาถึงปีละกว่า 10 ล้านคน

    ไหนๆ ก็พูดถึงยาปฏิชีวนะกันแล้ว ขอถือโอกาสนี้พูดถึงยาแก้อักเสบสักหน่อยเพราะคนไทยมักใช้เรียกรวมๆ กันว่ายาปฏิชีวนะคือยาแก้อักเสบซึ่งเป็นการเข้าใจผิดเพราะแท้จริงแล้วยาปฏิชีวนะมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอยู่ในกลุ่มเดียวกับยาฆ่าเชื้อยาต้านแบคทีเรียส่วนยาแก้อักเสบจะช่วยลดอาการปวดและบวมเท่านั้น

    ดังนั้นเพื่อหยุดความแข็งแกร่งและการกระจายของเชื้อดื้อยาเราจึงควรหาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคนั้นๆ ก่อนที่จะซื้อยาไปรักษาตัวเอง การจะกินยาแต่ละครั้งให้คำนึงถึงชีวิตให้มาก ถ้าไม่มั่นใจก็ปรึกษาแพทย์และถามย้ำให้ชัดเจนว่า ยาที่เราจะกินมีประโยชน์หรือมีโทษข้างเคียงอย่างไร การคุยกันของแพทย์และคนไข้จะทำให้การรักษาเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากที่สุด


    ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม  หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
    “บางคนแค่เป็นหวัดมาแล้วหมอไม่จ่ายยาฆ่าเชื้อ คุณก็ทำหน้างงๆ หมอก็ต้องมาอธิบายบางคน ที่เข้าใจก็โอเคแต่บางคนก็ยังรบเร้าเซ้าซี้ขอยาหาว่าหมอเลี้ยงไข้บ้างความจริงแล้วมันไม่ใช่เราไม่ได้หวงยาแต่ดูแล้วว่ามันไม่จำเป็นต้องกินกินแล้วไม่ได้ประโยชน์จากยานี้เลยเสียเงินฟรีเสี่ยงต่อการแพ้ยา ดื้อยาจะเสี่ยงกันทำไมแต่การอธิบายแบบนี้ก็ต้องเวลาเยอะ แต่ทั้งหมดนี้คือเรื่องฝั่งคนไข้นะ ทางฝั่งของหมอก็มีเหมือนกัน คนไข้บางคนไม่มีเชื้อแบคทีเรียอะไรเลยก็ไปบีบบังคับให้คนไข้เขากินยาซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดทั้งสองฝั่ง

    สังคมไทยต้องตื่นตัวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหมอ เภสัช พยาบาล และคนไข้ต้องตื่นตัว และรู้ว่าการจะใช้ยานั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร มีความจำเป็นของการใช้อย่างไร เราก็รู้ว่ายานั้นมีทั้งโทษและประโยชน์ ถ้าใช้ยาเป็นประโยชน์ก็จะมากกว่าโทษ แต่ถ้าใช้โดยไม่จำเป็น มันก็จะมีโทษมากกว่าประโยชน์ เราควรจะให้ความรู้ สื่อก็ต้องช่วยให้ความรู้กับประชาชนด้วยครับ”

    ภญ.ดลฤทัย บรรเจิดจินต์ เภสัชกร
    “ตามจรรยาบรรณวิชาชีพ เราต้องจ่ายยาตามขนาด ตามเวลาที่เหมาะสม ถ้าเป็นเภสัชกรกับแพทย์ที่ขายยาเอง จริงๆ จะไม่ค่อยมีปัญหาหรอก แต่มีปัญหาตรงที่ร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกร พอคนเรียกซื้อเท่านี้ก็ขายเท่านี้ นี่เป็นประเด็นที่น่ากลัว ยิ่งปัจจุบัน คนซื้อบอกเจ็บคอแล้วขอเรียกซื้อยาอะไรก็ขายให้ แล้วกิน 1-2 เม็ดก็หยุดกินแล้วมันเป็นวัฒนธรรมที่ผิดมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้วบางคนที่เขาหาเช้ากินค่ำจริงๆเภสัชกรจะต้องทำหน้าที่ตกลงกับคนซื้อว่าถ้าคุณอยากได้ 5 เม็ดในวันถัดไปขอให้คุณมาซื้อต่อเพื่อให้มันครบขนาดจะดีกว่าเพราะบางคนเขาไม่มีเงินจริงๆ มันก็มีผลกระทบ นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไข้เกิดภาวะดื้อยาตามมา”

    วาสนา อินพลับ พนักงานธนาคาร อายุ 27 ปี
    “เวลาที่เป็นหวัดจะซื้อยากินเองค่ะ เป็นยาตัวเดิมที่กินตลอด ยังไม่เคยเปลี่ยน และไม่เคยเป็นหนักจนถึงขนาดต้องไปหาหมอเพราะยาที่กินอยู่ก็ทำให้หวัดหายได้ที่ซื้อกินเองเพราะสะดวกประหยัดเวลา  ซึ่งเราก็คิดว่าอาการไม่ได้หนักมาก ไม่ต้องไปเสียเวลานั่งรอหมอนานๆ แล้วก็มาจากคนรอบข้างแนะนำด้วย ถามจากร้านขายยาบ้างก็ยังไม่เห็นว่ามีผลข้างเคียงอะไรนะคะ แต่ถ้าเกิดเป็นโรคอะไรที่หนักมากๆ ก็คงไปหาหมออยู่แล้ว”