ใครจะเชื่อว่าจากธุรกิจที่ตั้งต้นเมื่อปี พ.ศ.2551 จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการทำเงินในอพาร์ทเม้นต์ 3 ห้องนอนของผู้ก่อตั้งแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ในเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยการนำอพาร์ทเม้นต์ที่พวกเขามีอยู่มารับนักท่องเที่ยว สิ่งที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้ ทางผู้ก่อตั้ง Airbnb มองว่า “เราสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่เรามีอยู่แล้ว เปลี่ยนเป็นรายได้ให้เรา” จากแนวคิดดังกล่าว ได้ถูกพัฒนาไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพโมเดลใหม่ นั่นก็คือ “การแบ่งปันบ้าน” รวมไปถึง “แบ่งบันสิ่งที่น่าสนใจ” ให้กับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ทั่วโลก
จากวันนั้นถึงวันนี้ Airbnb มีห้องพักที่ผู้คนนำมาปล่อยเช่าผ่านแพลตฟอร์ม Home Sharing หรือ เรียกกันว่า “โฮสต์ (Host)” มากกว่า 3 ล้านแห่งในกว่า 6.5 หมื่นเมืองใน 191 ประเทศ เฉพาะที่พักในไทย มี 4.32 หมื่นแห่งทั่งประเทศ รวมกันแล้วมีห้องพักมากกว่าโรงแรมที่มีเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง “แมริออท” ที่มีห้องพักในเครือข่ายรวม 1.5 ล้านห้องทั่วโลกเสียอีก ซึ่งห้องพักที่นำมาปล่อยเช่าผ่าน Airbnb ไม่ได้มีเพียงห้องพักในอพาร์ทเม้นท์ หรือคอนโดมิเนียม หรือ เกสต์เฮ้าส์ ของโฮสต์เท่านั้น แต่ไฮไลต์อยู่ที่ห้องพักในรูปแบบปราสาทเกือบ 3 พันแห่ง และบ้านต้นไม้เกือบ 1.4 พันแห่งนั่นเอง โดย Airbnb จะมีรายได้จาก 2 ทาง คือ การคิดค่าธรรมเนียม 3% จากเจ้าของที่พัก เมื่อผู้เข้าพักจ่ายเงินในการเข้าพักและอีกทางคือการคิดค่าบริการจากผู้เข้าพักอีกส่วนหนึ่ง
การเติบโตธุรกิจนี้สะท้อนได้จากจำนวนยอดผู้เข้าพักแล้วกว่า 160 ล้านคนแล้ว ในจำนวนนี้มีคนไทยใช้บริการแล้วราว 3.6 แสนคน โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยม 10 ประเทศที่นักเดินทางเข้าไปสูงสุด คือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมนี โปรตุเกส ซึ่งกระแสการเติบโตของผู้ใช้บริการที่พักผ่าน Airbnb ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่า 150% ต่อปี จะเห็นชัดเจนว่ามีการตอบรับที่ดีในเมืองที่มีค่าใช้จ่ายเรื่องการเข้าพักในโรงแรมที่มีเรตราคาห้องพักสูง ยกตัวอย่าง ราคาห้องพักประเภท 1 ห้องนอน Airbnb ในกรุงลอนดอน เฉลี่ยอยู่ที่ 50-100 ปอนด์ต่อคืน ขณะที่ราคาห้องพักในโรงแรมจะอยู่ที่ราว 145 ปอนด์ต่อคืน เป็นต้น
แน่นอนว่าเรื่องนี้ร้อนไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมระดับกลางและระดับล่างของหลายประเทศ ที่ถูกชิงส่วนแบ่งตลาดไป ขณะเดียวกันเพื่อนบ้านของที่พักที่มีการปล่อยเช่า ก็คงไม่แฮปปี้นักที่จะมีคนหลากหลายสัญชาติไม่ซ้ำหน้า มาเข้าพักในย่านที่คุณพักอยู่ ความปลอดภัยล่ะ แล้วไหนบางคนก็มาทำเสียงดัง สร้างความรำคาญให้อีกต่างหาก ทำให้เราจะเห็นมีหลายประเทศ เริ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเริ่มมีการกำหนดกฏเกณฑ์เพื่อควบคุมห้องพักประเภทนี้มากขึ้น เช่น ในญี่ปุ่น กำหนดระยะเวลาเข้าพัก Airbnb ต้องมากกว่า 7 คืน เพื่อไม่ให้กระทบต่อธุรกิจโรงแรมที่ขายห้องพักแบบรายวัน ในกรุงนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก กำหนดให้เจ้าของห้องพักที่ปล่อยเช่าผ่าน Airbnb สามารถลงทะเบียนปล่อยเช่าห้องพักได้คนละ 1 ห้อง เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทย แม้การดำเนินธุรกิจของ Airbnb จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่อาจมีบ้างที่รีสอร์ทระดับเอสเอ็มอีในต่างจังหวัด อาจจะถูกชิงส่วนแบ่งตลาดไปบ้าง แต่ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากราคาโรงแรมในประเทศไทยมีราคาถูกในทุกเซ็กเมนต์อยู่แล้ว แม้แต่โรงแรม 5 ดาวก็ยังถูกกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น โรงแรมในสิงคโปร์ ระดับ 5 ดาว มีค่าห้องพักเฉลี่ย 204 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคืนหรือราว 7,303 บาทต่อคืน แต่โรงแรม 5 ดาวในกรุงเทพ ค่าห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 94 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคืนหรือราว 3,365 บาทต่อคืน โรงแรม 5 ดาวในภูเก็ต มีอัตราค่าห้องพักเฉลี่ย 103 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคืน หรือราว 3,687 ต่อคืน ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะพักในโรงแรมที่มีบริการครบถ้วน มากกว่าการเข้าพักในคอนโดมิเนียมหรือบ้าน ที่แม้มีเพียง 1 ห้อง หรือ 1 หลัง ก็นำไปขายผ่าน Airbnb ซึ่งอาจจะต่างจากประเทศอื่นๆ ที่โรงแรมมีราคาสูงมาก ทำให้ธุรกิจของ Airbnb มีการขยายตัวอย่างมาก ทั้งในญี่ปุ่น หรือประเทศต่างๆ ในยุโรป
“เราเข้าใจว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจของ Airbnb ก็เป็นธุรกิจเกิดใหม่ เช่นเดียวกับอูเบอร์ (Uber) จึงไม่มีกฎหมายเฉพาะมารองรับ และเราไม่ได้ต้องการกีดกันการดำเนินธุรกิจของ Airbnb แต่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมการดำเนินธุรกิจในไทยให้รัดกุมมากขึ้น เพราะเราวิตกมาก คือ เรื่องความปลอดภัยของลูกค้าและประเทศเป็นสำคัญ เพราะรัฐบาลจะไม่รู้เลยว่ามีนักท่องเที่ยวรายใดเข้ามาพัก หรือถ้ามาแล้วมีปัญหาเกิดขึ้นจะตามได้อย่างไร จะกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ ต่างจากคนที่เข้าพักโรงแรมที่จะต้องมีการแจ้งรายชื่อลูกค้าให้ภาครัฐรับทราบ และสถานประกอบการก็มีการลงทะเบียนถูกต้อง ทราบที่มาที่ไปในดำเนินงานชัดเจน” นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าว
อย่างไรก็ตามในไทย แม้ขณะนี้ Airbnb ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจโรงแรมไทยมากนัก แต่ในอนาคตอันใกล้ ก็คงไม่มีใครกล้าบอกว่าจะไม่กระทบ เมื่อขณะนี้ Airbnb เริ่มเข้ามาบุกตลาดในไทยมากขึ้น เพื่อขยายจำนวนที่พักปล่อยเช่าในไทยเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ เฉพาะในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการที่พักในไทยผ่าน Airbnb ถึง 7.74 แสนคน รวมถึงไม่ได้ขยายเฉพาะแค่ห้องพักเท่านั้น แต่เริ่มมองไปถึงการสร้างบริการใหม่ที่เรียกว่า “ทริปส์” ที่จะเปิดโอกาสให้ที่สามารถให้บริการประสบการณ์ท่องเที่ยวอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ มาขายผ่าน Airbnb ได้ เช่น การสอนมวยไทย สอนแกะสลักผลไม้ เป็นต้น รวมถึงโปรโมทให้คนไทยรู้จัก Airbnb มากขึ้น เพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการคนไทยเพิ่มจากในปีที่ผ่านมา ที่มีคนไทยใช้บริการ Airbnb เพิ่มขึ้นถึง 149%
นอกจากนี้ยังข้อกังวลเรื่องการเสียภาษีอีกล่ะ เอาง่ายๆ อย่างประเทศไทย รัฐบาลก็ไม่ได้ภาษี จากการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้น แน่นอน เพราะที่พักที่นำมาปล่อยเช่าผ่าน Airbnb ชัดเจนว่ามีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น เนื่องจากบ้านเรายังไม่มีกฏหมายครอบคลุมการดำเนินธุรกิจในโมเดลแบบ Airbnb การนำคอนโดมีเนียม หรือ เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์มาปล่อยเช่า ก็ถือว่าเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.อาคารชุด ในแง่การใช้งานผิดประเภท จากการนำที่อยู่อาศัยไปทำธุรกิจเท่านั้น ทั้งจะไปเก็บภาษีจากคนที่นำบ้านมาปล่อยเช่าก็ไม่ได้ เพราะที่พักเหล่านี้ ก็ไม่เข้าข่ายที่จะดำเนินธุรกิจโรงแรมได้
ตาม พ.ร.บ.โรงแรมไทย พ.ศ.2547 นี่ยกตัวอย่างไทยประเทศเดียวเท่านั้น แต่จริงแล้ว ตอนนี้ Airbnb ก็ยอมรับว่าเรื่องของภาษีนั้นอยู่ระหว่างทำงานร่วมกับรัฐบาลกว่า 200 เมืองทั่วโลก เพื่อเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ โดยในมุมมองของผู้ก่อตั้งแอร์บีเอ็นบีเชื่อในกฎที่เป็นธรรมและสมดุล และจะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับรัฐบาลต่างๆ ในเรื่องนี้
“ทุกครั้งที่มีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นมา หลายสิ่งที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันอยู่ในปัจจุบันนี้ อย่างการแชร์เพลงออนไลน์ เอทีเอ็ม หรือแม้แต่ตอนมีรถยนต์ใหม่ๆ ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคจำนวนมาก ผู้กำหนดนโยบายจะมีความเห็นต่างๆ นานา มีความกังวล รัฐบาลไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อรัฐบาลเข้าใจธรรมชาติของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเหล่านี้ พวกเขาก็จะออกกฎมาได้อย่างเหมาะสมที่ไม่ขัดต่อความสะดวกในการใช้งานของผู้คน ส่วนข้อวิตกเรื่องของความปลอดภัยนั้น เขาย้ำว่า อันที่จริงแล้วเรามีข้อมูลของแขกและโฮสต์ของเราเป็นจำนวนมาก เรามีข้อมูลการชำระเงินทั้งหมด เรารู้ว่าพวกเขามาจากไหน ขณะที่โฮสต์เราก็รู้หมายเลขบัญชีเพราะเราต้องจ่ายเงินให้พวกเขา เรามีระบบการตรวจสอบการเข้าพักของแขกและโฮสต์ทุกคน นอกจากนี้ เนื่องจากวิธีการที่เราติดตามมาร์เก็ตเพลสของเรา ถ้ามีใครมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เราจะลบเขาออกจากแพลตฟอร์มของเราทันที ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเกิดขึ้นน้อยมาก ไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ” นี่เป็นมุมของนายโจ เกบเบีย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ Airbnb ที่เมื่อกฎระเบียบตามไม่ทันกับการพัฒนาของเทคโนโลยี ก็เชื่อว่าเวลาและการปรับตัวจะทำให้เกิดสมดุลในเรื่องเหล่านี้ได้นั่นเอง
รจนา ติระยะพานิชยกุล เจ้าของ Airbnb ย่านอาร์ซีเอ
“ลูกค้าของเรา 80-85% คือคนจีน เป็นกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน มาเป็นคู่และกลุ่มเพื่อน แต่ข้อเสียเปรียบของเราคือ โลเคชั่นของเราอยู่ไม่ติดรถไฟฟ้า อาจไม่สะดวกในการเดินทางเท่าไหร่ เราเลยต้องดึงดูดด้วยการตกแต่งให้สวยงาม การเข้ามาทำธุรกิจ Airbnb ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่มีห้องพักแล้วเอามาลงเว็บไซต์ได้เลย แต่เราต้องทำให้ดีเพื่อมียอดวิวที่ดี เพราะลูกค้ามักจะเลือกห้องพักจากการรีวิว อีกอย่างคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก กลัวว่าจะไม่ได้รับความสะดวกสบายและมาตรฐานเท่ากับโรงแรมทั่วๆ ไป”
ลิตา ทองวุฒิศักดิ์ ผู้ใช้บริการ Airbnb
“Airbnb ค่อนข้างหลากหลาย แตกต่างจากโรงแรมทั้งการตกแต่งและการบริการ ถ้าเราไปเที่ยวกับเพื่อน จะเลือก Airbnb มันเป็นเรื่องท้าทายนะ เพราะเราไม่รู้ว่าการบริการจะดีจริงแบบที่รีวิวมั้ย อย่างตอนไปญี่ปุ่นเราก็จะเลือกใกล้รถไฟฟ้า เดินทางสะดวก การตกแต่งก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าอันไหนถูกใจเราก็จะเลือกอันนั้น ล่าสุดไปไต้หวัน ประทับใจมาก เหมือนที่รีวิวในเว็บเลย ราคาก็มีหลากหลาย แต่ถ้าไปกับครอบครัวเราจะเลือกโรงแรม เพราะอำนวยความสะดวกกว่า โดยเฉพาะอาหารเช้า อยู่ Airbnb เราต้องหากินเอง”
นิศรา กิตติลัดดาพร ผู้ใช้บริการแอร์บีเอ็นบี
“สิ่งที่แตกต่างจากโรงแรมคือ การพักที่ Airbnb เหมือนอยู่บ้าน อย่างตอนเราไปญี่ปุ่น เราก็เลือกพักแบบบ้าน ก็จะมีให้เลือกหลากหลาย ดูว่างบเท่าไหร่ มากี่คน อีกอย่างเราเป็นชอบการท่องเที่ยวแบบวิถีอยู่แล้ว ชอบเรียนรู้วัฒนธรรมคนท้องถิ่นนั้นๆ ได้สื่อสารกับโฮสต์ เขาจะคอยดูแลเราต่างๆ ส่วนการจองที่พัก Airbnb ก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรเดรดิต คือเวลาไปต่างประเทศส่วนใหญ่การจองต่างๆ ต้องใช้บัตรเครดิต แต่ที่นี่เราจองแล้วไปจ่ายที่นู่นเลยก็ได้”
[English]
Airbnb – Illegal Popular Choice
Letting out the rooms that people have in their home is the concept of Airbnb. This has turned into a popular choice for both home owners and travellers all over the world. Starting from the three-bedroom apartment of the founder in 2008, the home-sharing business now has more than 3 million rooms in more than 65 thousand cities in 191 countries on their website, with more than 43 thousand rooms in Thailand. The rapid growth of Airbnb has affected the hotel business in many countries, especially where hotel-room prices are high. Although the hotel business in Thailand has not been affected yet, it is inevitable since Airbnb is expanding its market here. Since there is no law to accommodate the home-sharing business in Thailand, letting out a residential property as a hotel facility is misusing it, therefore it is illegal. The government cannot tax the homeowners either since their home cannot be categorised as a hotel, which is required to pay tax. However, Airbnb is dealing with many governments worldwide and working closely with them in solving the tax issue.