รัฐบาลดำเนินนโยบายปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ ในฐานะผู้เสียภาษีอย่างเราจึงจำเป็นต้องทราบข้อมูลและประโยชน์ที่จะได้รับหลังรัฐประกาศปรับภาษีครั้งนี้!
รื้อโครงสร้างภาษี
พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ 180 วัน โดยเป็นการรวมกฎหมายสรรพสามิต 7 ฉบับที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยสรรพสามิต กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต กฎหมายว่าด้วยสุรา กฎหมายว่าด้วยยาสูบ กฎหมายว่าด้วยไพ่ กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต และกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรเงินภาษีสุรา รวมเป็น พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่ทันสมัยและเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับปัจจุบัน เริ่มต้นใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 นับจนถึงวันนี้ก็ผ่านมา 33 ปีแล้ว ส่วน พ.ร.บ.สุรา ที่กำหนดวิธีการคำนวณภาษีแอลกอฮอล์ก็ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 หรือผ่านมา 67 ปี โดยไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแต่อย่างใด และครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่กรมสรรพสามิตรื้อโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งหมด โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 16 ก.ย. 2560
ปรับอัตราเพิ่มรายได้รัฐ
ปี 2549 กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ 2.74 แสนล้านบาท แต่ในปี 2560 จัดเก็บได้ 5.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 70-80% โดยในปี 2561 มีเป้าหมายจัดเก็บรายได้ 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น
ส่วนประชาชนต้องจ่ายภาษีมากกว่าเดิมเป็นเงาตามตัว?
ปัญหาหลักของประชาชนบางส่วนคือ ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษีสรรพสามิต ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ดังนั้น ในฐานะประชาชนอย่างเราจะเสียหรือได้ประโยชน์อย่างไร พอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. สินค้ายาสูบได้เปลี่ยนการจัดเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงานมาเป็นจัดเก็บจากราคาขายปลีก โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ราคาบุหรี่บางตัวปรับเพิ่มขึ้น และบางตัวลดลง
2. สินค้าเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หากผสมน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัม และ 10 ต่อ 100 มล. จะเก็บภาษีไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และ 25 ของราคาขายปลีก ตามลำดับ
3. เพิ่มภาษีสุรา เช่น สุรากลั่น จากเดิมมีอัตราภาษีตามปริมาณ 400 บาท ปรับเป็น 1,000 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือเพิ่ม 1.5 เท่า
สุราแช่ ได้แก่ เบียร์ ไวน์ จากเดิมเก็บ 300 และ 2,000 บาท ตามลำดับ ปรับเป็น 3,000 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือเพิ่ม 0.5 เท่า
4. ปรับปรุงเพดานอัตราภาษีให้มีผลบังคับใช้ในอนาคตอย่างน้อย 20 ปีข้างหน้า
5. ปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสมกับปัจจุบัน
ทั้งนี้ กรมสรรพาสามิต ยืนยันว่า ภาระภาษีของผู้ประกอบการจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่รายได้ แต่อยู่ที่การเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ ซึ่งจะทำให้รัฐจัดเก็บได้มากขึ้นในอนาคต
ถ้าฐานภาษีไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ประชาชนก็จะยังไม่ได้รับผลกระทบ ในทางกลับกันเมื่อใดที่ผู้ประกอบการโดนเรียกเก็บภาษีสูงขึ้นมากๆ โอกาสที่จะเพิ่มภาระให้ประชาชนอย่างเราจะสูงตามเช่นกัน
รับมือภายใต้พ.ร.บ.ใหม่
การเปลี่ยนแปลงภาษีครั้งนี้แล้ว ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือผู้ประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ต่อจากนี้อัตราภาษีจะจัดเก็บตามปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ คือถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์มาก จำนวนภาษีที่จัดเก็บก็สูงขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมยาสูบได้ปรับมาเก็บภาษีแบบผสม คือคิดตามมูลค่าและปริมาณ จากเดิมจัดเก็บภาษีตามปริมาณ 3 บาทต่อมวน เพิ่มเป็น 5 บาทต่อมวน ทำให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน เมื่อบุหรี่มีราคาสูง ประชาชนก็จะลดการซื้อ ตอบสนองเป้าหมายของรัฐที่ต้องการลดจำนวนนักสูบด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสินค้าทุกชนิดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ ยังมีราคาจำหน่ายคงเดิม หากพบว่ามีการปรับราคาจำหน่ายสินค้าสูงขึ้นเกินเหตุ สามารถแจ้งสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 และหากมีการจำหน่ายสูงเกินสมควรจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากวันนี้ไม่ถึง 100 วัน ประชาชนทุกคนก็จะต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่ตอนนี้เราก็ยังไม่ทราบว่ากฎหมายลูกอีก 80 ฉบับมีเนื้อหาอย่างไร รวมถึงอัตราภาษีที่เก็บจริง เนื่องจากกฎหมายที่ออกมาเป็นการกำหนดเพดานจัดเก็บที่มีอัตราสูง เพราะบังคับใช้ไปตลอดในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งในเร็ววันนี้เราคงจะได้ทราบกัน แล้ว BLT จะนำมารายงานผู้อ่านอีกครั้งในคราวต่อไป
สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต
“ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการเก็บภาษีในอัตราเก่าและภาษีอัตราใหม่ยืนยันจะไม่มีเหตุการณ์กักตุนสินค้า เนื่องจากภาระภาษีของผู้ประกอบการยังอยู่เท่าเดิม จึงไม่มีประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะกักตุนสินค้า ส่วนการปรับเพิ่มอัตราภาษีในอนาคตเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายจะเป็นผู้ตัดสินใจจะนำมาใช้หรือไม่ ต้องรอรัฐบาลเห็นชอบ”
กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
“ภาคเอกชนทั้งภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ พอใจกับ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ เนื่องจากกรมสรรพสามิตได้ให้โอกาสภาคเอกชนเข้าร่วมร่างกฎหมายตั้งแต่ต้น จนถึงปัจจุบันการออกกฎหมายลูก 20-30 ฉบับ ก็ได้ให้ภาคเอกชนร่วมด้วย เพื่อไม่ให้มีปัญหา ทำให้การดำเนินการของภาคเอกชนเกิดความราบรื่นและต่อเนื่อง”
ธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย
“กังวลประกาศแนบท้ายใน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ที่มีการกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและอัตราภาษีที่สูงขึ้นกว่าเดิม 10-50 เท่า จึงหวังให้ภาครัฐ เปิดโอกาสให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมด้วย ไม่ใช่รัฐกำหนดเอง”
พงศธร อังศุสิงห์ ผู้แทนอุตสาหกรรมยาสูบ
“ผมมองว่ารัฐเลือกนโยบายที่ยืดหยุ่น คือปรับภาษีใหม่เพื่อเพิ่มรายรับ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้คนไทยหันมารักสุขภาพตัวเองมากขึ้นไปด้วย เมื่อคนเลิกบุหรี่ได้ ก็ดีต่อตัวเขาเอง ซึ่งอาจส่งผลต่อรายได้หลักของรัฐ แต่ก็เป็นความต้องการของรัฐอยู่แล้วที่ประชาชนจะมีสุขภาพที่ดี”
วิชัย กัลยาณเมธี ผู้แทนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
“ผมมีเพียงข้อเสนอแนะในเรื่องของภาษีน้ำตาลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในอนาคตเท่านั้น ว่าจะมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนอย่างไร กลุ่มสินค้าอื่นๆ เช่น พืชผักผลไม้ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตจะต้องมีการจัดเก็บภาษีหรือไม่อย่างไร จึงอยากให้มีการประกาศล่วงหน้าเพื่อให้ทางผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อม”