ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นครัวของโลก แต่ผู้บริโภคมักละเลยฉลากที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่บ่งบอกถึงส่วนประกอบที่สำคัญของอาหารและสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งล้วนมีประโยชน์ต่อทั้งตนเองและสังคม
อ่านฉลาก ไม่ยากอย่างที่คิด
อาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต การอ่านฉลากโภชนาการจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะจะทำให้ทราบถึงสารอาหารที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ และช่วยในการตัดสินใจก่อนบริโภค แต่หน้าตาของฉลากโภชนาการที่เต็มไปด้วยปริมาณและชื่อสารอาหารกว่า 15 รายการ อัดแน่นอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ ทำให้ผู้บริโภคหลายคนสับสนจนมองข้ามไป
อันที่จริงฉลากโภชนาการอ่านไม่ยากอย่างที่เข้าใจ โดยขั้นแรกให้ดูคำว่า “หนึ่งหน่วยบริโภค” คือจำนวนที่ควรกินต่อหนึ่งครั้ง ต่อมาคือดูคำว่า “พลังงานทั้งหมด” ซึ่งเป็นจำนวนแคลอรี่ที่จะได้หากกินตามจำนวนหนึ่งหน่วยบริโภค ข้อที่สำคัญคือต้องตรวจดู “จำนวนบริโภค” ให้แน่ใจว่าในบรรจุภัณฑ์นั้น ควรแบ่งกินกี่ครั้ง เนื่องจากคุณค่าทางอาหารและพลังงานที่ฉลากระบุจะคิดตามหนึ่งหน่วยบริโภคเท่านั้น สุดท้ายให้สังเกตคำว่า “ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน” ซึ่งเป็นการระบุว่าสารอาหารในผลิตภัณฑ์นั้นๆ คิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ของจำนวนที่ควรบริโภคต่อวัน เช่น โซเดียม ร้อยละ 37 หมายความว่าในมื้ออื่นๆ จะทานโซเดียมได้อีกไม่เกินร้อยละ 63 ไม่เช่นนั้นอาจต้องเสี่ยงกับภาวะโรคอ้วน จากรายงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2556 พบว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ครองสถิติผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 1 กว่าร้อยละ 75 ของคนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคนี้ คิดเป็น 349,096 คน
ฉลาก อาวุธปกป้องโลก
นอกจากฉลากด้านสุขภาพอย่าง สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นผ่านการพิจารณาว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือที่เหมาะสม และฉลากหวาน มัน เค็ม หรือ ฉลาก GDA (Guideline Daily Amount) ที่แสดงปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม บนหน้าบรรจุภัณฑ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำแล้ว ยังมีฉลากที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคควรรู้จักและทำความเข้าใจอีก
ที่คุ้นตากันดีคือ ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ของกระทรวงพลังงาน ที่ถือเป็นตัวช่วยในการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เนื่องจากฉลากระบุข้อมูลเบื้องต้นของเครื่องใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่ระดับการใช้ไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายต่อปี ไปจนถึงประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นข้อมูลช่วยประกอบการตัดสินใจให้แก่ผู้บริโภคให้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างคุ้มค่า ลดค่าใช้จ่าย และลดภาวะโลกร้อน โดยมีถึง 5 ระดับตั้งแต่ 1-5 โดยเบอร์ 5 เป็นเบอร์ที่ประหยัดไฟฟ้ามากที่สุด
อีกวิธีที่จะช่วยรักษาทรัพยากรก็คือ การใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยดูจากฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-Labeling) ที่คอยบอกข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีฉลากที่น่าสนใจแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก อย่างเครื่องหมาย Q ที่รับรองมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งยังมีฉลาก GMOs ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่ใช้ส่วนผสมจากพืชที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 251 (พ.ศ. 2545) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคก่อนเลือกซื้อ เนื่องจากพืช GMOs มีสารปราบศัตรูพืช ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อแมลงที่มีประโยชน์ชนิดอื่นและพืชตามธรรมชาติในบริเวณนั้น
ส่วนคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกฉลากสืบย้อนกลับสินค้าประมง ช่วยตรวจสอบการเดินทางของอาหารตลอดทั้งวงจร ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต การแปรรูป การขนส่ง จนกระทั่งผลิตภัณฑ์ส่งถึงมือผู้บริโภค เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดิบที่ใช้ว่ามาจากแหล่งใด จับสัตว์น้ำจากแหล่งที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไม่ รวมถึงที่มาของแรงงานในอุตสาหกรรมประมง เพื่อให้ความเป็นธรรม พร้อมป้องกันการค้ามนุษย์ โดยองค์กรไม่แสวงหากำไร กรีนพีซได้ใช้ฉลากนี้เป็นหนึ่งในเกณฑ์จัดอันดับผลิตภัณฑ์ทูน่าที่มีความยั่งยืน เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบนิเวศทางทะเลต้องสูญสิ้นไปด้วยเงื้อมมือของมนุษย์
ในยุคที่ความสะดวกสบายบุกมาเคาะประตูถึงหน้าบ้าน มีสินค้านานาชนิดให้เลือกจับจ่ายใช้สอย คนที่จะทำหน้าที่เป็นฮีโร่ช่วยปกป้องโลกก็คือผู้บริโภคอย่างเราๆ ด้วยการใช้ความรู้มาช่วย หยิบจับฉลากโภชนาการมาเป็นอาวุธ พร้อมฉลาดเลือกบริโภคให้เหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา เพื่อความยั่งยืนของตนเองและโลก
ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
“การกินอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ต้องกินให้สมดุลถึงจะได้ผลดี ในปัจจุบันอาหารหาทานง่ายขึ้น รวมถึงคนมีพฤติกรรมออกกำลังกายน้อยลง ฉลากโภชนาการจะช่วยทำหน้าที่เป็นสื่อให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค เลือกบริโภคให้เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งการให้ความรู้เรื่องการอ่านฉลากเป็นเรื่องที่สำคัญ ควรส่งเสริมตั้งแต่เด็กๆ”
นนทกร ขาวโต ผู้บริโภค
“ปกติอ่านฉลากโภชนาการตลอด โดยมักดูปริมาณแคลอรี่ น้ำตาล และโซเดียม เพื่อเปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่นๆ และเลือกบริโภคอาหารที่มีปริมาณดังกล่าวน้อยกว่า ถ้าเป็นสินค้าอื่นๆ ก็จะหาข้อมูล ดูราคาและความคุ้มค่า ซึ่งการอ่านฉลากทำให้เข้าใจลักษณะของสินค้า การดูแลรักษา เพื่อการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ”
[English]
Product Labels and How Consumers Can Decide Wisely
As more products carry their own labels filled with useful information, it appears that most local consumers still overlook the significance of labels of various products they regularly consume.
It should be pointed out that product labels are not very difficult to understand.
Particularly for food labels, there are a few key terms one needs to familiarize with, including “serving size” which indicates how much should be consumed per time, “servings per container” which confirms how many portions of the content there are in one package, “calories” which is referred to the amount of energy from one serving and “% daily Value” which tells us how much of the daily consumption level of each type of nutrients one serving gives.
This information is highly crucial for the well-being and the health condition of consumers, who can be more informed of what they are taking in and how much more they should consume in a day, especially in Thailand, where a report from the Thai Health Promotion Foundation found that the number-1 cause of illnesses and fatalities in Thailand was such non-communicable diseases as diabetes, which killed 349,096 people in 2013.
In addition to label with nutrition facts, consumers are advised to make use of other types of labels, such as the Thai Food and Drug Administration’s Guideline Daily Amount (GDA) label that lists out the amount of energy, sugar, fat and sodium contained in a package of food, the Label No. 5 of the Ministry of Energy that enable consumers to help conserve energy, and the eco-labelling that aims to promote sustainable use of natural resources.