จากกรณีเนท หรือนาธาน บาร์ทลิ่ง ยูทูบ-เปอร์ชาวอเมริกัน เจ้าของช่อง My Mate Nate ถูกควบคุมตัวหลังจากแพร่ภาพคลิปวิดีโอการทดลองวางเหรียญบนรางรถไฟตามที่เป็นข่าวมานั้น นอกจากข่ายความผิดบุกรุกพื้นที่รถไฟแล้ว ประเด็นร้อนที่ตามมาคือ เรื่องที่เขาไม่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย หรือเวิร์ค เพอร์มิต อันเป็นการผิดกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งได้จุดประกายให้คนในสังคมหันมาสนใจกระบวนการขออนุญาตทำงานขึ้นมา
ตรงกับมีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งมีบทลงโทษขั้นรุนแรงกับคนต่างแดนที่แอบทำงานในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต จนส่งผลให้แรงงานต่างด้าวเถื่อนแตกกระเจิงกลับมาตุภูมิไปคนละทิศละทาง
ด้วยข้อกำหนดที่ระบุเอาไว้ใน พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ การปรับปรุงกฎหมายครอบคลุมการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ รวมถึงเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ ซึ่งเรียกเสียงร้องระงมจากผู้ประกอบการ เพราะว่าได้เพิ่มโทษแก่นายจ้างที่ทำผิดให้สูงขึ้น
โดยมีไฮไลท์สำคัญในส่วนของนายจ้างที่รับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน และให้ทำงานที่ห้ามทำ ซึ่งกำหนดห้ามไว้ 39 อาชีพ (อาชีพกรรมกรและงานบ้าน ผ่อนผันให้แรงงานเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชาทำได้) มีโทษปรับ 4-8 แสนบาท ต่อการจ้าง 1 คน และหากให้ทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต จะมีโทษปรับไม่เกิน 4 แสนบาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวมาทำงาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางานนั้น มีโทษจำคุก 1-3 ปี หรือปรับ 2 – 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในส่วนคนต่างด้าวที่ไม่มีเวิร์คเพอร์มิต หรือทำงานที่ห้ามไว้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 พันบาท – 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
แต่เนื่องจากเวลาในการสร้างความรับรู้เข้าใจแก่ประชาชนไม่มากพอ จึงก่อให้เกิดความตื่นตระหนก กระทบต่อนายจ้างทั้งภาคครัวเรือน ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รัฐบาลจึงชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวออกไปถึงสิ้นปีนี้ ก็เป็นโอกาสให้นายจ้างและคนต่างด้าวที่ทำผิดกฎหมายอยู่เดิม ได้ดำเนินการทำให้ถูกต้อง ก่อนจะเริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า
เร่งแรงงานต่างด้าวทำเวิร์คเพอร์มิต
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่าคนต่างด้าว ใช้เรียกบุคคลซึ่งไม่ใช่ผู้มีสัญชาติไทย ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นฝรั่งตาน้ำข้าวหรือพี่น้องเพื่อนบ้าน ถูกเรียกเหมือนกันทั้งหมด
ณกรชัย ไวยกิจจา นักกฎหมายด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ได้อธิบายว่า กฎหมายไทยไม่ได้แยกสัญชาติ ฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายจึงมีความเท่าเทียมกันทั้งหมด เพราะโดยหลักกฎหมายสากลไม่ว่าชาติใดก็ตาม จะสงวนงานให้คนในประเทศทำเท่านั้น แต่เมื่อชาวต่างชาติประสงค์เข้ามาทำงานก็ต้องได้รับอนุญาตก่อน ซึ่งประเทศไทยก็กำหนดเช่นกัน โดยหลักทั่วไปนั้น ห้ามคนต่างชาติเข้ามาเดินหางาน คนต่างชาติต้องมีงานทำก่อนถึงจะเข้าประเทศไทยได้
หากแต่ว่าก็ยังมีผู้ลักลอบทำงานโดยไม่มีเวิร์คเพอร์มิตจำนวนมาก ซึ่งคะเนกันว่ามีถึง 5 ล้านคน กระทรวงแรงงานจึงได้ประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตทำงาน ช่วงชะลอบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ โดยเร่งรัดให้นายจ้างพร้อมแรงงานต่างด้าวกลุ่มสัญชาติกัมพูชา ลาว และพม่า ที่ไม่มีเวิร์ค- เพอร์มิตมาขอให้ถูกต้อง ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค. นี้ โดยช่วง 9 วันแรกมีแรงงานต่างด้าวมาขอแล้วมากกว่า 3.1 แสนคน
ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตรา (Visa) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non–Immigrant L–A) แล้ว แต่ยังไม่มีใบอนุญาต รวมถึงมีนายจ้างไม่ตรงใบอนุญาต สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ โดยยื่นขอที่สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่ตั้งของสถานที่ทำงานปัจจุบันได้ทันที ซึ่งแรงงานในกิจการประมงสามารถยื่นขอได้ถึงวันที่ 1 พ.ย. นี้ ส่วนกิจการทั่วไปยื่นขอได้จนถึงวันที่ 31มี.ค. 61 โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 1,000 บาท
กำแพงเงื่อนไขที่ต้องเจอ
ในส่วนการขอเวิร์คเพอร์มิตของกลุ่มทักษะสูง มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน และการได้มานั้นไม่ใช่ง่ายนัก โดยนายจ้างต้องส่งสัญญาจ้าง พร้อมเอกสารการดำเนินธุรกิจ และหนังสือจากกรมแรงงาน ไปยื่นต่อสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ ให้พิจารณาออกวีซ่า ประเภทประกอบธุรกิจ และการทำงาน (Non–Immigrant-B) แก่คนต่างด้าว จึงจะเข้าประเทศไทยได้ จากนั้นต้องยื่นขอเวิร์คเพอร์มิตต่อกรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน ซึ่งจะอนุญาตได้ไม่เกิน 2 ปีต่อครั้ง
ยังมีข้อกำหนดของ สตช. เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้คนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ชั่วคราวต่ออีกว่า ผู้ที่นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานต้องเป็นธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท โดยชำระเต็มทุนจดทะเบียนแล้ว และยื่นงบการเงิน ณ วันสิ้นงวด 2 ปีบัญชีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจะอนุญาตให้มีอัตราส่วนคนต่างด้าว 1 คน ต่อกับพนักงานคนไทยประจำ 4 คน และเพิ่มคนต่างชาติได้ 1 คนต่อทุน 2 ล้านบาท เพราะมองถึงโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย อีกทั้งยังจะได้รับการถ่ายทอดทักษะจากคนต่างชาติด้วยทั้งนี้ยังกำหนดรายได้ขั้นต่ำของคนต่างชาติกลุ่มทักษะสูงเอาไว้ด้วย
นอกจากนี้ พ.ร.ก. ฉบับใหม่ ยังมีการเพิ่มค่าธรรมเนียมเวิร์คเพอร์มิต เป็นฉบับละ 2 หมื่นบาท และการต่ออายุเวิร์คเพอร์มิตอยู่ที่ครั้งละ 2 หมื่นบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันตามอาชีพและท้องที่ทำงาน และเมื่อ
สิ้นสุดการเป็นพนักงาน บริษัทต้องแจ้งกรมจัดหาแรงงาน อันเป็นผลให้เวิร์คเพอร์มิตและวีซ่าหมดอายุไปด้วย
เปิดสถิติผู้ที่มีเวิร์คเพอร์มิต
จากข้อมูลของสำนักบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ได้เผยตัวเลขผู้มีเวิร์คเพอร์-มิตล่าสุด พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 1,558,406 คน หากดูเฉพาะกลุ่มทักษะสูง พบว่าประเภททั่วไป อาชีพที่ได้รับอนุญาตมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ผู้จัดการฝ่าย ผู้ประกอบอาชีพด้านการสอน และผู้บริหารระดับสูง ตามลำดับ โดยชาติที่ได้รับใบอนุญาตมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น 15,152 คน จีน 13,269 คน ฟิลิปปินส์ 12,898 อินเดีย 9,503 และอังกฤษ 9,037 ตามลำดับ
คงต้องติดตามกันต่อว่า เมื่อพ้นเวลาผ่อนผันบทลงโทษใน พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แล้ว การบังคับใช้กฎหมายจะเข้มงวดมากเพียงใด สมกับอย่างที่ภาครัฐตั้งใจให้ปีหน้าเป็นปีที่ประเทศไทยปลอดแรงงานเถื่อนหรือไม่
วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมจัดหาแรงงาน กระทรวงแรงงาน
“กฎหมายจะมีผลลงโทษวันที่ 1 มกราคมปีหน้า อยากจะขอให้นายจ้างทุกท่านใช้เวลาช่วง 6 เดือนนี้ดำเนินการลงทะเบียน เข้าสู่กระบวนการในการขอวีซ่า ออกเวิร์คเพอร์มิตให้เรียบร้อย ซึ่งมั่นใจว่าในช่วงที่รัฐบาลผ่อนผัน แรงงานที่ทำผิดกฎหมายจะเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง บ้านเมืองเราจะได้มีการใช้แรงงานต่างชาติอย่างสบายอกสบายใจ ในสายนานาชาติก็จะเห็นว่าเราไม่ได้เอารัดเอาเปรียบ อยากให้ปีหน้าเป็นปีที่ปลอดการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย ต้องขอความร่วมมือร่วมกัน”
ณกรชัย ไวยกิจจา นักกฎหมายด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน
“เวลานี้เป็นช่วงปล่อยผีไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งเปิดโอกาสให้ขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้อง การขึ้นทะเบียนอย่างน้อยเรารู้ว่าเขาเป็นใคร คาดการณ์กันว่ามีแรงงานเถื่อนในไทยกว่า 5 ล้านคน อย่างกรณีเนท วันที่ถูกจับอ้างว่ามี Visa Non-B คนก็สงสัยว่าขอภายใต้บริษัทใด บริษัทมีครบตามข้อกำหนดหรือไม่ แล้วมีประเด็นที่สอบถามถึงเวิร์คเพอร์มิตว่ามีหรือไม่ ขอในตำแหน่งอะไร ขอบเขตการทำงานครบจริงหรือเปล่า สุดท้ายกระทรวงแรงงานก็บอกว่าไม่มี ซึ่งโชคดีที่กฎหมายระงับอยู่ ฉะนั้นเราก็ต้องเป็นหูเป็นตากัน”
[English]
Work Permits & Foreign Workers’ Employment Rights
Following the government’s plan to pass an executive decree on administration of foreign workers, which represents an improvement of the control and the handling of foreign workforce and an effort to prevent human trafficking, foreigners with plans to work in Thailand have rushed to obtain the work permits to avoid deportation.
But, after it became clear that the public still lack understanding about the law, the planned enforcement was delayed until next January, and non-skilled foreign workers have been asked to apply for the right paper during July 24 and August 7. During the first nine days, 310,000 foreign workers already did so.