การกินเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งสามารถบ่งบอกคุณภาพชีวิต และบอกถึงความเป็นอยู่ที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้ เพราะทุกสิ่งที่เรากินลงไป จะถูกนำไปใช้ต่อร่างกาย ทั้งเป็นพลังงาน และเป็นตัวช่วยเสริมสร้างในเรื่องต่าง ๆ แต่ในบางครั้งเราอาจต้องประสบปัญหาหนักใจจากการกินที่อาจเป็นสัญญาณเตือนที่ส่งผลร้ายโดยไม่รู้ตัว เช่น อาการอาหารไม่ย่อย
อาหารไม่ย่อย เป็นอาการไม่สบายในหน้าอกหรือใต้ลิ้นปี่ที่เกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการรับประทานอาหาร โดยอาจมีอาการได้หลายอย่าง เช่น การปวดท้องบริเวณช่วงบน ร่วมกับมีอาการท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง จุกลิ้นปี่ รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว ท้องอืด มีลมในท้อง โดยมักเกิดระหว่า งหรือ หลังรับประทานอาหาร ซึ่งอาการอาหารไม่ย่อยนี้พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ อาจเกิดขึ้นบางครั้ง
ซึ่งอาการอาหารไม่ย่อยอาจเป็นสัญญาณร้ายที่ร่างกายส่งเสียงเตือนการเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้นจึงควรรู้เท่าทันเรื่องเหล่านี้ไว้ด้วย
สาเหตุอาหารไม่ย่อย
- เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด
- ทานอาหารเร็ว
- ทานอาหารเยอะเกินไป
- ทานอาหารไม่ตรงเวลา
- ชอบทานอาหารมัน หรือ อาหารรสเผ็ดจัด
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือ น้ำอัดลม มากไป
- มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือ เป็นโรคอ้วน
- ทานยาบางชนิด ที่ส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร
- มีแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก กรดไหลย้อน
- มีภาวะเครียดหนัก วิตกกังวล
- สูบบุหรี่เป็นประจำ
สังเกตอย่างไรเมื่อมีอาการอันตราย
- น้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากมีอาการไม่อยากอาหาร
- อาเจียนบ่อย หรือ มีเลือดปนในการอาเจียน
- อุจจาระเป็นสีดำ หรือ มีเลือดปน
- กลืนอาหารลำบาก และมีอาการแย่ลง
- มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
และหากมีอาการร่วมเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์โดยด่วน
- หายใจถี่ มีเหงื่อออกมาก
- เจ็บหน้าอกในขณะออกกำลัง หรือ ใช้แรงเยอะ
- ลามไปเจ็บยังบริเวณกราม ลำคอ หรือแขน
ตรวจอย่างไรเมื่อพบอาการต้องสงสัย
- ตรวจเลือด เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร
- ตรวจลมหายใจ เป็นการตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร
- ตรวจอุจจาระ เป็นการนำไปตรวจหาการติดเชื้อในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีอาการอาหารไม่ย่อยจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร
- การฉายภาพอวัยวะภายใน เป็นการตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะอื่น ๆ ภายในช่องท้อง
- ส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร จะเป็นการใช้เครื่องมือพิเศษที่มีกล้องติดอยู่ตรงส่วนปลายท่อ สอดเข้าไปทางปากหรือทางทวารหนัก เพื่อตรวจดูอวัยวะภายในเพื่อหาความผิดปกติผ่านภาพจากกล้อง
- ตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อ เป็นขั้นจากการส่องกล้องสอดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย แล้วใช้เครื่องมือตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อในบริเวณที่ต้องการตรวจ แล้วนำออกมาส่งตรวจหาเชื้อ หรือ ความผิดปกติในห้องปฏิบัติการต่อไป