หลังจากที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนเริ่มมีการใช้งานแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา แต่ภาครัฐยังคงเผชิญปัญหาที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องครื่องรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) ไม่พร้อม ไม่เพียงพอ การนำบัตรไปแลกเงิน และการรั่วไหลของสิทธิไปยังคนไม่จนจริง ส่วนคนจนจริงกลับไม่ได้รับสิทธิ์
คนจนไม่จด คนจดไม่จน
ข้อมูลผู้ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่า มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 14,176,170 คน ผ่านคุณสมบัติ 11,431,681 คน และไม่ผ่านคุณสมบัติ 2,744,489 คน แต่ตัวเลขทางการของสภาพัฒน์ ระบุว่า ประเทศไทยมีคนจนประมาณร้อยละ 8 ของประชากรทั้งหมด คิดเป็นประมาณ 4-5 ล้านคน แต่มีคนมาลงทะเบียนมากถึง 14 ล้านคน แสดงให้เห็นว่า คนที่ไม่จนมาลงทะเบียนกันเยอะมาก อีกทั้งยังมีคนจนที่ไกลจากมือรัฐจะเอื้อม ไปถึงที่ไม่ได้มาจดทะเบียน ซึ่งกลุ่มนี้จะถูกละเลยทันที ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงแบ่งเป็น 2 แบบ คือ คนจนไม่มาจด และคนจดไม่จน
อย่างกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล เมื่อหนุ่มนายแบบคนหนึ่งได้โพสต์ภาพลงในเฟซบุ๊กโชว์บัตรคนจน พร้อมกับโทรศัพท์มือถือ นาฬิกา นั่งอยู่ในร้านกาแฟดัง โดยหลังจากนั้นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม ซึ่งหากไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก็จะระงับการใช้สิทธิ์ทันที
ดร.สมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า กรณีบัตรสวัสดิการคนจนถูกแจกจ่ายให้ผู้ลงทะเบียน และเริ่มมีการใช้งานบ้างแล้ว มองออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของการออกแบบของโครงการ กับ Implementation ซึ่งช่วงหลังนี้จะเป็นข่าว Implementation เรื่องคนไปใช้ในทางที่ผิดแปลกไป เช่น ถ้าเอาสิทธิ์ไปแลกของได้ แต่มีคนอยากได้เงินมากกว่าของ ก็เอาบัตรไปขาย ร้านค้าก็ยึดบัตรนั้นไป แล้วร้านค้าก็ไปใช้สิทธิ์นั้นแทน ยิ่งถ้าเป็นร้านธงฟ้าอยู่แล้ว เขาจะไปใช้รูดเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าให้บัตรเขาไป
“สมมติถ้าบัตรมีมูลค่า 300 บาท ซื้อของได้ 300 บาท ที่เขาตกลงกันคือ ฉันให้เงินคุณ 200-250 บาท แล้วคุณเอาบัตรมา คนที่ได้ก็รู้สึกว่าให้บัตรแล้วได้เงินทันที แล้วไปซื้อของ ไปทำอย่างอื่นที่ชอบที่ต้องการจริงๆ ซึ่งไม่มีในร้านธงฟ้า แบบนี้การได้เงินดีกว่า ด้านเจ้าของร้านธงฟ้าได้บัตรมา มูลค่า 300 บาท โดยที่จ่ายเงินไปแค่ 200 หรือ 250 ก็กำไร 50 บาท คือ ปัญหาแบบนี้มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว”
ยกเลิกรถเมล์-รถไฟฟรี
สำหรับมาตรการที่จะเข้ามาช่วยสกรีนคนจนแท้จริง ดร.สมชัย เปิดเผยว่า อยากให้นำข้อมูลการใช้จ่ายของคนที่มาจดทะเบียนว่ามีพฤติกรรมการใช้จ่ายตามปกติอย่างไรบ้าง เช่น กรณีนโยบายให้ใช้ไฟฟ้าฟรี รถเมล์ฟรี ถ้าใช้ไฟน้อยก็น่าจะเป็นคนจน (มีรั่วบ้างคือ คนที่มีคอนโด บ้านหลังที่สอง ค่าไฟก็จะได้ฟรีไป) หรือกรณีใช้รถเมล์ฟรี หรือรถไฟชั้น 3 เพราะคนรวยย่อมจะไม่ยอมเบียดขึ้นรถเมล์หรือรถไฟร้อนๆ ซึ่งในแง่นี้ตัวสินค้าหรือบริการจะช่วยสกรีนคนจนได้
อย่างไรก็ตาม หลังเริ่มโครงการบัตรเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว รัฐบาลได้ยกเลิกระบบรถเมล์ฟรีและรถไฟฟรีไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยให้ประชาชนนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาใช้แทน มีเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เดือนละ 500 บาท สามารถซื้อตั๋วได้ทุกขบวน ทุกชั้นที่นั่ง ตั๋วรายเดือนและตั๋วอัตราพิเศษชั้น 3 ไม่จำกัดจำนวนครั้ง หากซื้อตั๋วเกินวงเงินที่ได้รับ จะต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มเติม และจะตัดยอดวงเงินทุกเดือน
โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต้องนำบัตรฯ ที่มีชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน และภาพถ่ายใบหน้าของตนเองมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ช่องขายตั๋วเพื่อซื้อตั๋วโดยสาร และต้องใช้สิทธิ์ด้วยตัวเอง โดยบัตรสวัสดิการ 1 ใบ สามารถใช้ได้ 1 สิทธิ์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนรถเมล์ ขสมก. 800 คัน มีรถเมล์ร้อน 100 คัน ติดตั้งระบบ E-Ticket สมบูรณ์แล้ว อีก 250 คัน จะใช้ระบบ Mobile Phone ให้ใช้บัตรแตะ ที่เหลือ 450 คัน จะใช้วิธีจดบันทึก เนื่องจากอยู่ระหว่างติดตั้ง E-Ticket รถเมล์ จะติดสติกเกอร์สีเขียว ระบุว่า รถคันนี้รองรับระบบ E-Ticket และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ร้องทุกข์บัตรคนจนพุ่ง
ข้อมูลการร้องทุกข์ของประชาชนต่อนายกฯ ผ่านช่องทาง 1111 (รอบวันที่ 14-27 ต.ค.) พบว่า มีการร้องทุกข์ทั้งสิ้น 2,358 ครั้ง รวม 1,411 เรื่อง โดยแบ่งเป็นประเภทดังนี้ 1. สังคมและสวัสดิการ 764 เรื่อง 2. การเมือง-การปกครอง 246 เรื่อง 3. การร้องเรียนกล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ 130 เรื่อง 4. เศรษฐกิจ 125 เรื่อง 5. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 109 เรื่อง 6. กฎหมาย 35 เรื่อง และ 7. พ.ร.บ. อำนวยความสะดวก 2 เรื่อง โดยจะเห็นว่าประเภทสังคมและสวัสดิการ มีการเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งในประเด็นผู้ประกอบการร้านค้าไม่สามารถเข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐ ร้านธงฟ้ายังไม่ติดตั้งเครื่องอีดีซี รวมถึงผู้ถือบัตรใช้ผิดเงื่อนไข
ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิ์ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับความช่วยเหลือ 2 หมวด ได้แก่ หมวดการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ประกอบด้วย
1. เงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐ โดยผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อคนต่อปี จะได้รับ 300 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท จะได้รับ 200 บาทต่อคนต่อเดือน สามารถตรวจสอบร้านธงฟ้าประชารัฐได้ที่ www.shop.moc.go.th และ
2. เงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ส่วนหมวดการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประกอบด้วย 1. ค่าโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้า 500 บาทต่อคนต่อเดือน 2. ค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อคนต่อเดือน
ขณะที่กระทรวงการคลังแจ้งว่า ได้เริ่มหาแนวทางแก้ไขวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนการใช้จ่ายซื้อสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีวงเงิน 200 บาท และ 300 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับความช่วยเหลือตรงกับความต้องการมากที่สุด โดยเบื้องต้นจะยังไม่เพิ่มงบประมาณ แต่จะปรับเปลี่ยนวงเงินในบัตร เช่น หากประชาชนในต่างจังหวัดไม่จำเป็นต้องใช้รถไฟ/รถ บขส.ก็สามารถนำเงินในบัตร 500 บาทมาใช้ซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้าประชารัฐได้ ซึ่งจะทำให้มีเงินซื้อสินค้าเพิ่มจาก 200-300 บาทต่อเดือน เป็น 700-800 บาทต่อเดือน ทั้งนี้จะหารือเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป ดังนั้น คนที่มีบัตรก็รออีกหน่อยส่วนคนที่ไม่มีบัตรก็ทำมาหากินกันต่อไป
ดร.สมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ
“ไอเดียที่ผมชอบมากคือ คุณต้องไปถึงตัวเขาเลย เพื่อช่วยเสริมการกระจายงบประมาณ โดยต้องมีกลไกการตามหาคนจน ซึ่งกลไกที่ว่าต้องเป็นระดับชุมชน คนที่จะทำเรื่องนี้ได้คือ อสม. หรืออาสามัครสาธารณสุข ส่วนเรื่องแจกเงินคนชนชั้นกลางไทยไม่ชอบ จะมีคำถามว่าทำไมให้เงินเขา ซึ่งเป็นความระแวงคนอื่นว่าเดี๋ยวงอมืองอเท้าไม่ยอมทำงาน เดี๋ยวเอาเงินซื้อบุหรี่ เหล้า แต่ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์ คือให้เป็นเงินดีกว่าให้เป็นของ เพราะสัดส่วนคนจนที่นำเงินไปใช้ผิดประเภท เช่น ซื้ออบายมุข มีเพียง 1-2% เท่านั้น”
พิมพ์ชนก สิริพงศ์ทักษิณ ชาวกรุงเทพมหานคร
“รัฐควรตรวจสอบผู้ที่มาลงทะเบียนรับสิทธิอย่างละเอียด และควรกำหนดมาตรฐานให้ชัดเจนไม่ให้มีช่องโหว่เกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นคนจนไม่จริงก็ปลอมแปลงมาใช้สิทธิได้ เจ้าหน้าที่เองก็ไม่โปร่งใส ส่วนกรณีที่ยกเลิกรถเมล์ฟรีนั้นไม่เห็นด้วย เพราะรถเมล์ฟรีเป็นประโยชน์กับทุกคน ต่อให้มีบัตรหรือไม่มีบัตรก็ใช้ได้ โดยเฉพาะคนจนจริงๆ ที่ตกสำรวจเขาก็สามารถใช้บริการฟรีได้”
[English]
Flaws in Thailand’s Implementation of Welfare Smart Card Project
The implementation of the Thai government’s welfare smart card project, which began on October 1, has been marred by many flaws, including the insufficient number of the electronic data capture (EDC) machines and reports that many poor people have been left out of the program.
Meanwhile, the National Economic and Social Development Board’s data suggested that around 8.0% of Thai population, or no more than five million people, could be classified as “the poor” but there were over 14 million people have registered themselves as low-income earners.
During October 14-27, the government’s Hotline 1111 has received hundreds of complaints regarding the welfare smart card program, with many raising flags about several stores’ being turned down from the state-operated Blue Flag project and illicit uses of the card by eligible holders.
Under the government’s plan, each eligible low-income earners, who makes less than 30,000 baht per year, can use the welfare smart card to purchase up to 300 baht worth of necessity goods, products intended for education and farming materials from all Blue Flag shops, each month. The allowance is 200 baht per month for those who earn more than 30,000 baht a year.
Each card holder can also get a 45-baht discount for the purchase of cooking gas every three months and to spend up to 500 baht on public buses and electric trains and up to 500 baht on the provincial bus service each month.