Sunday, June 11, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    อนาคตของโซลาร์รูฟท็อป

    ที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีแนวคิดนำพลังงานธรรมชาติจากแสงแดดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบการผลิต “โซลาร์รูฟท็อป” ในภาคครัวเรือน โดยในช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ราคาโซลาร์ลดลงไปมากถึงร้อยละ 99 มีต้นทุนอยู่ที่ 30 เซนต์/หน่วยเท่านั้น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

    เพื่อความคุ้มค่าในอนาคต?
    โซลาร์รูฟท็อป คือ ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัยหรือบนอาคารต่างๆ สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เองภายในบ้าน อาคารหรือโรงงาน โดยแผงเซลล์แสงอาทิตย์จะรับพลังงานจากแสงอาทิตย์ แล้วจ่ายเป็นไฟฟ้ากระแสตรงให้กับเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าชนิดเชื่อมต่อกับสายส่ง แล้วแปลงไฟกระแสตรงให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับก็จะได้กระแสไฟฟ้าที่พร้อมใช้งานให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ทีวี พัดลม ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

    ข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ใช้เห็นว่า โซลาร์รูฟท็อป มีความคุ้มค่าช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ 1 ใน 3 ของค่าไฟฟ้าต่อโรงงาน 1 แห่ง เพราะโรงงานจะผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ในช่วง On Peak ที่เป็นช่วงที่ค่าไฟฟ้ามีราคาสูง (อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ หรือ TOU Rate ราคาจะสูงกว่าในช่วง Peak หรือ 09.00 – 22.00 น.) ซึ่งจะลดการใช้ไฟฟ้าจากระบบไปได้ 


    อย่างไรก็ตาม แม้ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าสูง แต่ปัจจุบันสัดส่วนของไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์รูฟท็อปที่มีเพียง 6% ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด

    ด้าน ดร.วิชสินี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า โซลาร์รูฟท็อปมีต้นทุนลดต่ำลง จึงมีผู้ติดตั้งมากขึ้น ทว่าขณะนี้ประเทศไทยสัดส่วนของผู้ติดตั้งยังไม่มาก โดยยังไม่ถึงร้อยละ 1 ของความต้องการไฟฟ้าจนส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าจนต้องมีการเก็บค่าไฟฟ้าสำรอง หรือการเพิ่มขึ้นการลงทุนในระยะสั้น ขณะที่งานวิจัยของ National Renewable EnergyLab และ Lawrence Berkeley National Lab ระบุว่า ผลกระทบต่อการไฟฟ้าและราคาไฟฟ้าจะเริ่มชัดเจนเมื่อการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเกิน 10% ของความต้องการไฟฟ้า หากโซลาร์รูฟท็อปเข้ามาในปริมาณมากจะเปลี่ยนรูปแบบความต้องการไฟฟ้าในแต่ละวัน โดยความต้องการช่วงกลางวันจะลดลง ขณะที่การใช้ไฟฟ้าช่วงกลางคืนเท่าเดิม ซึ่งทำให้การไฟฟ้าต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนในระบบที่จะเกิดขึ้น โดยต้องมีโรงไฟฟ้าปรับเพิ่ม-ลดกำลังผลิตให้เพียงพอต่อการใช้งานตลอดเวลา

    เปิดเสรีโซลาร์รูฟ
    ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สูงแล้วเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ทำให้มีโอกาสผลิตไฟฟ้าราคาถูกใช้เองได้ และยังเป็นการสนองนโยบายรัฐที่ส่งเสริมพลังงานทางเลือก โดยอนาคตอันใกล้นี้รัฐเตรียมเปิดโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี เน้นผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นหลักและเปิดให้ขายไฟส่วนที่เหลือใช้ได้  ซึ่งการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ยังไม่ได้อนุมัติโครงการดังกล่าวแต่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปพิจารณาในรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น

    โดยหลักเกณฑ์การติดตั้งไฟฟ้าของภาคครัวเรือนนั้น ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้หารือกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เพื่อกำหนดให้เป็นหลักเกณฑ์เดียวกัน เนื่องจากเดิม กฟน.จะกำหนดปริมาณติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจากขนาดหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วน PEA พิจารณาการติดตั้งจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่ง กบง. เห็นควรให้กำหนดใช้เป็นหลักเกณฑ์เดียว เพื่อให้เกิดความสะดวก โปร่งใสและเป็นธรรมรวมทั้งวิธีการรับสมัครเข้าร่วมโครงการที่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่จะมีการกำหนดปริมาณเปิดรับซื้อเป็นรายภาค ซึ่งพิจารณาตามสายส่งไฟฟ้าที่สามารถรองรับได้ และจะกำหนดระยะเวลาเปิดและปิดโครงการอย่างชัดเจนต่อไป 

    อย่างไรก็ตามคาดว่าโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในปี 2561 เนื่องจากต้องรอให้จบโครงการ SPP Hybrid Firm ขนาด 300 เมกะวัตต์ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการรับซื้อไฟฟ้า และโครงการ VSPP Hybrid Semi Firm ที่จะดำเนินการต่อจาก SPP Hybrid Firm ให้เสร็จสิ้นลงก่อน เพื่อจะได้ทราบถึงปริมาณสายส่งไฟฟ้าที่เหลือและกำหนดเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรีต่อไป 

    อสังหาฯ ตื่นตัวติดโซลาร์ตามครัวเรือน
    ไม่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ตื่นตัวในการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ ปัจจุบันเริ่มมีโครงการบ้านจัดสรรบางแห่งหันมาสนใจติดตั้งแผงโซลาร์ในโครงการด้วยเช่นกัน

    ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ้านของเสนาที่เริ่มขายตั้งแต่ปี 2559 จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทั้งหมด โดยได้แรงบันดาลใจมาจากปี 2554 จากเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งพบว่า บ้านที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะจ่ายค่าไฟฟ้าต่ำกว่า แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนของความต้องการใช้ที่อาจไม่เท่ากันในแต่ละเดือน ซึ่งตัวเลขนี้จะเห็นได้ชัดสำหรับบ้านที่เป็นลักษณะของ Home Office มากกว่า แต่ก็เห็นแนวโน้มว่า เมื่อโซลาร์มีราคาถูกลง ภาคครัวเรือนมีโอกาสใช้โซลาร์รูฟท็อปมากขึ้นด้วย

    อย่างไรก็ตาม เรื่องที่สำคัญมากสำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใช้เองคือ การที่ให้ธนาคารปล่อยกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำให้กับผู้ซื้อบ้านที่ติดโซลาร์รูฟท็อป เนื่องจากเป็นการลงทุนล่วงหน้าที่มีการคืนทุนในระยะยาว ทว่า การซื้อโซลาร์รูฟท็อปพร้อมกับบ้านมีความคุ้มค่าในเชิงการลงทุนมากกว่าการติดตั้งในภายหลัง

    แม้ว่าโซลาร์รูฟท็อปจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าความต้องการที่เราใช้ตามปกติ แต่ก็ถือว่าเป็นตัวช่วยที่ดีในการประหยัดค่าไฟในแต่ละเดือน อีกทั้งหากเรามีการ  ประหยัดไฟฟ้ารวมถึงมีไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์รูฟท็อปมากกว่าความต้องการแล้วและก็เรายังสามารถส่งไฟฟ้าส่วนที่เกินไปขายให้การไฟฟ้าฯ เกิดเป็นรายได้ของครัวเรือนอีกทาง

    ในอนาคตเชื่อว่าการใช้โซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทยน่าจะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในแง่ที่จะได้รับความสะดวกสบายในการหาโซลาร์รูฟท็อปให้กับที่อยู่อาศัยพร้อมเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนได้อีกทางด้วย  


    วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ  นักวิชาการจาก ทีดีอาร์ไอ
    “หลังจากนี้ 4-5 ปีปริมาณผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปจะเกินความต้องการใช้ 10% ของความต้องการไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนระบบโซลาร์และระบบกักเก็บพลังงานจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว และต้องยอมรับว่าโซลาร์รูฟท็อป ยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีข้อจำกัด ไม่มีระบบกักเก็บพลังงานไว้ในเวลากลางคืน”

    ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
    “พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแทนที่พลังงานฟอสซิลในอนาคตข้างหน้า ด้วยปัจจัยจากราคาที่ถูกลงและประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามแม้ว่าต้นทุนของแผงโซลาร์จะมีราคาถูกลงทั่วโลก แต่การเข้าถึงแผงโซลาร์ในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันเนื่องจากปัจจัยจากฝั่ง      ผู้กำกับดูแลที่มีผลต่อต้นทุนและความยากง่ายในการเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้บริโภคได้”

    [English]
    Thailand’s Adoption of Solar Rooftop, Still An Unknown Future
    For decades, Thailand’s public and private sector have been working on plans to utilize solar power for household use through the “solar rooftop” program but the full adoption of this technology remains far from widespread success.

    The solar rooftop program is actually a photovoltaic power station, which has its electricity-generating solar panels mounted on the rooftop of a residential or commercial building or structure.  Electricity generated from this system can power television, electric fan, refrigerator, air-conditioner, or computer.

    The Federation of Thai Industries said that the solar rooftop system can help a factory reduce electricity cost by one-third as it can generate power by itself during the “On Peak” period, when power charges are normally high.

    Despite this, solar power generation via rooftop equipment only represents 6.0% of total solar power generation in the country.

    On a positive note, Thailand is moving closer to a more widespread adoption of solar power generation as its cost has come down drastically and the government is already planning to liberalize the solar rooftop program with the Energy Policy and Planning Office now working with related agencies to get all details of the initiative before presenting the Cabinet for approval.

    It’s not only the industrial that is excited by the news as several property development projects have already incorporated the solar rooftop program in their plans to help home-owners save on energy expenses.