Tuesday, May 23, 2023
More

    ชูนโยบายลดหย่อนภาษี มีลูกช่วยชาติ

    ปัจจุบันอัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงเฉลี่ย 1.6 คน ปัจจัยจากคนรุ่นใหม่ครองโสดนาน มีบุตรช้าลง – น้อยลง ภาครัฐจึงชูนโยบายส่งเสริมการมีบุตร โดยล่าสุด ครม. เห็นชอบลดหย่อนภาษีมีบุตร หวังจูงใจให้หนุ่มสาวปั๊มลูกช่วยชาติ

    เด็กไทยเกิดใหม่น้อย
    ปัจจุบันไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์รวมอยู่ในระดับต่ำ โดยจำนวนการเกิดโดยรวมของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงปี 2506 – 2526 มีเด็กเกิดใหม่มากกว่า 1 ล้านคน แต่ปี 2559 ลดลงประมาณ 704,058 คน อีกทั้งผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 14-49 ปี มีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.6 คน ต่ำกว่าอัตราทดแทนทางประชากรซึ่งควรต้องอยู่ที่ 2.1 โดยคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าอัตราการเพิ่มประชากรของไทยจะเท่ากับ 0.0 หมายถึงอัตราการเกิดเท่ากับการตาย ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และไทยกำลังจะก้าวเข้าสูงสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์

    การเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อโครงสร้างประชากร คือ ประชากรในวัยแรงงานอายุ 15-59 ปีจะลดลงจาก 43 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 40.7 ล้านคนในอีก 10 ปี และ 35.1 ล้านคนในปี 2583 ส่งผลให้อัตราส่วนประชากรวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ลดลงจาก 5.1:1 ในปี 2553 เหลือเพียง 1.7:1 เมื่อถึงปี 2583 อันจะกระทบกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ

    ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยถึงปัจจัยที่ทำให้การเกิดใหม่ลดลงมาจาก
    1. ปัจจัยด้านทัศนคติและรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มการครองโสดนานขึ้น และมีบุตรช้าลง เพราะให้ความสำคัญกับการศึกษาต่อ การทำงาน รวมถึงการซื้อรถและบ้านเป็นอันดับต้นๆ อีกทั้งทำให้ไม่มีอิสระ
    2. ปัจจัยด้านสุขภาพ จากการสำรวจมารดาและทารกแรกเกิดทั่วประเทศ พ.ศ. 2551-2552 พบว่าคู่สมรสมีบุตรยากสูงถึงร้อยละ 11 แม้ว่าเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะก้าวหน้า แต่มีค่าใช้จ่ายสูง และไม่สามารถเบิกจ่ายได้จากระบบประกันสุขภาพ
    3. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ จากรายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติของประเทศไทย พ.ศ. 2554 พบว่าค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 20 ปี เป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท และมากกว่าร้อยละ 15 ของรายได้เฉลี่ยครัวเรือนไทยที่มีเดือนละ 25,194 บาท โดยไม่ได้รวมส่วนที่รัฐอุดหนุนหรือสนับสนุนผ่านมาตรการต่างๆ
    4. ด้านสังคม ผู้หญิงไทยจบการศึกษาสูงขึ้น ทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้การแต่งงานและมีบุตรช้าลง โดยจากรายงานประชากรไทย พ.ศ. 2558 ชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนของครอบครัวเดี่ยวที่ไม่มีบุตรเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงปี 2530-2556 อีกทั้งการสำรวจการใช้เวลาของประชากร พ.ศ. 2552 พบว่าผู้หญิงที่สมรสแล้วต้องสละเวลาในชีวิตประจำวันของตนเองมากกว่าผู้ชายที่สมรสแล้วถึง 2 เท่า เพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัวและจัดการงานบ้าน


    เร่งผลักดันมีลูกเพื่อชาติ
    กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 มีเป้าหมาย 3 ด้าน คือ 1. เพิ่มจำนวนการเกิดเพื่อทดแทนจำนวนประชากร มุ่งส่งเสริมการเกิดในหญิงอายุ 20-34 ปี ที่มีความพร้อมและตั้งใจมีครรภ์ 2. การเกิดทุกรายมีความพร้อม มีการวางแผน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และ 3. ทารกแรกเกิดแข็งแรง พร้อมเติบโตอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย


    นายดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เผยถึงการดำเนินการตามนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ ว่า ได้ขับเคลื่อนงานไปแล้วหลายส่วน อาทิ
    1. มาตรการส่งเสริมการมีบุตร เช่น การประกาศนโยบายมีลูกเพื่อชาติ นัยสำคัญคืออยากให้คนไทยให้คุณค่าต่อการมีบุตร ซึ่งเป็นการเติมเต็มความรัก ความอบอุ่นให้กับครอบครัว แทนการมองว่าเป็นภาระ สำหรับจำนวนบุตรขึ้นอยู่กับความพร้อมในแต่ละครอบครัว ถ้าตามหลักการทดแทนทางประชากรคือ ควรมีบุตรอย่างน้อย 2 คนเพื่อทดแทนพ่อแม่ และการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่มีบุตรเพิ่ม ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนการส่งเสริมให้มีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพใกล้บ้าน สิทธิการลาคลอด สิทธิการลาเพื่อช่วยเลี้ยงดูบุตร สิทธิการไปฝากครรภ์โดยไม่ถือเป็นวันลา อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบ 

    2. มาตรการเพื่อให้การเกิดมีคุณภาพ สนับสนุนให้ทานวิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก 1 เม็ด/สัปดาห์ ก่อนตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิด ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ทาง www.สาวไทยแก้มแดง.com และ 3. มาตรการเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เช่น การให้เงินสงเคราะห์บุตร การให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด และการให้สิทธิในการเรียนฟรี 

    ทั้งนี้ การดำเนินงานตามมาตรการโดยกระทรวงที่รับผิดชอบในแต่ละด้าน อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบ การสำรวจความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับรัฐบาล เพื่อกำหนดเป็นนโยบายต่อไป แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ เกิดการตื่นตัวในเรื่องการรณรงค์ให้มีบุตร ซึ่งแตกต่างจากนโยบายวางแผนครอบครัวที่ใช้ในประเทศยาวนานกว่า 40 ปี

    ลดหย่อน 3 ภาษีจูงใจให้มีบุตร
    ด้านที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ซึ่งออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร) โดยปรับเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้นอีกคนละ 30,000 บาทต่อปีภาษี  อีกทั้ง สามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตร หักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท โดยให้สิทธิเฉพาะผู้ที่ไม่ได้มีการเบิกค่าใช้ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ เป็นต้น โดยจะมีผลประจำปีภาษี 2561 ที่ต้องยื่นรายการในปี 2562 เป็นต้นไป

    ยังเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็ก เพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยนำค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ ที่มีใบประกาศการจัดให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และค่าใช้จ่ายตรงตามกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2549 หรือระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กฯ  พ.ศ. 2560 มาหักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 – 31 ธ.ค. 2563 ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กเพื่อผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบกิจการและชุมชน ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งเสริมและสนับสนุนดำเนินการทั่วประเทศทั้งสิ้นเพียง 61 แห่งเท่านั้น 

    มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตรที่จะออกมา เป็นการจูงใจให้ประชาชนมีบุตรเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลังจากนี้เป็นขั้นตอนการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย ก่อนจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

    ชงรัฐให้เงินอุดหนุนเลี้ยงบุตร 
    ด้านเครือข่ายองค์การภาคประชาสังคม ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ และองค์การยูนิเซฟ ร่วมกันศึกษาช่องว่างของระบบสวัสดิการไทยในช่วงอายุ 0-6 ปี พบว่ามีเพียง 1.3 ล้านคน ได้รับการคุ้มครองจากเงินสงเคราะห์บุตรในระบบประกันสังคม ขณะที่อีกกว่า 4.1 ล้านคน เป็นบุตรของแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งมีรายได้ไม่มั่นคง อาทิ เกษตรกร แรงงานรับจ้างชั่วคราว ไม่ได้รับการคุ้มครอง จึงเสนอให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรในช่วงอายุ 0-6 ปี ซึ่งเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้เด็กมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาส และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ โดยเป็นเงินที่รัฐจ่ายให้ เช่น รายเดือน โดยผู้รับไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ เป็นต้น ทั้งนี้ เงินอุดหนุนอยู่ที่ 600 บาท/คน/เดือน โดยการให้ 2 แนวทาง คือ 
    1. ให้เงิน 600 บาทสำหรับบุตรของแรงงานในระบบประกันสังคม และนอกระบบประกันสังคม ซึ่งใช้งบประมาณ 38,000 ล้านบาท/ปี หรือ 45% ของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปี 2558 หรือ 
    2. ให้ 600 บาทสำหรับบุตรของแรงงานนอกระบบประกันสังคม และสมทบเพิ่ม 200 บาทให้บุตรของแรงงานในระบบประกันสังคม (ซึ่งได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 400 บาท/เดือนอยู่แล้ว) โดยจะใช้งบ 32,000 ล้านบาท/ปี หรือ 38% ของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

    อีกทั้งยังเสนอทางเลือกเพิ่มเติมเพื่อลดภาระงบประมาณ คือ U1T2 (Universal First, Targeting Second) อันดับแรก ให้เงินอุดหนุนถ้วนหน้าในเบื้องต้น เนื่องจากเป็นสิทธิที่เท่าเทียมกันทุกคน อันดับต่อมาถึงงดสิทธิกลุ่มที่สามารถดูแลตนเองได้ เช่น ผู้มี ฐานภาษีสูง หรือผู้ประกันตนที่มีรายได้สูง ได้แก่ มีรายได้พึงประเมินในระบบภาษีไม่ต่ำกว่า 80,000 บาท/ปี, มีรายได้ตามข้อมูลสำนักงานประกันสังคมไม่ต่ำกว่า 80,000 บาท/ปี, ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่รายได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 บาทต่อปี โดย  U1T2 จะทำให้ผู้ที่ควรได้รับการคุ้มครองลำดับแรกๆ ไม่ตกหล่น และเมื่อมีฐานข้อมูลเด็กที่เชื่อถือได้ ก็จะนำไปใช้ในการตัดสินใจเพื่อยกเว้นการให้เงินอุดหนุนสำหรับบางกลุ่ม ซึ่งจะช่วยลดภาระงบประมาณประเทศในอนาคต 

    นับว่าเป็นวาระใหญ่ของชาติที่หลายฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เนื่องจากมีผลกระทบต่อการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ แต่อย่างหนึ่งต้องไม่ลืมว่าการที่ประเทศชาติจะขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่เพียงหวังพึ่งจำนวนอย่างเดียวได้ ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้อง          ส่งเสริมควบคู่กันไปด้วยคือคุณภาพของประชากร เพื่อให้สามารถเป็นกำลังในการพัฒนาชาติในอนาคต 


    คุณดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย
    “ถ้าครอบครัวใดมีความพร้อมอยากจะมีลูก นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้ว เพราะเหมือนมีผู้มาสืบสกุล เสมือน Destination ช่วยทำให้ได้เห็นความใส่ใจต่อชีวิตอีกชีวิตหนึ่งเพิ่มเติมขึ้นมา นอกเหนือจากคู่สมรสที่ต้องดูแลกัน ซึ่งการเกิดของบุตรในลักษณะนี้ ทำให้ชีวิตไม่ได้อยู่อย่างไร้ค่า คำว่ามีลูกเพื่อชาติ อาจเป็นคำที่สวยหรูทำให้ฮึกเหิม แต่เพียงแค่มีลูกก็สามารถช่วยเหลือประเทศชาติได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม”

    ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
    “ปัจจัยที่ส่งผลต่อการแต่งงานหรือตัดสินใจมีบุตรมีหลากหลาย เป็นความยากในการวางนโยบาย เพราะไม่มีนโยบายใดนโยบายหนึ่งที่จะตอบคำถามได้ แต่สำหรับประเทศไทยที่คิดว่าเป็นอุปสรรคมากที่สุดคือเรื่องสภาพสังคมที่ยังไม่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวให้มีคุณภาพ เรื่องการแข่งขันที่สูงของสังคม คุณภาพการศึกษา พ่อแม่ต้องผลักดันลูกสุดกำลัง มีเงินเท่าไรก็ต้องทุ่มให้หมด ทำให้หลายคนไม่อยากจะมีลูก โดยรวมแล้วคิดว่าสังคมไทยไม่จำเป็นต้องส่งเสริมให้คนมีลูกเยอะๆ แต่จะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถมีลูกอย่างมีคุณภาพได้ น่าจะเป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย”

    คุณพันธุ์บุปผา โมรานนท์ ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์
    “เป็นปกติของครอบครัวยุคใหม่ที่ต้องมีการวางแผนเรื่องการมีลูก เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียน และอื่นๆ อีกมากมายที่ตามมา จึงส่งผลให้ต้องมีการตระเตรียมและวางแผนในการมีลูกอย่างถี่ถ้วน ส่วนตัวตั้งใจอยากมีลูก 2 คนอยู่แล้ว สำหรับเรื่องมาตราการกระตุ้นจากภาครัฐไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจมากนัก แต่ก็เป็นผลดีกับครอบครัวของเราแน่นอน เพราะนำมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปต่อยอดให้กับลูกของเราได้ในอนาคต”