แม้ภาพรวมชีวิตมนุษย์เงินเดือนกรุงเทพฯ จะรู้สึกพึงพอใจต่อชีวิตการทำงาน แต่สวนทางกับความผูกพันต่อองค์กรบริษัทต่ำ มีสถิติเปลี่ยนงานถี่เฉลี่ย 3 ปีครึ่ง โดยหวังค่าตอบแทนเพิ่ม-ทำงานกับองค์กรที่มั่นคงกว่า และวางแผนเกษียณตอนอายุ 54 ปี
เผยมนุษย์เงินเดือนแข่งขันสูง
จากการเปิดเผยผลสำรวจ “วิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือนในมิติการทำงาน และคุณภาพชีวิต” โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบว่าปี 2561 ชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานในกรุงเทพฯ เริ่มต้นที่อายุเฉลี่ย 22.4 ปี โดยกลุ่มคน Gen Y (อายุ 20-37 ปี) มีแนวโน้มเริ่มงานตอนอายุ 23.1 ปี ช้ากว่า Gen X (อายุ 38-52 ปี) ซึ่งเริ่มอายุ 21.5 ปี ซึ่งปัจจัยมาจากการที่กลุ่มคน Gen Y ใช้เวลาในวัยเรียนยาวนานขึ้น
โดยปัจจุบันพบว่าการหางานทำมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แม้ส่วนใหญ่จะเป็นการสมัครงานและแข่งขันตามปกติ 69.5% แต่ยังพบว่า มีผู้สมัครงานได้รับความช่วยเหลือจากคนรู้จัก/ใช้เส้นสายในการเข้าทำงาน สูงถึง 33.9% ขณะที่มีผู้สมัครงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา 33.5% และใช้วุฒิต่ำกว่าที่จบมาเพื่อให้มีงานทำกว่า 13.6% ซึ่ง Gen Y ต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันสูงกว่ากลุ่ม Gen X โดยมีสัดส่วนของผู้ที่ต้องการสมัครงานไม่ตรงสาขาที่เรียน และสมัครงานโดยใช้วุฒิต่ำกว่าที่เรียนจบมีสูงกว่า
เจนวาย 2 ปีครึ่งเปลี่ยนงานครั้ง
เมื่อเข้าสู่วิถีการทำงานพบว่ามีรูปแบบของการเปลี่ยนงานที่เพิ่มมากขึ้น จากผลการสำรวจพบว่ามนุษย์เงินเดือนเกินครึ่ง 55.2% มีการเปลี่ยนงานเฉลี่ย 2 แห่ง ที่น่าสนใจคืออายุงานที่ทำในแต่ละแห่งก่อนโยกย้ายเปลี่ยนที่ เฉลี่ยประมาณ 3 ปี 6 เดือน ซึ่ง Gen Y ทำงานเฉลี่ยแห่งละ 2 ปี 5 เดือน สั้นกว่า Gen X ที่เฉลี่ยแห่งละ 5 ปี 5 เดือน
คุณธน หาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคม เผยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยน งานมีอยู่สองเหตุผลหลักคือ
1. ต้องการได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการที่เพิ่มมากขึ้น
2. ต้องการทำงานกับบริษัทหรือองค์กรที่มีความมั่นคงมากขึ้น แต่จุดที่มีความแตกต่างกันของ 2 เจเนอเรชั่นคือ Gen Y มีลักษณะการเปลี่ยนงาน เนื่องจากเกิดความเบื่อ อยากเปลี่ยนแปลง ต้องการทำอะไรใหม่ๆ และมีความอดทนต่ำกว่า Gen X
ข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนงานที่ยืนยันว่าได้รับเงินเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยเงินเดือนของผู้ที่เปลี่ยนงานกับไม่เปลี่ยนก็พบว่า กลุ่มที่ทำงาน 5 ปี และมีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีเท่ากัน ที่มีการเปลี่ยนงาน 1-2 แห่ง มีเงินเดือนเฉลี่ย 20,120 บาท และกลุ่มที่เปลี่ยนงานเกิน 2 แห่งมีเงินเดือนเฉลี่ย 22,044 บาท สูงกว่าผู้ที่ไม่ย้ายงานเลยซึ่งมีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 17,602 บาท ส่วนผู้ที่ทำงาน 10 ปี เปลี่ยนงานเกิน 2 ครั้ง รับเงินเฉลี่ย 38,500 บาทสูงกว่ากลุ่มที่ไม่เปลี่ยนเลยถึงประมาณ 11,000 บาท หรือ 43% แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนงานนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังพบว่า Gen Y จำนวน 21.4% มีการประกอบอาชีพเสริม สูงกว่า Gen X ซึ่งมีอยู่ 11.6%
เผยคนทำงานผูกพันกับองค์กรต่ำ
สำหรับภาพรวมของมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ มีความพึงพอใจต่อชีวิตการทำงาน อยู่ที่ 67.1% โดยพบว่าเงื่อนไขที่มีผลต่อความพึงพอใจในชีวิตการทำงานมี 5 ด้าน ได้แก่
1. เงินเดือนค่าตอบแทน
2. การได้รับการยอมรับนับถือ
3. ความมั่นคงในการทำงาน
4. ความสัมพันธ์กับหัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา
5. ภาพลักษณ์ขององค์กร
สำหรับ 3 อันดับแรก ที่มนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ มีความพึงพอใจในชีวิตการทำงานมากที่สุดคือ
1. ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
2. ภาพลักษณ์ขององค์กร
3. ความสัมพันธ์กับหัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา
ส่วนเรื่องที่ไม่พึงพอใจมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ
1. สวัสดิการ
2. เงินเดือนค่าตอบแทน
3. ความท้าทายของงานที่ทำ
ขณะเดียวกันยังพบว่า ภาพรวมของมนุษย์เงินเดือนมีความผูกพันต่อองค์กรต่ำอยู่ที่ 40.6% ส่วนสัดส่วนผู้ผูกพันกับองค์กรสูงมี 33.5% และผู้ผูกพันปานกลาง 25.9% โดยกลุ่มผู้ทำงานในองค์กร 6-10 ปี มีสัดส่วนกว่าครึ่งมีความรู้สึกผูกพันต่ำที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ทำงานไม่เกิน 5 ปี ส่วนผู้ทำงานมากกว่า 10 ปีผูกพันสูงที่สุด แต่ก็มีถึง 1 ใน 3 ที่ไม่รู้สึกผูกพันกับองค์กร
ที่น่าสนใจคือ กลุ่มบริษัทจำกัด เป็นองค์กรที่มีแนวโน้มคนทำงานผูกพันกับองค์กรต่ำกว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงกลุ่มพนักงานบริษัทมหาชน ส่วนข้าราชการ เป็นกลุ่มที่มีความผูกพันกับองค์กรสูงที่สุด โดยแสดงให้เห็นว่าความผูกพันในองค์กรสะท้อนถึงความรู้สึกพึงพอใจในการทำงาน โดยเกี่ยวข้องกับระบบเงินเดือน ความมั่นคง ความสัมผัสกับผู้บังคับบัญชา ซึ่งบริษัทจำกัดยังไม่สามารถสร้างความพึงพอใจได้เท่ากับอีก 3 กลุ่มองค์กร ซึ่งหากเป็นด้านความมั่นคงต้องเป็นกลุ่มข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ส่วนบริษัทมหาชนมีโครงสร้างค่าตอบแทน และความก้าวหน้าทางอาชีพดีกว่า เป็นไปตามเงื่อนไขความพึงพอใจใน 5 ด้านข้างต้น
ขณะที่กลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจระบุว่า จะทำงานกับองค์กรปัจจุบันจนเกษียณมากที่สุด รองลงมาคือข้าราชการ ส่วนพนักงานบริษัทจำกัด วางแผนอนาคตไว้ว่าจะลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัวมากที่สุด รองลงมาคือพนักงานบริษัทมหาชน ขณะเดียวกันพนักงานบริษัทจำกัด ยังวางแผนย้ายไปทำงานบริษัท/องค์กรอื่นมากที่สุด โดยรองลงมาเป็นข้าราชการ
ทั้งนี้ มนุษย์เงินเดือน Gen Y คิดจะลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัวมากที่สุด รองลงมาวางแผนว่าจะทำงานจนเกษียณในบริษัท/องค์กรปัจจุบัน สวนทางกันกับ Gen X ที่ต้องการทำงานจนเกษียณในบริษัท/องค์กรปัจจุบันมากที่สุด และลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัวเป็นเรื่องรองลงมา โดยคาดว่าจะเกษียณจากการทำงานเฉลี่ยที่อายุ 54 ปี ซึ่ง Gen Y จะเกษียณตอนอายุ 53 ปีเร็วกกว่า Gen X อยู่ 2 ปี
รถติดอุปสรรคชีวิตคนออฟฟิศ
ในแต่ละวันมนุษย์เงินเดือนหมดเวลาไปกับการเดินทางไปกลับเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมง สอดคล้องกับการจราจรในกรุงเทพฯ ที่ได้ชื่อว่าติดขัดมากที่สุดในโลก โดยกลุ่มผู้พักอาศัยในปริมณฑลใช้เวลาเดินทางเฉลี่ยวันละ 2.31 ชั่วโมง มากกว่ากลุ่มที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ ประมาณ 40 นาที
เมื่อหักลบเวลาเดินทางและทำงานแล้วพบว่า มนุษย์เงินเดือนมีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากจะมีเวลาเหลือเฉลี่ย 10.24 ชั่วโมง/วัน ซึ่งเวลาดังกล่าวยังแบ่งให้กับกิจกรรมต่างๆ เช่น กินข้าว ดูโทรทัศน์ ฯลฯ เฉลี่ย 4.32 ชั่วโมง และนอนหลับพัก 5.52 ชั่วโมง/วัน หากเปรียบเทียบ Gen X แบ่งเวลาไปทำกิจกรรมต่างๆ 4.08 ชั่วโมง และนอนหลับ 6.25 ชั่วโมง แตกต่างจาก Gen Y จะทำกิจกรรมกว่า 5.12 ชั่วโมง และนอนหลับ 5.05 ชั่วโมง ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำที่ 7-9 ชั่วโมง
ทั้งหมดคือมุมมองจากฝั่งมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ ที่น่าจะสะกิดให้ผู้ประกอบการได้เก็บเอาไปเป็นการบ้าน ทั้งนี้ มนุษย์เงินเดือนก็ต้องไม่ลืมว่าประเทศได้ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่มนุษย์ ฉะนั้นสิ่งที่ควรต้องเพิ่มคือทักษะอาชีพ รวมถึงพัฒนาให้สามารถทำงานได้หลากหลาย ซึ่งจะช่วยเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ
คุณธน หาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ
“ในตลาดแรงงานทั้งปัจจุบันและอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนร่วมกันหลายส่วน ทั้งระดับนโยบายไปจนถึงสถาบันการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องมากขึ้น เพราะสิ่งที่ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นคือ
1. สภาวะการแข่งขันที่ไม่เป็นปกติ
2. คุณภาพชีวิตของมนุษย์เงินเดือนปัจจุบัน ประเมินอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างแย่
3. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรกับองค์กร ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำหรือปานกลาง อาจจะต้องมีการตรวจสอบภายในขององค์กร และ
4. การปรับทัศนคติเรื่องการเกษียณ เพราะอนาคตเราจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอาจทำให้แรงงานมีไม่เพียงพอ”
คุณปัญจาวุธ วิวิธชัย พนักงานองค์การมหาชน
“ความพึงพอใจในวิถีการทำงานมาจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ทั้งเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน รวมถึงอุปสรรค อย่างเช่น การสื่อสาร หรือการใช้ชีวิตอยู่ในองค์กร ส่วนเรื่องความสุขก็ผันแปรตามค่าตอบแทนที่ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเสมอไป อาจจะเป็นการได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก หรือมีชื่อจารึกในหน้าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งตอบแทน แต่ตอนนี้ผมเองก็อาจจะตอบไม่ได้เหมือนกันว่าความสุขอยู่ตรงไหน ซึ่งนี่อาจจะเป็นผลกระทบของการใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่ก้มหน้าก้มตาทำงานไม่ลืมหูลืมตาก็ได้”