Saturday, June 10, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    โซเชียลมีเดียมาแรงดันตลาดสินค้าความงามโต

    แม้ภาพรวมของตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภคในไทย ปี 2560 จะซบเซาลง แต่ตลาดเครื่องสำอางและความงามกลับเติบโตสูงขึ้น จากปัจจัยความนิยมของผู้บริโภคที่หันมาดูแลความงามมากขึ้น และเทรนด์การใช้โซเชียลมีเดียที่เข้ามาอิทธิพลต่อผู้บริโภค

    สินค้าความงามไทยโตทุกประเภท
    จากการเปิดเผยผลวิจัย “ตลาดเครื่องสำอางและความงามไทย (Thailand Beauty Market)” โดย กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) ผู้วิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึก พบว่าในปี 2560 ตลาดความงามของไทยมีมูลค่ารวมสูงถึง 57,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นในอัตรา 3.8% จากปี 2559


    โดยที่ในกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางและความงาม 4 กลุ่มย่อยมีทิศทางการเติบโตสูงขึ้นสอดคล้องกับภาพรวมของตลาด ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า (Face Care) ครองสัดส่วนมูลค่าตลาดรวม 40% มีอัตราการเติบโตขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผมและศีรษะ (Hair Care) มีสัดส่วนตลาดที่ 33% เติบโตขึ้น 0.8% ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์เมคอัพ (Make Up) สัดส่วนตลาดที่ 16% เติบโตขึ้น 8.7% และกลุ่มผลิตภัณฑ์บอดี้แคร์ (Body Care) มีสัดส่วนตลาดต่ำสุดที่ 11% เติบโตขึ้น 3.5% ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ผู้บริโภคชาวไทยที่ใส่ใจดูแลความสวยความงามมากขึ้น

    คนเมืองมีอิทธิผลต่อตลาดเมคอัพ
    เมื่อเจาะลึกในกลุ่มสินค้า Make Up จะเห็นว่าสินค้าประเภทใช้เป็นประจำเป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดการเติบโต ได้แก่ ดินสอเขียนคิ้ว รองพื้น และลิปสติก ซึ่งมียอดขายจากผู้ซื้อปัจจุบัน 74% ตลอดจนการขยายตัวของ ผู้ซื้อรายใหม่อีก 4% โดยเป็นผู้ที่อยู่ในเขตตัวเมืองเป็นส่วนใหญ่กว่า 60% ซึ่งการเติบโตนี้เกิดจากปัจจัยของการซื้อที่ตอบสนองด้านอารมณ์ที่สามารถเพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง จากไลฟ์สไตล์คนเมือง ทั้งการออกไปแฮงเอาท์ การติดตามเทรนด์แฟชั่นและอิทธิพลจากสื่อโซเชียลมีเดีย 

    อีกปัจจัยหนึ่งของการขยายตลาดสินค้าเครื่องสำอางและความงามให้เติบโตขึ้น ยังมาจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายและครอบคลุมความต้องการ อย่างผลิตภัณฑ์ประเภทการล้างเครื่องสำอาง (Make Up Remover) และประเภทมาร์คหน้า (Mask) ก็เป็นสินค้าที่มีความนิยมมากขึ้น ทำให้ส่งผลต่อยอดขายได้ถึง 14% และ 12% ตามลำดับ ประกอบกับคนไทยยังมีพฤติกรรมด้านความงามที่เปลี่ยนไป โดยให้ความสำคัญกับการดูแลผิวหน้าด้วยการเพิ่มขั้นตอนในการดูแล เห็นได้จากกลุ่มสกินแคร์ ที่ผู้ใช้มีการเพิ่มขั้นตอนดูแล 3 สเต็ป ถึง 5 สเต็ปด้วยสัดส่วนที่สูงขึ้น
    กลุ่มมิลเลนเนียลคือผู้ซื้อหลัก
    สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่มีผลต่อการเติบโตของตลาดรวมของผลิตภัณฑ์ความงามมากที่สุดคือ กลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) ที่มีอายุ  23-39 ปี ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน โดยยึดครองส่วนแบ่งในตลาด 43% ทั้งในแง่ของมูลค่าและปริมาณ 

    ขณะที่ภาพรวมในด้านกำลังซื้อ และแบรนด์ที่เลือกใช้ระหว่างผลิตภัณฑ์ Mass Brand อาทิเช่น Mistine, Garnier, Ponds, Nivea และ Olay ฯลฯ กับ Premium Brand อย่างเช่น Dior, Estee Lauder, L’Oréal, Artistry, La Mer ฯลฯ โดยผู้บริโภคมีกำลังซื้อสินค้าความงามประเภทแมสแบรนด์ เฉลี่ย 176 บาทในปริมาณ 100 มล. ส่วนพรีเมี่ยม แบรนด์ เฉลี่ย 536 บาทในปริมาณ 100 มล. 

    โลกออนไลน์เปลี่ยนพฤติกรรมคนซื้อ
    จากการที่ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2560 ขยายตัวด้วยมูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท อีกทั้งแนวโน้มผู้บริโภคได้หันมาจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดสินค้าความงามเกิดการเปลี่ยนแปลงตาม โดยผู้หญิงไทยกว่า 86% เข้าโซเชียลมีเดียและมีการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าก่อน แตกต่างจากยุคก่อนที่ต้องไปสอบถามตามเคาน์เตอร์แบรนด์ถึงจะได้รับข้อมูลผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกัน 71% มีแนวโน้มซื้อสินค้าจากการรับข่าวสารทางออนไลน์ รวมทั้งปัจจุบันยังมีการแจกตัวอย่างผ่านการเล่นเกมทางเพจต่างๆ นอกจากนั้น 70% กลุ่มวัยรุ่นที่ใช้ยูทูบจะเชื่อ Influencer มากกว่าดาราหรือคนดัง นอกจากนี้ยังเกิดเทรนด์ Micro-Influencer คนที่มีความสนใจเฉพาะทาง ซึ่งมีผู้ติดตามเฉพาะกลุ่ม แต่มีความสัมพันธ์และได้รับความน่าเชื่อถือ 

    ขณะที่ทิศทางพฤติกรรมผู้บริโภคด้านความงามในปี 2561 มีความต้องการผลิตภัณฑ์ความงามที่เป็นการป้องกัน หรือ Anti-Aging  มากกว่าการแก้ไขอย่างเมื่อก่อน อีกทั้งต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทสวยเร่งด่วน และสะดวกสบาย แบบออล-อิน-วัน ที่หลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเน้นที่ความเป็นธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ นอกจากนี้สินค้ายังต้องมีเรื่องราวความเป็นมา และทันยุคสมัย 

    สำหรับทิศทางและอนาคตของผลิตภัณฑ์กลุ่มความงามสำหรับตลาดในประเทศไทยนั้น ยังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกมาก การเข้ามาของแบรนด์ดังและแบรนด์พรีเมี่ยมจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของตลาดแบรนด์ไทย นอกจากนี้ ช่องทางออนไลน์ เป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญยิ่งในอนาคต 


    คุณอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์)
    “หากดูไลฟ์สไตล์แล้วจะพบว่าผู้บริโภคไทยนิยมดูแลความสวยความงาม และแต่งหน้ามากขึ้น ทำให้ในปีนี้ตลาดสินค้าความสวยงามมีโอกาสที่จะเติบโตสูง โดยกลุ่มที่จะเติบโตมากขึ้นคือ Make Up และ Face Care เนื่องจากเริ่มมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้เลือกใช้ รวมถึงคนเริ่มดูแลผิวกายมากขึ้น ขณะเดียวกันเรื่องรายได้ที่ไม่สูงมากนัก อาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้การใช้จ่ายในผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงทำได้จำกัด ฉะนั้นแมสแบรนด์จึงยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ดีกว่า”