ที่ผ่านมาไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนที่ทำสถิติมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัวเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวปริมาณมากที่หลั่งไหลเข้ามา รวมทั้งคัดคุณภาพ โดยเฉพาะการเจาะตลาดกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มศักยภาพที่มีกำลังซื้อสูง
ดันท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รับนักท่องเที่ยวจีนคุณภาพ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่า ปี 2561 แนวโน้มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะมีมูลค่ามากถึง 3.03 ล้านล้านบาท โดยมีอัตราเติบโต 9.12% ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 37.81 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.8% จากปีก่อน สามารถสร้างรายได้ 2.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.73% และคาดว่ามากกว่า 1 ใน 3 จะเป็นนักท่องเที่ยวจีน
เมื่อเทียบสถิติในปีที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากกว่า 30 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีนมากกว่า 8.8 ล้านคน เป็นสถิติสูงที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวท็อปฮิตของชาวจีน โดยสถิติจากหน่วยงานการท่องเที่ยวของทางการจีนระบุว่า ปี 2560 นักท่องเที่ยวที่มาไทยมีถึง 70% เป็นกลุ่มเที่ยวด้วยตัวเอง หรือ Free Independent Travellers (FIT) โดยจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรมเอง แล้วออกสำรวจเส้นทางต่างๆ โดยใช้โทรศัพท์มือถือช่วยแปลภาษา และบอกเส้นทางเพื่อป้องกันหลงทางและถูกเอาเปรียบขณะเดียวกันแนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ในไทยก็ได้รับความนิยมจากชาวจีนเพิ่มขึ้น
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า จากแนวโน้มการท่องเที่ยวทางเลือก (Alternative Tourism) ประกอบด้วย การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ (Green Tourism) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) พบว่า ในช่วงย้อนหลัง 4 ปีที่ผ่านมา ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยมีสถิติที่น่าสนใจ โดยในแต่ละปี มีจำนวน Visit ที่มาท่องเที่ยวไทยมากถึง 2 ล้าน Visit โดยเฉพาะบางปี ทำสถิติทะลุเป้าถึง 2.3 – 2.4 ล้าน Visit เลยทีเดีย
โดยทาง ททท. เตรียมเปิดศูนย์ Fertility Center หรือ “ศูนย์กลางการบริการด้านการทำผสมเทียม” ในไทย 15 ศูนย์ เน้นกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สอดคล้องกับที่รัฐบาลจีน ประกาศให้ประชากรสามารถมีบุตรคนที่ 2 ทำให้ไทยต้องเตรียมพร้อมรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีบุตรยาก หรือ Fertility Tourism ที่มีถึง 90 ล้านคู่เข้าประเทศ ซึ่งนับเป็นโอกาสทองของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ทั้งธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรงและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการวงการแพทย์เพื่อการมีบุตร ธุรกรรมด้านการท่องเที่ยว โรงแรม-รีสอร์ต ฟิตเนส สปา แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร กูรูและโค้ชด้านสุขภาพ นักโภชนาการ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญเพื่อสุขภาวะเพื่อการมีบุตร เพื่อรองรับการให้บริการอย่างครบวงจร
โดยกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคู่สมรสชาวจีนผู้มีบุตรยาก 90 ล้านคู่นี้ เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีคุณภาพ มีกำลังซื้อสูง ประเมินว่า แต่ละคู่ที่เข้ามาท่องเที่ยวรับบริการ จะใช้จ่ายเงินประมาณ 500,000-600,000 บาท ซึ่งบางคู่อาจต้องใช้เงินสูงถึง 1–1.2 ล้านบาท เลยทีเดียว
จับตานักท่องเที่ยวตะวันออกกลางใช้จ่ายสูง
จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในปี 2560 นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลาง เดินทางมาเที่ยวไทยประมาณ 7.90 แสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวไทยทั้งหมด
แม้จะเป็นสัดส่วนไม่มากนัก แต่นักท่องเที่ยวตะวันออกกลางได้รับความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจากเป็นกลุ่มมีศักยภาพที่มีกำลังซื้อสูง มีค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในไทยมูลค่าประมาณ 6.19 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3.4% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมด โดยพบว่ากลุ่มระดับบนมีการใช้จ่ายสูงโดยเฉลี่ย 100,000 บาทคนต่อทริป ส่วนใหญ่จะเข้ามาท่องเที่ยว พักผ่อน และเดินทางเข้ามารักษาพยาบาล
นอกจากนี้ จากการสำรวจดัชนีการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมทั่วโลก ประจำปี 2018 (The Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index: GMTI 2018) ระบุว่า ไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ใช่ชาติมุสลิม (Non-OIC) เป็นจุดหมายที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม อันดับ 2 ของโลก รองจากสิงคโปร์ จากการเพิ่มร้านอาหารฮาลาล และส่งเสริมให้ไทยเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2561 ตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางอาจจะหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการแข่งขัน โดยคาดว่า จะมีจำนวนประมาณ 7.57-7.79 แสนคน หดตัวประมาณ 4.2-1.4% จากที่ขยายตัว 5.7% ในปี 2560
สำหรับรายได้ในด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทยคาดว่า จะมีมูลค่าประมาณ 6.06-6.25 หมื่นล้านบาท หดตัวประมาณ 2.1-1.0% จากที่ขยายตัว 8.3% ในปี 2560
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า ชาวซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ อิหร่าน โอมาน และจอร์แดน เดินทางเที่ยวไทยน้อยลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเดินทางท่องเที่ยวไปประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยยังคงเติบโตได้ดี โดยเฉพาะอิสราเอลและคูเวต โดยพบว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากคูเวตเที่ยวไทยมีค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงกว่านักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ กอปรกับประเทศคูเวตยังไม่เริ่มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศ
ทั้งนี้ จากผลงานของภาครัฐและภาคเอกชน ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ในปริมาณมากอย่างปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวระดับกลางและบน เนื่องจากนโยบายรัฐ อาทิ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ และการพัฒนามาตรฐาน QR Code ที่เข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ไทยสามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น