Friday, December 8, 2023
More

    อีสปอร์ต เปลี่ยนเด็กติดเกมสู่อาชีพสร้างอนาคต

    ปัจจุบันเกมออนไลน์ถูกพัฒนาให้กลายเป็นอีสปอร์ต (Esports) กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถพัฒนาผู้เล่นให้เป็นนักกีฬามืออาชีพสร้างรายได้อย่างมหาศาล ขณะเดียวกันก็ได้รับการยอมรับจากภาครัฐมากขึ้น โดยล่าสุด สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยเตรียมส่งนักกีฬาอีสปอร์ตเข้าร่วมแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2018 ระหว่างวันที่ 18 ส.ค.-2 ก.ย. นี้

    เกมเมอร์ไทยอนาคตสดใส 
    ปัจจุบันจำนวนคนดูการแข่งขันอีสปอร์ตทั่วโลกมีประมาณ 380 ล้านคน แต่หากพูดถึงความนิยมของอีสปอร์ตในบ้านเรา นับว่าเพิ่งอยู่ในยุคเริ่มต้น หรือจุดที่กำลังจะก้าวไปสู่นักกีฬามืออาชีพ มีคนเล่น มีการแข่งขัน แต่ยังไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ในวันนี้ แม้ว่านักกีฬาอีสปอร์ตจะมีเงินเดือน แต่ก็ยังไม่มากพอเท่ากับการเรียนจบแล้วไปทำงานได้

    คุณปวิธ ถาวรเลิศรัตน์ และคุณรฐนนท์ พลานนท์ แห่ง Studio Invate ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการแข่งขัน Esports ให้คำจำกัดความของความแตกต่างระหว่าง เกมออนไลน์ กับ อีสปอร์ต ว่า เกมคือเอ็นเตอร์เทนเมนท์อย่างหนึ่ง ซึ่งพอมีการแข่งขันเข้ามาและมีกติกาที่ยุติธรรม เกมนั้นสามารถเป็นอีสปอร์ตได้ ฉะนั้น เกมใดก็ตามที่สามารถแข่งขันบนความเท่าเทียมได้ เกมนั้นคืออีสปอร์ต โดยตลาดเกมในประเทศไทยถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าจับตา ด้วยมูลค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้น และความนิยมของผู้เล่นเกมที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น

    ผลสำรวจจาก newzoo เว็บไซต์ข้อมูลวิจัยทางด้านการตลาดอีสปอร์ตโลก ข้อมูล ณ เดือน มิ.ย. 2561 ระบุว่าประเทศไทยมีเกมเมอร์รวมทั้งสิ้น 18.3 ล้านคน มียอดการใช้จ่ายในตลาดเกมสูงถึง 692 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยติดอันดับ Top 20 ตลาดเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

    สำหรับกระแสความนิยมในประเทศ การกีฬาแห่งประเทศไทยมีมติเห็นชอบพิจารณาให้อีสปอร์ต เป็นกีฬาที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมได้เหมือนกับกีฬาปกติทั่วไป โดยได้รับการเซ็นอนุมัติรับรองตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 


    ล่าสุด สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศ ไทย หรือ Thailand Esports Federation (TESF) ออกมายืนยันแล้วว่า อีสปอร์ตได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นกีฬาสาธิตในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2018 ครั้งที่ 18 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่าง 18 ส.ค.-2 ก.ย. 2561 พร้อมประกาศชื่อเกมที่จะใช้แข่งขันออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่
    1. League of Legends (LoL)
    2. Arena of Valor (RoV)
    3. StarCraft II
    4. Hearthstone
    5. Pro  Evolution Soccer 2018
    6. Clash Royale

    โดยสมาคมฯ  เตรียมส่งนักกีฬาอีสปอร์ตไทยเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ด้วย

    อนาคตคนเล่นเกมทำอะไรได้บ้าง
    หากพูดถึงรายได้ของเกมเมอร์ในประเทศไทย ย้อนไปเมื่อสมัย 5 ปีก่อนจะเริ่มต้นเพียงหลักพันเท่านั้น แต่ปัจจุบันความนิยมเพิ่มมากขึ้น คนเล่นเกมที่ยึดเป็นอาชีพ เงินเดือนจะเริ่มต้นที่ 15,000 บาท ขณะที่เงินเดือนของโปรเพลเยอร์ในการแข่งขัน RoV Pro League เริ่มต้นที่ 50,000 บาทต่อเดือน

    นอกจากการเล่นเกมจะสามารถทำเป็นอาชีพและสร้างรายได้แล้ว หากคนเล่นเกม (Player) ฝึกฝนจนเก่งก็จะพัฒนาเป็นโปรเพลเยอร์ (Pro Player) ที่สามารถทำอาชีพอื่นๆ นอกเหนือจากเป็นนักเล่นเกมได้ด้วย เช่น สตรีมเมอร์ (Streammer) คนที่เล่นเกมให้คนอื่นดูบนแพลตฟอร์ม Twitch และ Youtube โดยสตรีมเมอร์อันดับต้นๆ ของไทย มีคนดูต่อเดือนอยู่ที่ 40 ล้านนาที รายได้อยู่ที่ 400,000-500,000 บาทต่อเดือน 

    ทั้งนี้ หากโปรเพลเยอร์มาถึงจุดหนึ่งก็จะพัฒนาเป็นผู้ฝึกสอน (Coach) เพราะจากสถิติทั่วโลกระบุว่า คนที่เล่นเกมเก่งๆ จะอยู่ในช่วงอายุ 15-23 ปี พอมากกว่านั้นสกิลจะช้าลง แต่สามารถผันตัวเองมาทำอาชีพอื่นๆ ในวงการเกมได้

    ไม่เพียงแต่เกมเมอร์ที่ทำรายได้จากการเล่นอีสปอร์ตเท่านั้น เพราะเมื่อมีการจัดการแข่งขันอย่างจริงจัง ก็มีหลากหลายอาชีพพ่วงเข้ามา เกิดเป็น Business Cycles หรือวงจรธุรกิจอีสปอร์ต เช่น การแข่งขันอีสปอร์ตหนึ่งครั้ง จะประกอบด้วย Tournament Management คือคนจัดการแข่งขัน หรือเจ้าของลีก ซึ่งใน Tournament ก็จะประกอบด้วย Organizer และ Live Broadcasting ซึ่งเป็นอีกสายอาชีพหนึ่งของอีสปอร์ต ที่เรียกว่าทีม Production นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Developer คนสร้างเกม รวมถึง Plubisher บริษัทที่ซื้อเกมเข้ามาแล้วนำมาเผยแพร่ในไทย

    วงการธุรกิจบุกตลาดอีสปอร์ตไทย
    ปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตเกมอีกมากที่กำลังขยายตลาด เพื่อรองรับเกมเมอร์และอีสปอร์ตฟีเวอร์ อีกทั้งยังมีบริษัทเกมออนไลน์ของไทยหลายเจ้าที่ได้รับความนิยมจากเกมเมอร์มากมาย นอกจากนี้ ยังมีหลายสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรเกมอีสปอร์ต เพื่อผลิตคนป้อนอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต ที่ยังขาดแคลนจำนวนมากเช่นกัน

    ล่าสุด บริษัท อินโฟเฟด จำกัด ได้ลงทุนเปิด Thailand Esports Arena สนามกีฬาอีสปอร์ตที่รองรับการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตได้ทุกรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย บนพื้นที่กว่า 1,000 ตร.ม. บนชั้น 5 ศูนย์การค้า The Street รัชดา เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยการเชื่อมต่อกับสถานศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มาเป็นกำลังสนับสนุนแลกเปลี่ยนความรู้พัฒนาศักยภาพของนักกีฬาและวงการกีฬาอีสปอร์ตในประเทศไทยให้มีศักยภาพไปถึงเวทีการแข่งขันระดับโลก

    ขณะเดียวกัน ภาครัฐและเอกชนชั้นนำในไทยได้สนับสนุนการจัดโครงการ Pantip Esport Academy X U-League 2018 เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียน นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกีฬาอีสปอร์ต พัฒนาทักษะในการก้าวเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ให้พร้อมเข้าสู่สนามแข่งขันในระดับสากล ตลอดเดือน  ก.ค.-พ.ย. 2561

    คุณวีรฤทธิ์ สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้จัดการบริหารทรัพย์สิน ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ บริษัท แอสเสท เวิรด์ รีเทล จำกัด เปิดเผยว่า ทางศูนย์การค้าฯ ได้เปิดโอกาสให้กับพาร์ทเนอร์แบรนด์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการใช้พื้นที่เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมหรือจัดกิจกรรมด้านกีฬาอีสปอร์ตร่วมกับทางศูนย์การค้าฯ อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ให้นักกีฬาอีสปอร์ต และผู้สนใจเข้าใช้ห้องประลองฝีมือโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายโดยถือเป็นโอกาสได้พบปะกลุ่มผู้สนใจกีฬาอีสปอร์ต ตลอดจนแบ่งปันทักษะ เทคนิคในการเล่นเกม ซึ่งโครงการดังกล่าว ถือเป็นกิจกรรมการแข่งขัน อีสปอร์ตระดับมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

    ด้าน LiveMe โซเชียลเน็ตเวิร์คจากทวีปอเมริกาเหนือ ประกาศเปิดแพลตฟอร์มถ่ายทอดสดการแข่งขันอีสปอร์ตบนมือถือสำหรับเกมเมอร์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ Fluxr ด้วยความตั้งใจที่จะยกระดับประสบการณ์เล่นเกมให้กับคอเกมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยฟีเจอร์โต้ตอบระหว่างผู้ใช้งานที่มีความทันสมัย

    ขณะที่สตาร์ทอัพไทยหน้าใหม่ คุณธนโชติ เกียรติบรรจง ผู้อยู่ในวงการอีเวนท์ออแกไนซ์ทางด้านเกมและอีสปอร์ตมาเป็นเวลานาน ผันตัวเองมาสร้าง Kochii แพลตฟอร์มที่ช่วยสอนการเล่นเกมอีสปอร์ตให้เก่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการสอนจากโค้ชในระดับ Professional Player เพื่อรองรับคนเล่นเกมที่อยากมีฝีมือเก่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างช่องทางหารายได้เพิ่มให้กับโปรเพลเยอร์ที่ผันตัวเองมาเป็นโค้ชด้วยเช่นกัน

    แม้อีสปอร์ตจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ แต่สำหรับไทยยังคงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจถึงโครงสร้างกีฬาอีสปอร์ต ว่าไม่ใช่แค่เกมที่แข่งขันบนแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น แต่อีสปอร์ตอาจเป็นอีกหนึ่งอาชีพในยุคดิจิทัลมาแรงและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ 


    คุณวีรฤทธิ์ สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้จัดการบริหารทรัพย์สิน ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ บริษัท แอสเสท เวิรด์ รีเทล จำกัด
    “อีสปอร์ตในประเทศไทย ได้รับการประกาศให้เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้นักกีฬาอีสปอร์ตสามารถเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกได้ และถือเป็นกีฬารูปแบบใหม่ที่มีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงเปิดกว้างให้กับอาชีพใหม่ๆ   อาทิ นักกีฬาอีสปอร์ต, นักพากย์ รวมถึง  นักออกแบบและสร้างเกมอีกด้วย”

    คุณปวิธ ถาวรเลิศรัตน์ แห่ง Studio Invate ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการแข่งขันอีสปอร์ต
    “คนเล่นเกมเก่งระดับโปรเพลเยอร์ในไทยยังมีน้อย มีเพียง 0.1% เท่านั้น เพราะโปรเพลเยอร์ต้องมีวินัยสูง มีไหวพริบดี ไม่ได้เล่นแค่สนุก แต่เล่นอย่างมีการวางแผน ฉะนั้น ต้องเลือกว่าจะเป็นแค่คนเล่นเกม หรือจะทำเกมให้เป็นอาชีพ ในอนาคตถ้าอีสปอร์ตได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จะมีทั้งงาน มีอาชีพ สร้างรายได้มหาศาล เราห้ามคนเล่นเกมไม่ได้ แต่เราสามารถทำประโยชน์จากสิ่งนี้ได้”

    คุณรฐนนท์ พลานนท์ แห่ง Studio Invate ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการแข่งขันอีสปอร์ต
    “ผมคาดหวังว่า สิ่งที่ภาครัฐจะเข้ามาช่วยได้คือ ทำอย่างไรให้อีสปอร์ตได้รับการยอมรับมากขึ้น ทำให้คนแยกให้ออกระหว่างเด็กติดเกมกับคนเล่นอีสปอร์ต การทำให้ผู้ปกครองเข้าใจคือสิ่งสำคัญ เพราะถ้าผู้ปกครองไม่เข้าใจ เด็กก็จะพัฒนาเป็นนักกีฬาไม่ได้ แต่ถ้าเด็กเป็นนักกีฬาได้แล้ว แต่ไม่มีผลงาน ไม่มีรายได้ ก็ไม่โอเค ฉะนั้น ต้องมองให้เห็นภาพรวมของโครงสร้างอีสปอร์ตว่าสามารถทำประโยชน์อะไรได้บ้าง”

    คุณธนโชติ เกียรติบรรจง สตาร์ทอัพผู้พัฒนา Kochii แพลตฟอร์มสอนเล่นเกมสู่โปรเพลเยอร์
    “เราอยากขับเคลื่อนให้การเล่นเกมสามารถเป็นอาชีพได้จริงๆ สามารถหารายได้ไปกับสิ่งที่รัก ซึ่งค่านิยมของสังคมไทยยังมองว่าเกมเป็นเรื่องไร้สาระและยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร จนได้มีการเพิ่มเกมเข้าไปในการแข่งขันเรียกว่ากีฬาอีสปอร์ต นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนที่เล่นเกมอย่างจริงจังสามารถทำสิ่งที่ตนถนัดได้อย่างเต็มที่และสร้างรายได้ด้วย”

    [English]
    eSports, A Promising Career for Gamers

    Video and online gamers now have a more solid and promising future with eSports, an evolution that is increasingly accepted and recognized even by governments and provides an opportunity for substantial income.

    Currently, it is estimated that there are about 380 million eSports audience around the world but this emerging genre of sports remains known among a limited group of people in Thailand, where only a handful of eSports athletes are starting to develop their skills to compete to make a living.

    According to Studio Invate, a noted eSports organizer, when online games are equipped with fair rules of competition, they can now be called “eSports” and such a transformation is making Thailand’s game sector an interesting industry, particularly due to its growing value and number of players.

    A study by Newzoo, a leading global market intelligent provider, there were 18.3 million gamers in Thailand in June 2018, when the market value was estimated at US$692 million — making the country one of the world’s top-20 online game markets.

    The Thailand E-Sports Federation (TESF) recently confirmed that eSports are also included in the list of demonstration sports at the 2018 Asian Games in Indonesia, which will take place during August 18 and September 2, and Thailand will send some eSports athletes to join too.

    Right now, professional online gamers in Thailand are said to be making around 15,000 baht a month and those noted as “Pro Players” in the RoV Pro League reportedly make 50,000 baht per month, while successful streamers can earn as much as 400,000-500,000 baht monthly.