ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ขยะในกรุงเทพฯ มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละวันมีขยะเท่ากับรถยนต์เกือบ 9 พันคัน ก่อภาระในการจัดเก็บและกำจัดด้วยงบมหาศาล ทำให้ กทม. จ่อขึ้นค่าเก็บจัดการขยะ เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้
ขยะในเมืองกรุงทะลักวันละ 10,678 ตัน
กรุงเทพมหานครมีแนวโน้มที่ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทุกปี จากข้อมูลค่าเฉลี่ยปริมาณมูลฝอย โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. พบว่าช่วงระหว่างปี 2555 – 2557 ขยะมีปริมาณวันละ 9,700 – 9,900 ตันต่อวัน แต่ในปี 2558 เป็นต้นมาปริมาณขยะทะลุวันละ 10,000 ตัน โดยในปี 2561 เฉลี่ยกว่า 10,678 ตันต่อวัน
โดยในแต่ละปี กทม. ใช้งบประมาณในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยทั้งด้านการจัดเก็บ และกำจัดขยะมูลฝอย ด้วยการฝังกลบ การเผาในเตาเผา การทำปุ๋ยหมักและวิธีอื่นๆ สูงถึงปีละประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้เพียงปีละ 500 ล้านบาท ซึ่งยังใช้อัตราค่าธรรมเนียมการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยมาตั้งแต่ปี 2546 เป็นระยะเวลากว่า 15 ปี ขณะที่กฎกระทรวงสาธารณสุข ได้ขยับอัตราขึ้นไปแล้วเมื่อช่วงเดือน ก.ย. ปี 2559 จาก 40 บาท เป็น 65 บาท และจัดเก็บค่าธรรมเนียมกำจัด 155 บาท รวมเป็น 220 บาท/ครัวเรือน/เดือน ส่วน พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ที่ประกาศเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2560 ก็มีค่าธรรมเนียมเก็บขน 150 บาท ค่ากำจัด 200 บาท รวมทั้งสิ้น 350 บาท/ครัวเรือน/เดือน ทั้งนี้โดยเฉลี่ย กทม. ต้องใช้เงินในการจัดการขยะครัวเรือนละ 226 บาท/เดือน จึงมีการเสนอกำหนดปรับปรุงค่าบริการตามต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แท้จริง และสอดคล้องกับกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมากที่สุด
คนกรุงเตรียมรับมือ ตุลาฯ นี้ขึ้นค่าเก็บขยะ
จากการที่คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม สภา กทม. ได้มีการร่างข้อบัญญัติกรุงเทพฯ เรื่องค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. …. เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มบังคับใช้ในตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 นี้ (ดูค่าธรรมเนียมการให้บริการฯ ในอินโฟกราฟิก)
คุณวัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อบัญญัติกรุงเทพฯ เรื่องค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. …. ตามแนวทางของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในการจัดทำและเสนอกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยหลังจากนี้จะดำเนินการรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะจากประชาชนที่ได้รับฟังความคิดเห็นผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เข้าสู่ระบบการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ประกอบการพิจารณากฎหมายต่อไป
ตั้งจุดดรอปออฟขยะอันตราย
ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานคร ได้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและบริหารจัดการขยะ โดยบนถนนสายหลัก จะทำการจัดเก็บขยะทุกวัน ก่อนเวลา 05.30 น. ขณะที่ถนนสายรองจะจัดเก็บไม่ให้มีขยะตกค้างในพื้นที่ ทั้งจัดเก็บขยะจากตลาดสดทุกวัน และขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกขยะชิ้นใหญ่ ขยะรีไซเคิล เพื่อจัดเก็บทุกวันอาทิตย์ ส่วนขยะอันตราย จัดเก็บทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน หรือตามที่สำนักงานเขตกำหนดเก็บขยะตามประเภท และแจ้งจุดพักขยะให้ทราบ
พร้อมกันนี้เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการคัดแยกขยะอย่างเป็นรูปธรรม กรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกับ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ตั้งจุดรวบรวมขยะอันตรายจากประชาชน (Drop off) ภายในสถานีบริการน้ำมันเชลล์ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 106 สถานี และยังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ออกแบบเส้นทางการเก็บขน (Route map) พร้อมควบคุมเส้นทางการขนส่งด้วยระบบ GPS มาใช้กับรถเก็บขนมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ซึ่งในกระบวนการกำจัดมูลฝอยกรุงเทพมหานครได้นำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นการแปรรูปมูลฝอยเป็นพลังงานมาใช้ในการบริหารจัดการขยะให้เกิดความยั่งยืน
ขยะพิษปัญหาที่ต้องได้รับการกำจัด
ปัญหาขยะพิษนับเป็นอีกเรื่องที่มีการพูดถึงและต้องเร่งหาวิธีการแก้ไขโดยเร็ว ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าในปี 2559 ขยะพิษจากบ้านเรือนมีปริมาณ 6 แสนตัน ขณะเดียวกันมาจากส่วนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายประมาณ 2.8 ล้านตัน
คุณกะรัตลักษณ์ เหลี่ยมเพชร นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่าขยะพิษเกิดขึ้นจากกิจกรรมหลัก 2 ประเภท คือ ขยะครัวเรือน เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กระป๋องสเปรย์ ซึ่งมีสารอันตราย เช่น ปรอท ตะกั่ว และสารหนู เป็นองค์ประกอบ จึงต้องมีการกำจัดอย่างถูกวิธีในโรงงานกำจัดขยะอันตราย แต่ไทยยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดแยกและกำจัดขยะอย่างเป็นระบบ ทำให้ครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่มีการแยกขยะก่อนทิ้ง อีกทั้งซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าก็นำขยะอันตรายมาคัดแยกและขายเฉพาะส่วนที่มีมูลค่า จึงไม่สามารถติดตามได้ว่าขยะพิษถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องหรือไม่
อีกประเภทคือ ขยะจากภาคอุตสาหกรรม หรือกากอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่งการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากพบว่ามีโรงงานที่ลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม แม้มีกฎหมายโรงงาน และกฎหมายวัตถุอันตราย ซึ่งกำหนดให้ผู้ก่อกำเนิดขยะ (Waste Generator) ต้องขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานเพื่อนำไปกำจัด โดยต้องระบุปริมาณขยะ ผู้ขนส่ง และโรงงานรับกำจัดซึ่งต้องมีใบอนุญาตจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แต่ในปี 2559 พบว่ามีผู้ขออนุญาตเพียง 40% เท่านั้น ที่เหลืออีกราว 1.6 ล้านตันคือขยะพิษที่ไม่มีการขออนุญาตนำไปกำจัด และอาจลักลอบทิ้งอย่างผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ ขยะพิษต้องกำจัดในโรงงานกำจัดขยะพิษที่ได้รับใบอนุญาตและมีมาตรฐานจาก กรอ. แต่ในขณะนี้ไปไม่ถึงโรงงานที่กำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายหรือขยะพิษได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งประเทศไทยมีโรงงานที่สามารถกำจัดสารพิษได้ทุกประเภทเพียง 4 แห่งเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีเตาปูนซีเมนต์ซึ่งสามารถเผาขยะพิษได้บางประเภท อีกทั้งมีผู้ประกอบการโรงงานกำจัดขยะพิษจำนวนน้อย ซึ่งอาจทำให้เกิดการกำหนดราคาและผูกขาดตลาดได้
ชงมาตรการขจัดปัญหาขยะพิษ
ขณะเดียวกันได้เสนอให้มีการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ โดยในข้อแรก แก้ปัญหาการจัดการขยะพิษจากครัวเรือน ด้วยการผลักดันกฎหมายซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipments) มาบังคับใช้โดยเร็ววัน ซึ่งผู้ผลิตต้องรับคืนซากอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปกำจัด ตัวอย่างในญี่ปุ่น มีการกำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท รวมทั้งผู้ใช้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการกำจัดร่วมกับผู้ผลิตบางประเภท
ข้อ 2 แก้ปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยปรับปรุงการกำกับดูแล เริ่มจาก กรอ. ควรเปิดเผยข้อมูลปริมาณการขออนุญาตกำจัดกากอุตสาหกรรมต่อสาธารณะ มีความโปร่งใสในการตรวจจับโรงงานที่ไม่ถูกต้อง และมีมาตรการในการยกเลิกใบอนุญาตของบริษัทที่กระทำผิดชัดเจนและจะต้องเพิ่มโทษปรับ ในระยะยาวต้องมีหน่วยงานกำกับดูแล เรื่องสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง เนื่องจาก กรอ. เป็นหน่วยงานหลักทั้งกำกับดูแลส่งเสริมอุตสาหกรรม และกำกับดูแลด้านมลพิษอุตสาหกรรม จึงอาจทำให้ไม่เป็นกลาง ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือ Environment Protection Agency (EPA) กำกับดูแลมาตรฐานมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม
และข้อ 3 สนับสนุนผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและความพร้อมในการจัดการกากอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากหากมีขยะพิษและขยะอุตสาหกรรมทั่วไปเข้าสู่ระบบการกำจัดอย่างถูกหลักเพิ่มขึ้น จะทำให้โรงงานรับกำจัดขยะอันตรายที่มีอยู่น้อยรายในตลาดถือโอกาสเพิ่มราคาการกำจัด รวมถึงกำลังการกำจัดขยะอาจไม่เพียงพอกับปริมาณที่จะเข้ามาในระบบกว่าเท่าตัว
สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่าต้นทางของขยะส่วนใหญ่มาจากการใช้งานในชีวิตประจำวันของเราทุกคน การไม่คัดแยกขยะ ทิ้งขยะพิษรวมกับขยะมูลฝอย เป็นเหตุทำให้การกำกับดูแลและจัดการขยะครัวเรือนได้ยาก หากจำกันได้ว่าครั้งหนึ่งบ้านเราเคยรณรงค์เรื่องตาวิเศษเห็นนะ ทิ้งขยะให้ลงถัง ซึ่งโดยรวมก็ดีขึ้นมาก หากจะเพิ่มการคัดแยกเข้ามาอีกก็คงจะเป็นผลดีอีกขั้น รวมถึงการลดขยะ อย่างน้อยงดถุงรับพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวลง นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะช่วยส่วนรวมแล้ว ก็อาจจะช่วยลดรายจ่ายค่าขยะลงได้ไม่มากก็น้อย
คุณกะรัตลักษณ์ เหลี่ยมเพชร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
“รัฐต้องเข้ามาจัดการปฏิรูปการกำจัดขยะของประเทศ ออกกฎหมาย และแคมเปญรณรงค์ ให้ประชาชนตระหนักเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะจากครัวเรือน และแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอันตรายให้ได้ เพราะแม้เราสามารถห้ามการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่หากขยะพิษที่ทับถมภายในประเทศไม่สามารถกำจัดอย่างหมดจด ประเทศไทยอาจเข้าสู่สภาพมลพิษล้นประเทศได้ในอนาคต”
[English]
Bangkok Residents to Pay More for Garbage Collection
During the past eight years, the amount of garbage collected in Bangkok has continued rising to an equivalent of nine full truck loads each day. Such a rise has forced the Bangkok Metropolitan Administration (BMA) to plan a hike in the garbage collection fee from city residents from October.
Each year, BMA spent around seven billion baht in collecting and disposing of garbage collected from across the city but it has collected only 500 million baht in fee from Bangkok residents.
After 15 years of no change, the Ministry of Public Health raised the garbage collection and disposal fee to 220 baht per household in September 2016. Then, the fee went up to 350 baht per household in January 2017. But, BMA has been spending an average of 226 baht to only collect garbage from each household.
In order to streamline the operation and come up with reasonable fee, BMA has drafted a new regulation, which has completed the public consultation and will go through the analytical process, to back its plan to revise the garbage collection and disposal fee. The new regulation is expected to be put into force on October 1.
Meanwhile, BMA has revamped its garbage collection process in order to effectively clean up streets as it urged Bangkok residents to cooperate in separating waste as well.
Authorities are also focusing on the stepping up of the toxic waste management program, including a plan to enact a new legislation that will be in line with the European Union’ Waste Electrical and Electronic Equipment (WEEE) Directive, and the improvement of the Department of Industrial Works’ regulations and support for related industrial operators to handle their own toxic wastes more properly.