จากพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่นิยมชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงเทรนด์การใช้บัตรเครดิตเมื่อไปท่องเที่ยวต่างประเทศเติบโตสูง ส่งผลให้ตลาดบัตรเครดิตปี 2561-63 มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง คาดการณ์ที่ระดับ 6.3% ขณะเดียวกันผู้ให้บริการบัตรเครดิตเองก็เร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะ Gen Y เพิ่มขึ้นด้วย
ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่จ่ายผ่านออนไลน์มากขึ้น
รายงานแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตจากวิจัยกรุงศรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนบัตรเครดิตสะสมในปี 2560 มีทั้งสิ้น 20.3 ล้านบัตร ขยายตัว 1% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ขยายตัว 6.1% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ของบัตรเครดิตลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 3.7% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 2.6% ในปี 2560
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ในปี 2561-63 ธุรกิจบัตรเครดิตจะเติบโตที่ระดับ 6.3% จากแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์โดยผูกบัญชีการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น สอดคล้องกับการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่ขยายตัวในระดับสูง โดยสะท้อนจากปี 2560 ท่ีปริมาณการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking คิดเป็นสัดส่วน 83.2% ของปริมาณการชำระเงินออนไลน์ทั้งหมด ในขณะที่มูลค่าการชำระเงินคิดเป็นสัดส่วนเพียง 27%
โดยผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคยุคใหม่นิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในต่างประเทศมากขึ้น สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยคาดว่าสัดส่วนการใช้จ่ายผ่าน บัตรเครดิตในต่างประเทศจะยังคงปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนที่เพิ่มจาก 3.6% ในปี 2549 เป็น 6.9% ในปี 2560 (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1 )
อีกทั้งผลของการผลักดันของภาครัฐเพื่อทำ ให้ไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ภายใต้นโยบาย National e-Payment และแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน เพื่อรองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ ตั้งแต่การซื้อขายสินค้า การชำระเงิน และการส่งข้อมูลภาษีให้กับหน่วยงานของรัฐ คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งบัตรเครดิตมากขึ้นในอนาคต
ธ.พาณิชย์ครองส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อสูงสุด
ปัจจุบันมีผู้ดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตของไทย 2 กลุ่ม คือ 1. ธนาคารพาณิชย์ และ 2. Non-banks หากพิจารณาส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจบัตรเครดิตในแง่จำนวนบัตร พบว่า Non-banks มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าธนาคารพาณิชย์ โดยปี 2560 มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 52.5% เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของ Non-banks บางรายเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ประกอบกับมีความเข้มงวดและขั้นตอนการพิจารณาที่น้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ทำให้สามารถให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านยอดคงค้างสินเชื่อ พบว่า ธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็นผู้นำตลาดโดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 61.1% (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2 )
จากนวัตกรรมในระบบชำระเงินของโลกที่พัฒนามากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการใช้บัตรเครดิตได้ในอนาคต เช่น 1. ผู้บริโภคอาจลดการถือบัตรเครดิตลง เนื่องจากสามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับ Mobile Application เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ 2. ผู้บริโภคอาจยังถือบัตรเครดิตหลายบัตร โดยนำบัตรไปผูกกับ Digital Wallet เพื่อคงการได้รับสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตแต่ละประเภท และ 3. การผูกบัญชีของธนาคารกับการชำระเงินในรูปแบบใหม่โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องผูกกับบัตรเครดิต ส่งผลให้การใช้บัตรเครดิตลดลง
โดยในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกกฎระเบียบเพื่อจำกัดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของผู้มีรายได้น้อย เน่ื่องจากพบว่า หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และมีสัญญาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและการกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคลในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y (เกิดปี 2523-2540) ที่มีแนวโน้มของการก่อหนี้เกินตัว
ผลสำรวจพฤติกรรมการกู้ของคนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร จากสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยจะมีจำนวนบัตรเครดิต 3 ใบ และใช้จาก 2 สถาบันการเงิน ซึ่งโดยทั่วไปกลุ่มคนที่มีบัตรเครดิตหลายใบจะมีวงเงินต่ำ และมีหนี้เสียต่ำกว่าผู้ที่มีบัตรเครดิตน้อยใบ ส่วนกลุ่มที่มีหลายใบและใช้บัตรของหลายสถาบันการเงินจะมีวงเงินสูงกว่า ซึ่งอาจมองได้ว่าคนกลุ่มนี้มีรายได้สูง หรือมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีจึงได้รับวงเงินเพิ่ม โดยกลุ่มวัยหลังเกษียณน่าเป็นห่วงน้อยที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนหนี้เสียต่ำกว่ากลุ่มอื่น ขณะเดียวกัน กลุ่มอายุน้อยจนถึง Gen Y น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะมีโอกาสก่อหนี้เสียสูงสุด สอดคล้องกับข้อมูลจากเครดิตบูโร ระบุว่า กลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการกู้เงินจากบัตรเครดิตมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ถึง 56% (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 3 )
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกฎเพื่อควบคุมการใช้บัตรเครดิตของผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือน โดยจำกัดวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่า ซึ่งผลจากนโยบายดังกล่าวคาดว่าจะกระทบต่อการขยายฐานลูกค้าใหม่ แต่ในระยะยาวคาดว่ามาตรการนี้จะช่วยควบคุมสัดส่วนหนี้เสียและสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ผู้ถือบัตรได้
แบงก์รุกตลาด เจาะกลุ่ม Gen Y
แม้ในปี 2560 ที่ผ่านมา ธุรกิจบัตรเครดิตจะเติบโตชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านกำลังซื้อของครัวเรือนที่ปรับดีขึ้นเพียงบางส่วน เนื่องจากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ภาระหนี้ของครัวเรือนโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง
ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็ชะลอการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรและเน้นเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น มีการใช้กลยุทธ์ที่สำคัญ เช่น ขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่ม Gen Y ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานและมีไลฟ์สไตล์ที่นิยมใช้จ่ายผ่านทางช่องทางดิจิทัล จึงเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจของผู้ออกบัตรและกลุ่มผู้บริโภคตลาดบน ร่วมถึงการส่งเสริมการตลาดกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยให้สิทธิพิเศษกับร้านค้าพันธมิตร ห้างสรรพสินค้า และสายการบิน
ล่าสุด บัตรเครดิตกรุงศรีเปิดตัวแคมเปญใหม่ ชูแนวคิด “ที่สุด…ทุกสิ่ง” เน้นมอบประสบการณ์แบบตอบโจทย์ รู้ใจ ทันใจ ตรงใจ ตอบรับทุกไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป เพื่อขยายฐานลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ โปรโมชั่น และบริการ ตั้งเป้าเพิ่มยอดใช้จ่ายเติบโต 10% และเพิ่มจำนวนบัตรเป็น 2.2 ล้านบัญชีในสิ้นปี
ด้านธนาคาร ยูโอบี จับมือกับ คริสปี้ครีม เปิดตัวแคมเปญใหม่เอาใจพนักงานออฟฟิศ ให้ผู้ถือบัตรเครดิตยูโอบีได้ฉลองวันเงินเดือนออกกับ “ยูโอบี แฮปปี้ เพย์เดย์ วัน ฟอร์ วัน” ทุกวันสุดท้ายของเดือน โดยสามารถซื้อคริสปี้ครีมรสออริจินัล เกรซ 1 กล่อง จำนวน 12 ชิ้น รับฟรี! คริสปี้ครีมรสออริจินัล เกรซ อีก 1 กล่อง
ขณะที่ธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี ร่วมมือกับ บริษัท เดลิเคท ไดน์นิ่ง จำกัด ผู้นำเข้า 3 แบรนด์ร้านอาหารชั้นนำจากต่างประเทศ ได้แก่ ทิมโฮวาน, ฮอกเกอร์ ชาน และ มิสเตอร์พิซซ่า ให้สมาชิกได้อร่อยคุ้มกับแคมเปญ “ประสบการณ์ อร่อยสุดคุ้มกับบัตรเครดิตเคทีซี” ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2561
ส่วนบัตรเครดิตทีเอ็มบี เอาใจสาวกการเดินทางด้วยเครดิตเงินคืนสูงถึง 10% เมื่อเดินทางกับสายการบินนกแอร์ โดยรับเครดิตเงินคืน 500 บาท เมื่อชำระค่าบัตรโดยสารตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป ผ่าน www.nokair.com
คนไทยขาดวินัยออมเงินจริงหรือ?
จากสภาวการณ์ที่คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงเวลา สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนในการขาดทักษะบริหารจัดการเงิน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
ผลการศึกษาพฤติกรรมการทางการเงินของคนไทยจากธนาคารทหารไทย (TMB) พบว่า คนไทยกว่า 80% มีเงินออมพอใช้ไม่ถึง 6 เดือน จากฐานข้อมูลจำนวนผู้ประกอบอาชีพ 35 ล้านคน และพบว่า ปัญหาการออมเงินไม่ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ หรือพื้นที่ที่ประกอบอาชีพ โดย 70% ของผู้ที่มีรายได้สูง (มากกว่า 3 หมื่นบาท/เดือน) ก็ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มมีเงินออมไม่พอ และพบว่าการประกอบอาชีพในพื้นที่ที่ต่างกันไม่ว่าเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือต่างจังหวัดไม่มีผลต่อการออมเงิน ซึ่งสะท้อนจาก 80% หรือคนส่วนใหญ่ของทั้งสองพื้นที่ถูกจัดเป็นกลุ่มมีเงินออมไม่พอ
ทั้งนี้ การขาดวินัยในการออมน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนไทยมีเงินออมไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยพบว่าคนไทยมีการใช้จ่าย 76% ของรายได้ต่อเดือน ที่เหลือเป็นการออม 21% และป้องกันความเสี่ยง 3% อีกพฤติกรรมที่บ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินกำลังของคนไทยคือ มากกว่า 50% ของคนที่มีบัตรเครดิตไม่สามารถจ่ายบิลรายเดือนได้เต็มจำนวน และอีกประมาณ 48% เคยผ่อนสินค้าแบบยอมเสียดอกเบี้ย
ดังนั้น การวางแผนการใช้เงินจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อป้องกันการก่อหนี้เสียและสร้างเงินออมไว้ในยามเกษียณ เพราะการเป็นหนี้สมัยนี้ง่ายกว่าการมีเงินออม หากใครไม่อยากติดอยู่ในบ่วงหนี้ก็ควรไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนตกเป็นเหยื่อการตลาดที่กระตุ้นต่อมความต้องการของเราเอง
————-
คุณนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ธนาคารทหารไทย
“ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยที่สำคัญคือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นความสะดวกสบายและรวดเร็ว ติดหรู และอีกพฤติกรรมที่บ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินกำลังคือ มากกว่า 50% ของคนที่มีบัตรเครดิตไม่สามารถจ่ายบิลรายเดือนได้เต็มจำนวน และอีกประมาณ 48% เคยผ่อนสินค้าแบบยอมเสียดอกเบี้ย”
คุณสมหวัง โตรักตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด
“แม้บัตรเครดิตกรุงศรีจะมีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมากถึง 2 ล้านบัญชี แต่ภาพลักษณ์ที่ลูกค้าจดจำยังไม่ชัดเจนนัก เราจึงต้องการปรับภาพลักษณ์ให้โดดเด่น โดยสื่อสารถึงจุดเด่นของบัตรเครดิตที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เติมเต็มทุกไลฟ์สไตล์ รวมทั้งยังมอบสิทธิประโยชน์และโปรโมชั่นที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า และสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน”
[English]
Thailand’s Growing Credit Card Business and Consumers’ Overspending
The latest report from Krungsri Research showed there were 20.3 million active credit cards in Thailand in 2017, when the year-over-year growth rate was 1.0% — a slowdown from 2016, when the growth rate was 6.1%. Accordingly, the amount of non-performing loans (NPLs) from credit cards fell to 2.6% last year from 3.7% in the preceding year.
However, it is projected that Thailand’s credit card business should grow around 6.3% during 2018-2020, on the back of rising popularity of online payment, particularly the mobile banking system, which accounted for 83.2% of total online payment records in 2017.
Such a popularity has been attributed to an increase in the number of outbound Thai travelers and the government’s National e-Payment policy.
Meanwhile, statistics showed that non-bank credit card issuers are taking around 52.5% of Thailand’s credit card market, in terms of the number of cards. But, commercial banks are still holding a larger market share of 61.1%, when it comes to outstanding credit card loans.
But, more innovations may lead to a decline in the use of credit cards in the future, especially when consumers can opt for mobile applications to make various payments or make use of digital wallets.
Nevertheless, it appears still that most Thais are lacking proper financial management skills, which could impede Thailand’s sustainable economic development. A study by TMB Bank suggested that more than 80% of Thais now have savings that will not last over six months, while most Thais tend to spend 76% of their monthly income and save only 21%. Moreover, more than 50% of credit card holders cannot pay their bills in full amount and 48% admitted to have paid their credit card bills in monthly installments along with interest.