Wednesday, May 24, 2023
More

    นักวิจัยไทย พบ เอลนีโญ รูปแบบใหม่ ส่งให้ภาคเหนือ เกิดภัยแล้ง

    นักวิจัยจากศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ทำการศึกษากลไกการเกิด “เอลนีโญ่” รูปแบบใหม่ พบข้อมูลยืนยันว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดปรากฎการณ์นี้บ่อย และถี่ขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดภัยแล้ง และส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะทางภาคเหนือของไทย

    จากที่มีการออกมาเตือนถึง‘ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีนี้ จากปรากฏการณ์เอลนีโญ’ หลังมีแนวโน้มฝนในปีนี้จะหมดลงเร็วขึ้น แม้ว่าประเทศไทยจะมีฝนตกหนักต่อเนื่อง บางพื้นที่ฝนตกน้ำท่วม แต่บางพื้นที่ฝนไม่ตก บ่งบอกถึงความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศ และไม่อาจคาดเดาได้ ทำให้นักวิจัยไทยร่วมกับทีมนักวิจัยจากประเทศจีน จัดทำโครงการแปรผัน และการคาดหมายฝนกึ่งฤดูกาล บริเวณประเทศจีนตอนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้น ภายใต้ทุนสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อพยากรณ์สภาพภูมิอากาศในช่วงระยะเวลาเกิน 7 วัน ถึง 1 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรต้องการ เพราะต้องนำมาใช้สำหรับการวางแผนการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก


    โดยศึกษากลไกความผันแปรของปรากฎการณ์ทางธรรมชาติในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในชั้นบรรยากาศและมหาสมุทร และผลกระทบของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อปริมาณฝนในภูมิภาคบ้านเรา ทั้งสภาวะฝนหนักและสภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีความรุนแรงจนเกิดเป็นภัยธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มว่าน่าจะเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น


    จากการศึกษา พบสัญญาณความผันแปรของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอิทธิพลทำให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่รูปแบบใหม่ ในลักษณะที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติตลอดแนวมหาสมุทร เกิดการยกตัวของอากาศ และเกิดการจมตัวของอากาศแห้งได้ไกลขึ้นถึงฝั่งมหาสมุทรอินเดีย


    ส่งผลต่อการยับยั้งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่กำลังพัดพาเอาความชื้นจากมหาสมุทรอินเดียในช่วงฤดูมรสุมเข้าสู่ประเทศไทย และมีผลสืบเนื่องคือการเกิดสภาวะความแห้งแล้งเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะทางตอนบนของประเทศ  และประเทศเพื่อนบ้าน อย่างอินเดียที่เกิดภัยแห้งกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ในปี ค.ศ. 2009 และ2014 โดยปรากฏการณ์เอลนีโญนี้ ถูกตั้งชื่อตามลักษณะการเกิดว่า “ปรากฏการณ์เอลนีโญเบซินไวด์วอร์มมิ่ง (Basin Wide Warm El Nino)”


    ซึ่งปรากฏการณ์เอลนีโญมีรูปแบบการเกิดที่เด่นๆ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ

    1 เอลนีโญแปซิฟิกตะวันออก (East Pacific El Nino) เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด มีลักษณะของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงแปซิฟิกฝั่งตะวันออกสูงขึ้นอย่างผิดปกติ

    2 เอลนีโญเบซินไวด์วอร์มมิ่ง (Basin Wide Warm El Nino) มีลักษณะของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงผิดปกติทั่วทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ฝั่งตะวันออกถึงตะวันตก เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2009 และครั้งที่สองในปี 2014 ที่ผ่านมา เนื่องจากส่งผลกระทบในทางลบทำให้เกิดสภาวะความแห้งแรงรุนแรง และเป็นวงกว้างมากกว่าแบบที่ 1 ที่สำคัญคือประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญแบบนี้มากเช่นกัน และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยมาก

    3 เอลนีโญ่แปซิฟิกตอนกลาง (Central Pacific El Nino) หรือ โมเดอะกิเอลนีโญ่ (Modoki El Nino) มีลักษณะของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ในขณะที่อุณหภูมิบริเวณฝั่งตะวันตกและตะวันออกต่ำกว่าปกติ เอลนีโญแบบนี้จะส่งผลดีต่อประเทศไทย เพราะทำให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีค่าเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มการเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ไม่บ่อยนัก


    นอกจากนี้ได้นิยามดัชนีชี้วัดความผันแปรทางสมุทรศาสตร์ ที่เรียกว่า NINO 5 โดยใช้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกที่มีความผันแปรเป็นพื้นที่ศึกษา ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจกลไกการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญแบบต่างๆ ได้ดีขึ้น รวมทั้งแนวโน้มของการเกิดพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย


    ทั้งนี้ ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักวิจัยจากศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดสภาวะอากาศที่มีความรุนแรงขึ้นไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น สภาวะฝนตกหนัก ภัยแล้ง คลื่นความร้อน และพายุหมุนชนิดรุนแรง



    ส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศมากเกินสมดุล ทำให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ มีรูปแบบการเกิดที่เปลี่ยนไป ทั้งในแง่ของความรุนแรง ระยะเวลาของการเกิด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบในรูปของภัยธรรมชาติต่างๆ ตลอดจนความผันแปรของฤดูกาลที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน สร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน

    ซึ่งหน่วยงานที่ศึกษาเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า ประเทศไทยมีสภาวะฝนรุนแรงมากประเทศหนึ่งของโลก เกิดขึ้นสองครั้งใน เดือนกันยายน และตุลาคม ปี 2560 มีสาเหตุจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เนื่องจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรสูงขึ้นอย่างผิดปกติติดต่อกันนานประมาณ 5 เดือน


    โดยปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีรูปแบบการเกิดและการพัฒนาตัวหลากหลายขึ้น ส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนแตกต่างหลายพื้นที่ รวมทั้งมีผลต่อการพัฒนาตัวของพายุหมุนเขตร้อนให้เพิ่มสูงขึ้น และมีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นด้วย สาเหตุหนึ่งที่สำคัญเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

    ทั้งยังส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ ที่รุนแรง เช่น การเกิดคลื่นความร้อนกับหลายๆ ประเทศในแถบยุโรป การเกิดภัยแล้งติดต่อกันหลายฤดูกาลในบางประเทศ หรือกระทั่งเกิดฝนตกหนักอย่างที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และแนวโน้มของการเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงเหล่านี้ จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องยอมรับ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉนั้นต้องเรียนรู้ เข้าใจ และปรับตัวกับการเกิดความผันแปรของอากาศ เพราะไม่มีใครที่จะเอาชนะธรรมชาติได้