บุหรี่ไฟฟ้า ยังคงเป็นปัญหาถกเถียงกันในประเทศไทย ทั้งกรณีที่เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้า จำหน่าย และให้บริการ แต่ก็ยังมีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศมากกว่า 300,000 ราย ขณะเดียวกันหลักฐานทางวิชาการที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังคงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า แท้จริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายหรือปลอดภัย
ไทย 1 ใน 27 ประเทศ ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
แม้รัฐบาลจะรณรงค์ให้ประชาชนลด ละ เลิกบุหรี่ รวมทั้งมีแผนปรับราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นอีก แต่ขณะเดียวกันก็ได้ทุ่มงบกว่า 4,000 ล้านบาท ให้การยาสูบแห่งประเทศไทยขยายฐานการผลิตบุหรี่เพิ่มที่เขตอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หวังรายได้เพิ่มเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ซึ่งดูจะเป็นการย้อนแย้งในการรณรงค์เลิกบุหรี่ของหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งการเข้ามาของบุหรี่ไฟฟ้า ที่ดูจะเป็นทางเลือกใหม่ของนักสูบเพื่อลดการใช้บุหรี่มวนนั้น ก็ยังคงเป็นไปตามกฎหมาย คือ ห้ามนำเข้า จำหน่าย และให้บริการ
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์เตรียมนัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังได้รับการร้องเรียนจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาอย่างต่อเนื่องถึงกรณีการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพราะในทางปฏิบัติได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า การลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป และยังพบว่ามีการใช้กฎหมายเอาผิดต่อผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันเกิดขึ้นด้วย
ปัจจุบันมี 27 ประเทศประกาศห้ามนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์หรือบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด รวมทั้งประเทศไทยด้วย
โดยนโยบายที่ใช้กันส่วนใหญ่คือ การห้ามใช้ในสถานที่สาธารณะ การห้ามนำเข้า และการห้ามทำการตลาด เหตุผลหลักคือ บุหรี่ไฟฟ้ากำลังถูกตรวจสอบเรื่องความเสี่ยงต่อสุขภาพและยังไม่มีผลยืนยันว่าปลอดภัย
ส่วนประเทศไทยนั้น บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ห้ามขาย และห้ามให้บริการ จากประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2558
นานาชาติเปิดทางบุหรี่ไฟฟ้า
ล่าสุด รัฐบาลนิวซีแลนด์ เตรียมประกาศใช้กฎหมายอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยจะมีมาตรการควบคุมอย่างเหมาะสม ซึ่งรัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศว่า ขณะที่กำลังมีการพัฒนาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้า แต่ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้า (Vaping) มีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ (Smoking) อย่างมาก
ด้านสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) เสนอให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งในคำสั่งใช้ยาที่แพทย์สามารถสั่งจ่ายให้คนไข้ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากรายงานผลการวิจัยอิสระฉบับล่าสุดที่ PHE ตีพิมพ์ พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่า แต่ละปีบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้คนในสหราชอาณาจักรเลิกบุหรี่ได้อย่างน้อย 20,000 คน โดยงานวิจัยระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่จากใบยาสูบ ทั้งยังเป็นอันตรายต่อผู้คนที่อยู่รอบข้างน้อยกว่าด้วย
ด้านญี่ปุ่นได้อนุมัติกฎหมายแห่งชาติฉบับแรกสั่งห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการลดอันตรายต่อผู้ได้รับควันบุหรี่ ทั้งนี้ ข้อบังคับใช้กฎหมายนี้ห้ามสูบเพียงบุหรี่แบบมวนธรรมดาเท่านั้น แต่ยังคงอนุญาตให้สูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ไม่มีควันได้ตามปกติ ซึ่งกฎหมายนี้สะท้อนถึงระดับความอันตรายที่ต่างกันของบุหรี่แต่ละชนิดที่มีการควบคุมต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยหรือไม่
สำหรับประเทศไทย กลุ่มเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ก็ยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลเข้ามาดูแลได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งได้เผยแพร่ผลการวิจัยที่ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน คุณอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “ลาขาดควันยาสูบ” หรือ “ECST” และ แอดมินเฟซบุ๊ก “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” เปิดเผยว่า ในการประชุมประจำปี Global Forum on Nicotine ที่กรุงวอร์ซอว์ ประเทศโปแลนด์ เมื่อเร็วๆ นี้ มีการนำเสนอผลการวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งสรุปตรงกันว่ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม และไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารก่อมะเร็งน้อยกว่าควันบุหรี่ โดยมีการพูดถึงผลการวิจัยใหม่ๆ จากสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือจากหลายประเทศ เช่น ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยลูเวิน ประเทศเบลเยียม ระบุว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่แบบไม่เผาไหม้ ช่วยลดอาการอยากบุหรี่ลงได้
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดัง BMJ ที่ศึกษาอันตรายของควันบุหรี่กับไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าพบว่า ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารก่อมะเร็งน้อยกว่าควันบุหรี่
ด้านผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อประเมินความเสี่ยงของเยอรมนี หรือ German Federal Institute for Risk Assessment (BfR) ที่เปิดเผยในการประชุม Asia Harm Reduction Forum 2017 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ระบุว่า การใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพหรือบุหรี่ไฟฟ้า ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนราวๆ 97-99%
ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ปลอดภัยแน่นอน โดยอาจารย์ปิยวรรณ บุญเพ็ญ นักวิชาการสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปิดเผยว่า มีรายงานที่ระบุถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความแปรปรวนของระดับนิโคตินในน้ำยาที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำให้ผู้สูบไม่รู้ตัวว่าตนเองได้รับนิโคตินเข้าไปในปริมาณเท่าใด ซึ่งสารนิโคตินจะมีอันตรายต่อสุขภาพของบุคคล ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กล่าวคือ ระยะสั้น จะทำให้หายใจไม่ออก ไอ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ และระยะยาว จะทำให้เยื่อจมูกอักเสบ เกิดต้อกระจก นอนไม่หลับ ซึมเศร้า หัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า หลอดที่บรรจุน้ำยานิโคตินมีโอกาสรั่วและแตกได้ ซึ่งหมายถึงมีโอกาสที่ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะได้รับนิโคตินในปริมาณที่มากเกินไป จนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต
อีกทั้งงานวิจัยล่าสุดจากอังกฤษพบหลักฐานว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจทำลายเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของร่างกาย และอาจมีอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Thorax พบว่า ละอองไอน้ำจากบุหรี่ไฟฟ้าไปหยุดยั้งการทำงานของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญในปอดและกระตุ้นให้เกิดอาการอักเสบ
ทั้งนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย ขณะเดียวกันก็มีอีกจำนวนมากที่ให้ข้อสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม แต่ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันในประเทศไทย ไม่ใช่เพียงเรื่องความปลอดภัยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการยอมรับบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นสินค้าถูกกฎหมาย เพราะปัจจุบันแม้สั่งห้ามนำเข้า แต่ก็มีการซื้อขายอยู่ในโลกออนไลน์นับไม่ถ้วน หากบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง รัฐบาลจะได้เข้ามาดูแลได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องความปลอดภัยและการเรียกเก็บภาษีที่จะช่วยเพิ่มรายได้รัฐอีกทางหนึ่ง
__________
รศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ – อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“ในหลักการของการเลิกบุหรี่จำเป็นต้องลดระดับการรับสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสารนิโคตินที่เข้าสู่ร่างกายจะส่งผลเสียต่อสมองและหัวใจ จึงต้องค่อยๆ ลดปริมาณนิโคตินลง และเลิกรับสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายในที่สุด หากผู้สูบไม่สามารถเลิกได้ภายใน 1 ปี ก็จะเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมยาสูบ นี่เป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมยาสูบในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอันตรายน้อยกว่า ดังนั้น คำถามสำคัญของประเทศคือ บุหรี่ไฟฟ้าควรเป็นมาตรการทางเลือกสำหรับการเลิกบุหรี่ของประเทศไทยหรือไม่”