ไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 แต่ปัญหาที่ตามมาคือ คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ด้วยปัจจัยที่คนจำนวนมากยังมีเงินเก็บไม่เพียงพอ โดยผลสำรวจพบว่าคนไทยต้องมีเงินเตรียมไว้ประมาณ 4.5 ล้านบาท เพื่อใช้หลังเกษียณได้ 25 ปี
นับถอยหลังไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
ผลสำรวจการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2561 ซึ่งจัดทำขึ้นโดย เฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น พบว่า คนไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศท้ายๆ ของเอเชียแปซิฟิก ที่มีการเตรียมพร้อมอย่างจริงจังเพื่อการสูงวัย โดยผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ ร้อยละ 54 มองว่า ควรเริ่มเตรียมตัวอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงอายุ 40-45 ปี แต่สำหรับชาวไทยมีเพียงร้อยละ 43 เท่านั้นเห็นด้วยกับความคิดนี้ ในขณะที่ร้อยละ 57 ของชาวไทยมองว่า ช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการเตรียมตัวอย่างจริงจังเพื่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีคือ ช่วงอายุ 46 ปีขึ้นไป ซึ่งถือว่าช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก
จากนิยามขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือ ประเทศที่มีประชากรอายุ ตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ และการเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) คือ มีประชากรอายุ ตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจากการคาดการณ์โดยอ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2564
โดยปัจจุบัน ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 10.8 ของประชากรทั้งประเทศ สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมตัวสู่การสูงวัยอย่างสุขภาพดี ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนทั้ง โลกแล้ว คนไทยมีอายุยืนยาวกว่าประมาณ 5 ปี แต่มีรายได้แค่ประมาณครึ่งเดียวของค่าเฉลี่ยจากคนทั่วโลก นั่นหมายความว่า คนไทยอายุยืนขึ้นแต่จนลง โดยรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยอยู่ที่ 26,946 บาท/เดือน ขณะที่รายจ่ายอยู่ที่ 21,437 บาท/เดือน
สูงวัยเตรียมเงิน 4.5 ล้านบาท! ใช้จ่ายหลังเกษียณ
สำหรับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของคนไทย ผลสำรวจจาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจำพวกค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าหมอ ค่ายา รวมถึงค่าใช้จ่ายในบ้าน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ จะตกเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งหากต้องใช้หลังเกษียณสัก 25 ปี เท่ากับว่า ต้องมีเงินเตรียมไว้แล้วประมาณ 4.5 ล้านบาท
ขณะที่สถาบันคีนันแห่งเอเชีย ร่วมกับ University of North Carolina’s Kenan-Flagler School of Business and the Gillings School of Global Public Health เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ปัญหาที่เกิดตามมาคือ คนไทยยังขาดวินัยในการเก็บออม ขาดการวางแผนการลงทุน หรือขาดการบริหารจัดการทางการเงินที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลต่อการดูแลสุขภาพเมื่อถึงวัยชรา
โดยนิยามการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี ชาวไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 74 ระบุว่า คือ “การไม่เป็นภาระให้ลูกหลานยามแก่เฒ่า” นอกจากนี้ ร้อยละ 67 มองว่า สภาพร่างกายของพวกเขาดีกว่าอายุจริงๆ ของพวกเขา เทียบกับร้อยละ 68 ของผู้ตอบแบบสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเฉลี่ยที่คิดแบบเดียวกัน
ส่วนการเริ่มเตรียมตัวสู่การสูงวัยอย่างสุขภาพดี คนไทยเกือบทั้งหมด หรือ ร้อยละ 89 ได้เริ่มเตรียมตัวอย่างจริงจังเพื่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีแล้ว โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีโภชนาการที่ดีขึ้น และออกกำลังกายเป็นประจำมากขึ้น ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 11 ยังไม่เริ่มลงมือเตรียมตัวเพื่อการสูงวัยอย่างสุขภาพดี เนื่องจากขาดแรงบันดาลใจ ไม่มีเวลา และไม่มีเงินพอ
ข้อมูลผลสำรวจจากเฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น ระบุอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ชาวไทยหันมาเลือกรับประทานอาหารที่มีโภชนาการที่ดีขึ้นเพื่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี คือ ความเข้าใจบทบาทความสำคัญของโภชนาการที่ดีต่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีมากขึ้น ร้อยละ 72, สามารถหาซื้ออาหารและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีได้ง่ายดายและสะดวกสบาย ร้อยละ 50, เข้าถึงคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโภชนาการเฉพาะบุคคล ร้อยละ 37 และมีเพื่อนรวมถึงคนในครอบครัวที่หันมาดูแลสุขภาพเพื่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีไปด้วยกัน ร้อยละ 28 โดยครอบครัว ยังถือว่าเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดที่ช่วยให้ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี
ทั้งนี้ โครงสร้างของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่กลายเป็นอยู่แบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มต้องอยู่ตามลำพังมากขึ้น
ดังนั้น ก่อนที่จะก้าวสู่วัยเกษียณ เราจึงควรเตรียมชีวิตให้พร้อม ทั้งด้านการเงิน สุขภาพ รวมถึงทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส เพราะเมื่อสุขภาพจิตเข้มแข็ง ย่อมส่งผลให้สุขภาพกายแข็งแรง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความเป็นอยู่ในปัจจุบัน และใช้ชีวิตยามบั้นปลายอย่างมีความสุขตามที่ต้องการ
__________
คุณสุพจน์ ฤทธิพิชัยวัฒน์ – กรรมการผู้อำนวยการ เฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น ประเทศไทย
“คนไทยส่วนน้อยเท่านั้นที่ตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมตัวสู่การสูงวัยอย่างสุขภาพดีตั้งแต่เนิ่นๆ การสูงวัยแบบมีสุขภาพดีไม่ควรเป็นสิ่งที่มาคิดในภายหลัง เราต้องช่วยให้คนไทยอีกหลายๆ คนเข้าใจบทบาทความสำคัญของการออกกำลังกายและโภชนาการที่ดีเพื่อที่พวกเขาจะได้มีสุขภาพดีแม้ยามสูงวัย”
[English]
Thais Not Financially Ready for Aging Society
Thailand is scheduled to become an aging society in 2021 but a survey by Herbalife Nutrition found Thais are among the least-prepared people to enter this new era.
The survey, which was conducted throughout Asia Pacific, showed 54% of respondents believed a serious preparation for the aging society should take place during the age of 40 and 45, but only 43% of Thai respondents agreed with this suggestion.
In addition to inactive preparation, Thais are found to live around five years longer than the world’s average life expectancy but earn around half of the world’s average annual income.
However, the survey showed 89% of Thai adults have been seriously preparing themselves to grow old healthily by focusing on good diets and regular exercises.