Friday, December 8, 2023
More

    ธุรกิจเบียร์ปี 62 มาแรง หลายแบรนด์รุกตลาดรับเทรนด์นักดื่มรุ่นใหม่

    ในรอบหลายปีที่ผ่านมาตลาดเบียร์มีการเปลี่ยนแปลงจากความนิยมในกลุ่มสินค้าพรีเมียมและเบียร์คราฟต์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าอีก 2 ปีจะมีมูลค่ารวมกว่า 2 พันล้านบาท โดยมีแบรนด์น้องใหม่เปิดตัวนับสิบราย ตามเทรนด์การบริโภคนักดื่มที่มีความชื่นชอบหลากหลายแปลกใหม่ขึ้น

    เปิดพอร์ตตลาดเบียร์มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้าน
    ตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีมูลค่ารวมนับแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งในปี 2560 ตลาดเบียร์มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 2% ขณะที่ภาพรวมของตลาดเบียร์ในปี 2561 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการหดตัวลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก อันมีปัจจัยมาจากกำลังซื้อและสภาพเศรษฐกิจ แต่ในช่วงปลายปีที่ถือเป็นช่วงหน้าขายของตลาดเบียร์ ซึ่งมีการจัดงานเทศกาลต่างๆ รวมถึงการเฉลิมฉลองส่งท้ายปี ส่งผลให้ช่วยกระตุ้นการขายและเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น

    ขณะเดียวกันคาดการณ์ว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ตลาดเบียร์ยังจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยได้รับอานิสงส์จากการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น รวมถึงราคาพืชผลการเกษตรที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างๆ มีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายมากขึ้น


    เบียร์คราฟต์มาแรง สวนกระแสตลาดรวม
    แม้หลายปีที่ผ่านมาตลาดเบียร์ในสินค้าประเภทกลุ่มเมนสตรีมจะมีอัตราการขยายตัวในระดับทรงตัว จากปัจจัยเรื่องกำลังซื้อ ภาระหนี้สินภาคครัวเรือน รวมไปถึงภาครัฐมี  นโยบายรณรงค์งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดเบียร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเบียร์พรีเมียมและเบียร์คราฟต์

    แม้ว่าเวลานี้ตลาดเบียร์คราฟต์ในไทยจะยังมีขนาดเล็ก ซึ่งยังเป็นกลุ่ม Niche Market เมื่อเทียบกับตลาดเบียร์โดยรวมซึ่งถือว่ามีสัดส่วนไม่ถึง 1% โดยปัจจุบันมีมูลค่า 500 ล้านบาท แต่ก็มีอัตราการเติบโตสูงถึง 5-7% ต่อปี ซึ่งมีการประเมินกันว่าภายในอีก 2 ปีข้างหน้าจะขยายตัวจนมีสัดส่วนเป็น 1% ของตลาดรวม ด้วยมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท จึงได้เห็นการเพิ่มขึ้นของเบียร์แบรนด์ใหม่ๆ กระโดดเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการออกผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติหลากหลายลงขวดและกระป๋องจำหน่าย อีกทั้งยังมีการเพิ่มช่องทางการขาย จากเดิมที่มีเฉพาะร้านเบียร์คราฟต์หรือร้านที่ร่วมรายการกับผู้จัดจำหน่ายเท่านั้น (On Premise) แต่ปัจจุบันได้กระจายเข้าสู่ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมไปถึงร้านค้าส่ง (Off-Premise) มากขึ้นด้วย ส่วนหนึ่งเพราะกำไรต่อหน่วยค่อนข้างสูงกว่าสินค้ากลุ่มเมนสตรีมพอสมควร

    โดยในปี 2561 มีสินค้าใหม่จากแบรนด์ผู้ผลิตและจำหน่ายของไทยไม่น้อยกว่า 10 แบรนด์ ขณะที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศอีกกว่า 50 แบรนด์ ซึ่งรับกับเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มองหาทางเลือกและประสบการณ์แบบใหม่ในการบริโภค ประกอบกับการแข่งขันของธุรกิจเบียร์ค่ายใหญ่ทั้งในระดับโลกและในไทย ที่ได้มีการขยายกลุ่มสินค้าเพื่อให้คลอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ซึ่งจะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ดื่มที่หลากหลายมากขึ้น

    เพื่อรับกับการเติบโตของกลุ่มสินค้าเบียร์พรีเมียมและเบียร์คราฟต์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว คุณภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า บุญรอดฯ ตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดเป็น 65% โดยผ่านการผลักดันทั้งในสินค้ากลุ่มเมนสตรีม รวมถึงการสร้างเซ็กเมนต์ใหม่ อย่างตลาดซูเปอร์พรีเมียม และเบียร์คราฟต์ให้เติบโตยิ่งขึ้น เพื่อให้ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่มองหาประสบการณ์แบบใหม่ในการบริโภคมากขึ้น

    ขณะที่ คุณโฆษิต สุขสิงห์ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ระบุแผนการดำเนินธุรกิจว่า ยังคงเดินหน้ารุกตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับกับเป้าหมายในปี 2563 ที่ต้องการเป็นผู้นำตลาดเบียร์ของไทยและอาเซียน โดยจะมีทั้งการจัดกิจกรรมบนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เน้นการสร้างประสบการณ์และเอ็นเกจเมนต์ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม ประกอบกับการผลักดันเบียร์ตัวใหม่ที่เปิดตลาดในปีที่ผ่านมาให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

    ทั้งนี้ การสร้างการรับรู้ของแบรนด์เบียร์ใหม่กลุ่มพรีเมียร์และเบียร์คราฟต์นิยมเคลื่อนไหวผ่านทาง Influencers โดยเฉพาะออนไลน์ เพื่อทดลองดื่ม และช่วยจุดกระแสจนเป็นที่สนใจของผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น ขณะที่ช่องทางการขายเริ่มแรกจะเน้นเฉพาะ On Premise ก่อนจะวางจำหน่ายครอบคลุมในช่องทาง Off-Premise ต่อไป

    อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางตลาดเบียร์จะส่งสัญญาณขยายตัว รวมถึงเทรนด์ของนักดื่มที่มีความรู้และรสนิยมอันหลากหลายขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ การตระหนักในเรื่องการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเองและสังคม เพราะอย่างที่ทราบกันว่าฤทธิ์ของน้ำเมาก่อให้เกิดผล   กระทบตามมามากมาย
    __________
    คุณธนากร คุปตจิตต์ – นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย
    “ภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปีที่ผ่านมาการเติบโตลดลง 10% โดยกลุ่มสินค้าเบียร์ตกลงถึง 15% แต่บรรยากาศดีขึ้นด้วยการมีผู้ค้าใหม่เพิ่มขึ้น แต่การเติบโตไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ จากปัญหาราคาเกษตรกรรม นักท่องเที่ยวจีนชะลอตัวซึ่งเป็นกลุ่มนิยมดื่มโลคัลเบียร์ รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าจีนกับสหรัฐฯ ส่วนแนวโน้มปี 2562 ส่งสัญญาณดีขึ้น ปัจจัยจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ซึ่งรัฐบาลก็ส่งเสริมโดยออกมาตรการด้านวีซ่า ต้องจับตามองในช่วงตรุษจีน และสงกรานต์ซึ่งจะเห็นสัญญาณการจับจ่ายใช้สอยได้ชัดเจนขึ้น”