Saturday, December 2, 2023
More

    บทบาทนักการเมืองหญิงในสนามการเลือกตั้งปี 62

    ข้อมูลจากองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter-Parliamentary Union) อัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2561 ระบุว่า สัดส่วน ส.ส.หญิงในประเทศไทย มีเพียงร้อยละ 5.3 เท่านั้น โดยสำรวจจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 นับจำนวนที่นั่งในสภาทั้งหมด 246 ที่นั่ง มี ผู้หญิงเพียง 13 ที่นั่ง หมายความว่า จำนวน ส.ส.ชายในสภา ซึ่งปัจจุบันเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมากถึง ร้อยละ 94.7 ทำให้สัดส่วนผู้แทนหญิงไทยในสภาผู้แทนราษฎรอยู่อันดับ 181 จากทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก และรั้งท้ายในอาเซียน 
    ขณะเดียวกัน หากนับสถิติจำนวนผู้หญิงในสภา พบว่า ในยุครัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีสัดส่วนผู้หญิงราวร้อยละ 10 ซึ่งยังถือว่าน้อยที่สุดในอาเซียน

    อีกทั้งเมื่อเทียบกับยุค คสช. ปี 2560 มีผู้หญิงนั่งในสภาเพียง 4.9% เท่านั้น นอกจากนี้ จากข้อมูลของ UN Women และองค์กรรัฐสภาสากล ยังพบว่า สาเหตุหลักที่ผู้หญิงถอนตัวจากการเมือง คือการถูกโจมตีทางเพศ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับการเมืองในอินเดีย


    คุณอันนาคาริน ยัตฟอร์ช รักษาการผู้อำนวยการ องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก อธิบายว่าการก้าวผ่านอุปสรรคของผู้หญิงในการเข้าสู่การเมืองไม่เพียงแต่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง แต่ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน ตัวอย่างเห็นได้จากข้อมูลจากทั่วโลกที่แสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีผู้หญิงในงานการเมืองจำนวนมาก จะมีธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ซึ่งรวมถึงระบบการศึกษา และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน

    อย่างไรก็ตาม การเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงต้องอาศัยแนวทางบูรณาการทางสังคมด้วย โดยการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเท่าเทียมระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับธรรมาภิบาลที่ดี และประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนำไปสู่สังคมที่เท่าเทียมและธรรมาภิบาลที่มีความเสมอภาค เพิ่มมาตรฐานคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน และยังลดการทุจริตทางการเมือง สำหรับประเทศไทย แม้สัดส่วนผู้แทนหญิงในสภาจะอยู่เกือบรั้งท้ายโลก แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 นี้ ดูเหมือนว่ากระแสการลงสมัครสมาชิกของแต่ละพรรคการเมืองจะมีผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากทายาทของนักการเมืองไทย และผู้ที่มีความมุ่งมั่นจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมในระบอบประชาธิปไตย

    BLT มีโอกาสได้พูดคุยกับนักการเมืองหญิงไทยรุ่นใหม่ 5 คน 5 พรรค ผู้มีความแตกต่าง แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เชื่อมั่นในประชาธิปไตย และจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

    วทันยา วงษ์โอภาสี นางฟ้าลูกหนังกับก้าวแรกในสนามการเมืองไทย
    ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ คนรุ่นใหม่ที่มีสายเลือดนักการเมืองผู้มีบทบาทสำคัญในประเทศไทย
    พรรณิการ์ วานิช ก้าวสู่บทบาทใหม่ภายใต้อุดมการณ์เดิมผลักดันสังคมสู่ประชาธิปไตย
    ศิริภา อินทวิเชียร ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างสร้างสรรค์ 
    ชนก จันทาทอง ทายาทนักการเมืองแดนอีสานมุ่งแก้ปัญหาเพื่อเกษตกรชาวไทย