หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในวันที่ 15 ก.พ. 62 ศาลชั้นต้นเผย ในวันที่ 16 – 17 ก.พ. 62 มีการยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. รวมแล้ว 23 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นคดีกรณีพรรคที่ผู้ร้องเป็นสมาชิกไม่ดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
โดยนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพิจารณาคดีเลือกตั้ง ส.ส. ภายหลัง กกต. ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ศาลชั้นต้นซึ่งมีหน้าที่รับคำร้อง และไต่สวนก่อนที่จะส่งให้ศาลฏีกาวินิจฉัย ได้เปิดทำการในวันหยุดราชการ คือในวันที่ 16 – 17 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเลือกตั้งเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ซึ่งพบว่า ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 มีการยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งหมด 7 คดี ส่วนในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 มีจำนวน 16 คดี รวม 2 วันหลังจากที่กกต. ประกาศ มีการยื่นคำร้องแล้วทั้งสิ้น 23 คดี
พร้อมระบุว่าคดีส่วนใหญ่ จะเป็นคดีกรณีพรรคที่ผู้ร้องเป็นสมาชิก ไม่ดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ตามมาตรา 145 พรป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 รวมถึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเดียวน้อยกว่า 90 วัน (ลาออกจากพรรคเดิมแล้วมาเป็นสมาชิกพรรคใหม่), ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเลย และกรณีเป็นสมาชิกพรรคมากกว่า 1 พรรคการเมือง
อย่างไรก็ตามคดีเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา จะมีลักษณ เช่น กรณีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้รับสมัคร หรือเพิ่มชื่อเป็นผู้สมัคร, กรณีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ กกต. ที่ให้ถอนการรับสมัครตามคำร้องของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือผู้สมัครอื่น และกรณีผู้อำนวยการเขตการเลือกตั้งขอให้ถอนชื่อผู้สมัคร
ทั้งนี้การยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นไปตามคาดการณ์ ว่าจะมีปริมาณการร้องคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตในการเลือกตั้งเข้ามาหลายรูปแบบ และปริมาณที่มาก ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับคดีเลือกตั้ง ที่จะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลฎีกา ทั้งในด้านอาคารสถานที่ งบประมาณ อัตรากำลัง และเทคโนโลยี เพื่อให้มีความพร้อมในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ทุกฝ่ายด้วยความรวดเร็ว