หลังจาก พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยประเด็นการคลายล็อก “กัญชาเพื่อการแพทย์” เป็นที่สนใจในวงกว้าง อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อกำหนด ซึ่งระบุทั้งที่สามารถทำได้และไม่ได้ รวมถึงโทษฝ่าฝืนก็ยังคงมีอยู่
ใครคือผู้มีสิทธิ์ในกัญชา
จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ยังคงระบุว่า กัญชา เป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย ซึ่งผ่อนปรนให้ใช้เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยเท่านั้น คนทั่วไปที่ครอบครองหรือเสพยังคงผิดกฎหมายเช่นเดิม
โดยใน พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้มีการห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งได้แก่ กัญชา ฝิ่น เห็ดขี้ควาย และพืชกระท่อม เว้นแต่ได้รับอนุญาตในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางราชการ การแพทย์ การศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งได้รับใบอนุญาต รวมทั้งเป็นการครอบครองไม่เกินปริมาณที่จำเป็นสำหรับใช้ปฐมพยาบาลในเรือ เครื่องบิน หรือยานพาหนะในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียนในไทย ซึ่งหากจดทะเบียนในไทยต้องได้รับการอนุญาต
สำหรับการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือรักษาผู้ป่วย ภายในระยะเวลา 5 ปีแรกนั้น ผู้ที่ขออนุญาตต้องเป็นหน่วยงานรัฐ ส่วนผู้ประกอบวิชาชีพ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งสามารถร่วมผลิตและพัฒนาสูตรตำรับยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ภายใต้ความร่วมมือกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐหรือมหาวิทยาลัยเอกชน และผู้ขออนุญาตอื่นตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานรัฐ (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1) ซึ่งต้องยื่นคำขอต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเสนอคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเห็นชอบก่อน จึงดำเนินการได้เผยกลุ่มโรคที่จะได้ใช้กัญชารักษา
ขณะเดียวกันยังคงมีการห้ามมิให้ผู้ใดเสพกัญชา เว้นแต่เพื่อรักษาโรคตามคำสั่งของแพทย์ รวมถึงเป็นการเสพเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น
โดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. ได้กล่าวถึงกลุ่มโรคที่นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ว่า กลุ่มแรก 4 โรคที่สามารถใช้ได้ คือ ลมชักในเด็ก, กล้ามเนื้อแข็ง, ผู้ป่วยมะเร็ง ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการรับยาเคมีบำบัด และปวดเรื้อรัง ส่วนกลุ่ม 2 คือน่าจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ อาทิ โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ เครียด และการใช้ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นต้น และกลุ่ม 3 คืออาจจะมีประโยชน์ เช่น การใช้น้ำมันกัญชาในการฆ่าเซลล์มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งจะต้องทำการวิจัยต่อไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่จะใช้กัญชาในการบำบัดโรคนั้น ได้ให้กรมการแพทย์ประมาณการณ์จำนวนผู้ป่วยและปริมาณที่ต้องการใช้กัญชาในการบำบัดรักษาโรค เพราะประเทศไทยอยู่ภายใต้สนธิสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศ ซึ่งต้องรายงานให้กับคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศได้รับทราบ
ผู้มีกัญชาแจ้งใน 90 วัน ไม่ต้องรับโทษ
ในส่วนของการคลายล็อกกัญชา อย. จะต้องออกกฎระเบียบรองรับ ซึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือ กฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษผู้ครอบครองกัญชาก่อน พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับ โดยไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ได้มีมติรับรองร่างประกาศนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา 3 ฉบับ ซึ่ง 3 กลุ่มที่จะต้องแจ้งการครอบครองกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ คือ
1. เกี่ยวข้องกับผู้ศึกษาวิจัย โดยให้หน่วยงานหรือบุคคล (ตามอินโฟกราฟิก 1) ต้องแจ้งปริมาณกัญชาที่มีไว้ในครอบครองเพื่อการวิจัย ตามร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข การแจ้งการมีไว้ในครอบครองกัญชา สำหรับผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26/5 และบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ป่วยตามมาตรา 22 (2)ฯ
2. สำหรับผู้ป่วยที่มีแพทย์รับรองตามกฎหมายกำหนด ตามร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคเฉพาะตัวฯ อนุญาตให้ใช้กัญชาในลักษณะต้นตำรับยาหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ในปริมาณที่เพียงพอต่อการรักษาโรคเท่านั้น หากครอบครองเกินปริมาณต้องนำเข้าเป็นของกลางเพื่อนำไปทำลาย แต่หากผู้ป่วยมีความจำเป็นมากกว่านั้นต้องแจ้งความประสงค์
และ 3. กลุ่มบุคคลอื่นๆ (นอกเหนือจากกลุ่ม 1 และ 2) แจ้งและส่งมอบกัญชา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการส่งมอบและการทำลายกัญชาที่ได้รับมอบจากบุคคล ซึ่งไม่ต้องรับโทษฯ
ทั้งนี้ สามารถแจ้งการครอบครองที่ สำนักงาน อย., สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายใน 90 วัน หลังจากประกาศร่างกฎหมายลงในราชกิจจา-นุเบกษา ซึ่งหากต้องยึดของกลางจะนำมารวมที่คลังเก็บยาเสพติดให้โทษ ที่ อย. เพื่อนำไปทำลายต่อไป อย่างไรก็ตามได้มีการเพิ่มบทบัญญัติ ให้ผู้ที่สนใจนำกัญชาของกลางไปศึกษาวิจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เช่น หาสารสำคัญ, สารปนเปื้อน เป็นต้น แทนการทำลาย อีกทั้งได้แก้ไขให้ผู้ป่วยใช้ต้น ใบ ดอก ของกัญชาสำหรับรักษาโรคได้ ส่วนแพทย์ที่ใช้กัญชาทำการรักษาได้ คือ แพทย์แผนปัจจุบัน ผู้ที่มีใบรับรองแพทย์แผนไทย แผนไทยประยุกต์ รวมถึงกลุ่มหมอพื้นบ้านที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรับรอง โดยต้องผ่านการอบรมจากกรมการแพทย์
โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ได้เตรียมหลักสูตรอบรมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว คาดว่าจะอบรมครั้งแรกในเดือนมีนาคมนี้ โดยจะเป็นส่วนของแพทย์แผนปัจจุบันและเภสัชกร ไม่รวมกลุ่มแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และขอย้ำว่าในการดูแลผู้ป่วย ทั้งสถานพยาบาล แพทย์ และเภสัชกร จะต้องมีการขึ้นทะเบียน
ถูกกฎหมาย… แต่ไม่ได้เปิดเสรี
สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในข่ายอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ หากมีไว้ในครอบครอง รวมทั้งผู้จำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีปริมาณไม่ถึง 10 กิโลกรัม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีการเสพนอกเหนือจากการรักษาตามคำสั่งแพทย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งถ้าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย มีโทษจำคุก 1-15 ปี และปรับ 1 แสนบาท – 1.5 ล้านบาท ขณะที่ ผู้จำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท-1.5 ล้านบาท อีกทั้งยังได้กำหนดให้ ป.ป.ส. กำหนดเขตพื้นที่ทดลองปลูกกัญชาภายใต้มาตรการควบคุมและตรวจสอบการเสพและการครอบครองยาเสพติดให้โทษ เท่ากับว่าไม่ได้เปิดเสรีให้มีการปลูกได้ทั่วไป
โดย นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นการปลูกกัญชาว่า อย่าหลงเชื่อว่าสามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้รักษาโรคที่บ้านเองได้ หากต้องการใช้กัญชาเพื่อการบำบัดรักษาโรค ให้ไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและวินิจฉัยหรือสั่งใช้กัญชาหรือสารสกัด เพื่อบำบัดรักษาโรค ซึ่งจะได้กัญชาหรือสารสกัดที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ และใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
คาดอีก 6 ปี ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ทั่วโลก พุ่ง 1.7 ล้านล้านบาท
นับว่าไทยเป็นชาติแรกของอาเซียนที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย ส่วนในเอเชียก็ต่อจากเกาหลีใต้ ที่เป็นชาติแรก ตามกระแสโลกซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมามีหลายชาติผ่านกฎหมายเพื่อใช้กัญชา ทั้งเพื่อการแพทย์และสันทนาการ ขณะที่ Grand View Research ได้ประเมินว่ามูลค่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ทั่วโลก อาจมีเม็ดเงินสะพัดสูงถึง 55,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท (อ้างอิงค่าเงินบาท 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ภายในปี 2568
ถือว่าเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนสถานะของกัญชา จากพืชต้องห้ามสู่การนำประโยชน์มาใช้เพื่อการแพทย์ ซึ่งต้องติดตามว่าในปีนี้การนำมาใช้ประโยชน์จะเกิดเป็นรูปธรรมชัดเจนอย่างไร อีกทั้งต้องจับตาการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายว่ามีความเคร่งครัดมากน้อยเพียงใด
____________________
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ – เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
“ผู้ที่จะได้รับอนุญาตต้องมาแจ้งวัตถุประสงค์ของการปลูก ว่าจะปลูกเพื่ออะไร ร่วมกับใคร ปริมาณเท่าไหร่ หรือปลูกเพื่อส่งการแพทย์แผนไทย ก็ต้องมีรายละเอียดว่าส่งใคร ปริมาณเท่าไหร่ หลักการคือไม่ได้อนุญาตให้มีการปลูกกัญชาเสรี เพื่อควบคุมการใช้กัญชาในปริมาณที่เหมาะสม ไม่หลุดไปนอกระบบ และเพื่อให้ทราบปริมาณที่ชัดเจน เพราะประเทศไทยอยู่ภายใต้สนธิสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศ ซึ่งต้องรายงานโควตาการผลิต ส่งออก ให้กับคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศได้รับทราบด้วย”