ตลาดเครื่องดื่มไทยมีความคึกคักมากขึ้น หลังหลายแบรนด์เปิดตัวเบียร์ 0.0% รับกระแสการบริโภคที่แปลกใหม่ และการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งคาดว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะเติบโตถึงปีละ 15% ขณะที่ อย. รับมือทันควันห้ามโฆษณาเชื่อมโยงแบรนด์เบียร์
ตลาดเบียร์ในไทยชะลอตัว
เบียร์ถือเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการที่หลากหลายของคนทุกกลุ่มมาอย่างยาวนาน ซึ่งข้อมูลจาก Allied Market Research เผยถึงมูลค่าตลาดเบียร์ทั่วโลก ในปี 2560 สูงแตะระดับ 5.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 19 ล้านล้านบาท) ขณะที่มีการประเมินว่าตลาดเบียร์จะโตขึ้นต่อเนื่องในช่วง 6 ปีนับจากนี้ ตั้งแต่ปี 2562-2568ตลาดเบียร์จะมีการเติบโตขึ้นประมาณ 1.8% ซึ่งจะดันให้มูลค่าพุ่งทะลุ 6.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 22 ล้านล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจดูตลาดเบียร์ในไทย ถือว่าอยู่ในภาวะชะลอตัวจากสภาพเศรษฐกิจ บวกกับกระแสการรักสุขภาพแพร่หลายมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายโดยรวม ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ารวมประมาณ 1.8 แสนล้านบาท แต่ทว่าในบรรยากาศที่ซบเซากลับพบว่าเซ็กเมนต์เบียร์พรีเมียม ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 6% ยังมีโอกาสและทิศทางเติบโตได้อีกมาก แม้อัตราเติบโตจะไม่หวือหวา แต่ยอดจำหน่ายค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเบียร์พรีเมียมนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยการบริโภคในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง ประกอบกับความต้องการลิ้มลองรสชาติที่แปลกใหม่ ตามความนิยมของนักดื่ม
ตลาดเบียร์ 0.0% คึกคัก แบรนด์ดังส่งผลิตภัณฑ์ใหม่
ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด ส่งผลให้ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ทั้งรายใหญ่และเล็กต่างแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในทุกเซ็กเมนต์มากขึ้น ผนวกกับปัจจุบันมีกระแสการบริโภคเครื่องดื่มที่แปลกใหม่ และการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม จึงทำให้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ (เบียร์ 0.0%) หรือเครื่องดื่มมอลต์ที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ (Non-Alcoholic Malt Beverage) เริ่มได้รับความสนใจ และเพิ่มความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่ในตลาดเครื่องดื่ม
จากข้อมูล Global Market Insights แสดงถึงมูลค่าตลาดเบียร์ 0.0% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในปี 2559 ว่ามีมากกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4.95 หมื่นล้านบาท โดยมีตลาดหลัก ได้แก่ จีน, อินเดีย, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ขณะที่ในไทยมีการนำเข้ามาในตลาดอย่างเงียบๆ ประมาณ 5 ปีแล้ว
คุณอาชว มหามงคล กรรมการผู้จัดการบริษัท กัปตัน บาร์เรล จำกัด เปิดเผยว่าได้นำเข้า บาวาเรีย 0.0% มอลต์ ดริ้งค์ มาจำหน่ายในไทยตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากมองว่าตลาดเบียร์ 0.0% ในไทยมีทิศทางการเติบโตและความนิยมเพิ่มสูงขึ้นตามตลาดเอเชียแปซิฟิกและยุโรป ขณะที่เทรนด์การดื่มเบียร์ 0.0% ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงขาขึ้น โดยเติบโตปีละ 15% จึงเชื่อว่าจะเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลิ้มลองรสชาติเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ และคาดว่าตลาดจะค่อยๆ ร้อนแรงมากขึ้น จึงได้วางแผนเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย โดยตั้งเป้าขยายตัวแทนจำหน่ายมากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ตามร้านอาหาร ร้านคราฟต์เบียร์ รวมไปถึงร้านกาแฟหรือคาเฟ่ ควบคู่ไปกับซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำ และช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ JD.co.th
เจาะกลุ่มคนมิลเลนเนียมอยากดื่ม… แต่(อยาก)รักสุขภาพ
ด้านไฮเนเก้น ก็ได้ส่ง ไฮเนเก้น 0.0 (ไฮเนเก้นซีโร่ซีโร่) สู่ตลาดในไทยเช่นเดียวกัน ซึ่งริเริ่มจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่พบว่ากำลังหาวิถีชีวิตที่อยู่บนความพอเหมาะพอควร (Healthy Balance Lifestyle) โดยเฉพาะกลุ่ม Young Millennial ที่ 97% เชื่อว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์มากเกินไป ทำให้พลาดโอกาสพบหนุ่มสาวในฝัน อีกทั้งผู้บริโภคไทย 15% เคยดื่มเบียร์แต่ต้องหยุดดื่ม เพราะมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ โดยเปิดตัวเมื่อปี 2560 ในเนเธอร์แลนด์ สเปน และเยอรมนี จนปัจจุบันมี 38 แห่งทั่วโลก ซึ่งไทยเป็นแห่งที่ 2 ของอาเซียนต่อจากสิงคโปร์
คุณเมาด์ ฮา.เก. เมย์โบม์ -ฟาน เวิล ผู้อำนวยการแบรนด์ไฮเนเก้นระดับภูมิภาคประจำเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2553 – 2558 กลุ่มเครื่องดื่มประเภท 0.0 (Zero Alcohol) ในยุโรปและรัสเซีย มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งประมาณ 5% ต่อปี และเชื่อว่าภายในปีนี้จะเข้าถึงผู้บริโภคไทย 16 ล้านคน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเบียร์ 0.0% แต่เนื่องจากอยู่ภายใต้แบรนด์ไฮเนเก้น จึงให้ความสำคัญกับการทำตลาดบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม โดยใช้ข้อกำหนดในการจำหน่ายให้แก่ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปเหมือนกับเบียร์ เวลาในการจำหน่ายก็ยึดตาม พ.ร.บ.การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ พ.ศ.2551 ระบุไว้ แต่ก็มีโอกาสในการทำตลาด มากขึ้น เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มมอลต์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ทำให้ดื่มได้ทั้งในช่วงระหว่างวัน อาหารกลางวัน หรือออกกำลังกาย
อย. ติดเบรก ห้ามโฆษณาโยงแบรนด์เบียร์
ในขณะที่แบรนด์ต่างๆ ได้เปิดตัวสินค้าใหม่ ในกลุ่มเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์อย่าง คึกคัก และพบว่ามีการโฆษณาว่าเป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์นั้น นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ชี้แจงว่า เบียร์จัดเป็นสุราตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งหมายถึงวัตถุหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ ดื่มได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา แต่ไม่รวมเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5 ดีกรี การนำเบียร์มาสกัดแอลกอฮอล์ออกหรือลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงให้ไม่เกิน 0.5 ดีกรี จัดเป็นเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท โดยผลิตภัณฑ์ต้องมีมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเรื่องเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และต้องส่งผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ประกอบการพิจารณา โดยต้องคงเหลือไม่เกิน 0.5% จึงจะได้รับเลขประจำตัวผลิตภัณฑ์อาหาร
จากการตรวจสอบฐานข้อมูลการอนุญาตของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบการอนุญาตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ ภายใต้ชื่อ “เครื่องดื่มมอลต์ที่สกัดแอลกอฮอล์ออก” และ “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์” จำนวน 23 รายการ ทั้งนี้ การโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่สกัดแอลกอฮอล์ออก หรือลดปริมาณแอลกอฮอล์ ที่เป็นการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ ต้องขออนุญาตโฆษณากับ อย. ก่อน จึงจะสามารถเผยแพร่ได้ โดยต้องมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าสารอาหารที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์มีคุณประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างจริง และต้องแสดงข้อมูลบนฉลากโภชนาการ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบด้วย
โดยการโฆษณาต้องไม่สื่อในทำนองที่ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงถึงเบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมแสดงข้อความ “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์/สกัดแอลกอฮอล์ออก” คู่กับการแสดงภาพเครื่องดื่มทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์ หากตรวจพบการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากเชื่อมโยงกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือชักจูงให้ผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือแสดงคุณภาพ สรรพคุณ คุณประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้เข้าใจว่ามีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยอ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ ที่ยังไม่ผ่านการประเมินการจาก อย. ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับกรณีผลิตภัณฑ์ที่เป็นข่าว อย. ตรวจสอบแล้ว พบเป็นการรีวิวผลิตภัณฑ์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้รีวิวต่อไป นอกจากนี้จะตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หากพบความเชื่อมโยงกับเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอีกด้วย
นับว่า อย. ออกมากำกับดูแลอย่างทันควัน ก่อนกระแสการดื่มเบียร์ 0.0% จะกระจายในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งอาจจะเป็นช่องในการประชาสัมพันธ์และทำการตลาดที่อาจเชื่อมโยงกับแบรนด์เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ ทั้งนี้ ต้องจับตาดูของเบียร์ 0.0% ต่อไป ว่าจะเติบโตและสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดเครื่องดื่มไทยในทิศทางใด
____________________
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ – เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
“การโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่สกัดแอลกอฮอล์ออก ลดปริมาณแอลกอฮอล์ ต้องขออนุญาตกับ อย. ก่อน จึงจะสามารถเผยแพร่ได้ โดยต้องมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าสารอาหารที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์มีคุณประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างจริง และต้องแสดงข้อมูลบนฉลากโภชนาการ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบด้วย และต้องไม่สื่อในทำนองที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงถึงเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ พร้อมแสดงข้อความ เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์/สกัดแอลกอฮอล์ออก คู่กับภาพเครื่องดื่มทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด”
[English]
New & Upcoming Trend: 0.0% Alcohol Beer
Several brewers have actively launched their version of alcohol-free beer to catch up with a new “drinking responsibly” trend.
Allied Market Research reported that the global beer market was worth 590 billion U.S. dollars in 2017 and its value is expected to grow 1.8% over the next six years (2019-2025) to 680 billion U.S. dollars.
In Thailand, the beer market, which has been slowing down because of the local economic conditions and the healthy living trend, is now estimated to be worth around 180 billion baht. Despite this, the ‘premium beer’ segment that represents 6% of the total market still looks promising and is likely to continue growing.
The new trend — a part of the efforts to capture potential segments — is alcohol-free beer of 0.0% alcohol beer and non-alcoholic malt beverage, which has been increasingly well-received among consumers around the world.
Data from Global Market Insights stated that the value of this segment in Asia Pacific was over 1.5 billion U.S. dollars in 2016.
Business operators in Thailand believe this type of drinks will be more and more popular and grow at the annual rate of 15% over the next 3-5 years.