เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 โดยมีเหตุผลและความจำเป็นเพื่อการจัดเก็บภาษีเป็นไปย่างมีประสิทธิภาพและเสรีภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
บังคับใช้ทุกคน ไม่ใช่แค่ค้าขายออนไลน์
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 คือ การให้ธนาคาร สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน (E-Wallet) มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะในปีที่ล่วงมา เฉพาะที่อยู่ในความครอบครองต่อกรมสรรพากร ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
โดย กรมสรรพากร ได้ออกมาระบุผ่านเพจเฟซบุ๊ก กรมสรรพากร (Revenue Department) ว่า พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เพื่อรองรับระบบภาษี และเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment Master Plan อีกทั้ง อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี จากเดิมผู้เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 3% จะต้องเตรียมเอกสารมายื่นต่อกรมสรรพากรเอง แต่สถาบันการเงินจะหักภาษี และเป็นผู้ยื่นให้แทนทั้งหมด รวมทั้งเป็นการรองรับการยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จากเดิมที่ต้องยื่นเอกสารเป็นกระดาษ ก็จะเปลี่ยนเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน
ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ e-Tax Invoivce/e-Receipt ผู้ประกอบการสามารถจัดทำใบกำกับภาษี และใบรับในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถส่งข้อมูลใบกำกับภาษีผ่านช่องทางที่กรมสรรพากรกำหนด (รายละเอียดเพิ่มเติม eTax.rd.go.th) สำหรับบริการ e-Withholding Tax ผู้จ่ายเงินได้สามารถเลือกตัวจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านตัวกลาง เช่น ธนาคาร ได้เป็นต้น รวมถึง e-Filing รองรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีครบทุกรูปแบบ ซึ่งเพิ่มช่องทางการยื่นแบบออนไลน์ รวมถึงรองรับการยื่นแบบภายในเวลาหรือเกินกำหนดระยะเวลา
ธุรกรรมลักษณะเฉพาะคืออะไร
ในส่วนของข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะ หรือข้อมูลบัญชีที่เข้าในข่าย ที่ธนาคาร สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการ e-Wallet ให้กรมสรรพากร ประกอบด้วย
1. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน ตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี/ธนาคาร และ 2. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน ตั้งแต่ 400 ครั้ง/ปี/ธนาคาร และยอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปนั้น
ซึ่งทาง กรมสรรพากร ได้ออกมายืนยันว่า เป็นการส่งข้อมูลเท่านั้น ทำให้สามารถแยกข้อมูลผู้เสียภาษี รวมทั้งกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ได้แม่นยำมากขึ้น ไม่ได้เอาไปตรวจสอบเรียกเก็บภาษี เพราะไม่ใช่ว่าจะตรวจสอบง่ายๆ ซึ่งตามประมวลรัษฎากร หากกลุ่มผู้ค้ามีรายได้ถึงเกณฑ์ ก็ต้องยื่นแบบเสียภาษีให้ถูกต้องอยู่แล้ว กรมฯ ต้องการเฉพาะข้อมูล ชื่อ นามสกุล จำนวนครั้งที่ฝากโอน และวงเงินที่ได้รับเท่านั้น เพื่อไปทำการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เสียภาษี กลุ่มผู้เสียภาษี สำหรับทำแผนปรับปรุงประสิทธิภาพจัดเก็บต่อไป
เริ่มส่งข้อมูลครั้งแรก 31 มีนาคม 2563
แม้ว่า พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 นี้เป็นต้นไป แต่ได้มีการระบุว่ากำหนดให้ ธนาคาร สถาบันการเงิน สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการ e-Wallet ส่งข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร ครั้งแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยแยกเป็นรายธนาคาร และไม่มีการเชื่อมโยงกัน
ซึ่งผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ต่อกรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของทุกปี โดยเริ่มครั้งแรก ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 กรณีฝ่าฝืน มีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 1 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ภายใน 180 วันจะมีการออกกฎกระทรวง ซึ่งต้องติดตามต่อไป