กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ WWF ประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) เชิญชวนร่วมกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2019)” ในวันที่ 30 มี.ค. 62 เวลา 20.30 – 21.30 น.
โดยนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour)” เริ่มครั้งแรกในปี 2550 และกรุงเทพมหานครได้ร่วมกิจกรรมครั้งแรกในปี 2551 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 12 แล้ว
ถือเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการความร่วมมือระดับนานาชาติ ที่รณรงค์ให้ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยมีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ลดการใช้พลังงาน สร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนให้มีจิตสำนึกที่จะช่วยแก้ไข และบรรเทาสาเหตุที่จะนำไปสู่วิกฤตการณ์อันเกิดภาวะโลกร้อนในอนาคต
ซึ่งประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากกิจกรรมดังกล่าวคือ ในปี 2561 มีองค์กรเข้าร่วมกิจกรรม 121 แห่ง ในช่วงที่มีการปิดไฟ 1 ชั่วโมง พื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 2,002 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินประมาณ 7,860,000 บาท แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1,026 ตัน
สำหรับปีนี้กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับองค์กรต่างๆ 262 แห่ง จัดกิจกรรมพร้อมกับ 188 ประเทศทั่วโลก ในวันที่ 30 มี.ค. 2562 ณ บริเวณลานสแควร์ C ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน ภายใต้แนวคิด “ปิดเพื่อโลกเปลี่ยนเพื่ออนาคต” เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยมีเป้าหมาย 3 เรื่อง คือ 1. ลดการใช้พลังงาน 2. ลดการใช้พลาสติก และ 3. รักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในกลุ่มเขตต่างๆ 6 กลุ่มเขตระหว่างวันที่ 25 – 30 มี.ค. 2562 อาทิ การเดินรณรงค์เพื่อสุขภาพ การปั่นจักรยาน การจัดเก็บขยะ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การรณรงค์เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้
รวมถึงเชิญชวนประชาชนร่วมปิดไฟที่ไม่จำเป็นต้องใช้ 1 ชั่วโมงในช่วงเวลา 20.30 – 21.30 น. โดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งจะมีสถานที่ต่างๆ ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ในครั้งนี้ด้วย อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เสาชิงช้า สะพานพระราม8 และภูเขาทอง (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) รวมถึงองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่เขตต่างๆ
อีกทั้งกรุงเทพมหานครจะมีการปิดไฟถนนเขตละ 1 – 2 ถนน เท่าที่จำเป็นไม่ได้ปิดตลอดสาย และคาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 2,200 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามหากนับรวมการจัดกิจกรรมตั้งแต่ปี 2551 – 2561 สามารถลดการใช้กระแสไฟฟ้าได้ 10,259 ตัน เป็นเงิน 64,780,000 บาท ซึ่งกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2019)” ถือเป็นการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่หากทุกคนร่วมใจกันปิดไฟ 1 ชั่วโมง ตัวเลขปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงจะบอกถึงความตั้งใจจริง
ซึ่งการปิดไฟไม่ได้หมายความว่าต้องปิดทุกดวง หรือปิดทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง อาจจะปิดไฟเพียงแค่เฉพาะในส่วนที่คิดว่าไม่จำเป็นใช้ในบางพื้นที่ ซึ่งหากร่วมมือกันอย่างจริงจัง เชื่อว่าปัญหามลพิษต่างๆ จะดีขึ้นได้
นอกจากนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีรถยนต์ 7 ที่นั่ง ประมาณ 4 ล้านคัน หากแต่ละคันลดการใช้น้ำมัน 1 ลิตร ก็จะสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 2.2 กิโลกรัม และประหยัดเงินได้ 80 ล้านบาทต่อวัน ขณะเดียวกันหากทุกครัวเรือนลดพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 1% ต่อปี ก็สามารถประหยัดงบประมาณในการผลิตไฟฟ้าได้ 500 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งการปลูกต้นไม้หนึ่งต้นสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 9 กิโลกรัม