Wednesday, May 24, 2023
More

    คนไทยอายุยืนขึ้นเฉลี่ย 75.3 ปี เตรียมแผนพัฒนาเมืองสำหรับสังคมสูงวัย

    ปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และเทรนด์สุขภาพที่มาแรง ทำให้คาดการณ์อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 75.3 ปี และเมื่อประมาณการตามรุ่นอายุ มีความเป็นไปได้ว่าคนไทยที่เกิดในปี 2559 จะมีอายุยืนถึง 100 ปี ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของสังคมสูงวัย

     


    คาดปี 2573 คนชนบทจะไหลเข้าเมืองเพิ่มขึ้น

    สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คาดการณ์ว่า ตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยมีอายุขัยเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี ทำให้คนไทยมีอายุเฉลี่ยที่ 75.3 ปี ในปี 2559 จากเดิมที่ 55 ปี ในปี 2504 และเมื่อประมาณการอายุคนไทยตามรุ่นอายุ ซึ่งคิดผลของพัฒนา การทางเทคโนโลยีเข้ามาด้วย พบว่า มีความเป็นไปได้ว่าคนไทยที่เกิดในปี 2559 จะมีอายุยืนเฉลี่ยถึง 80-98 ปี หรือเกือบ 100 ปี โดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2560 คนไทยอายุ 100 ปี มีจำนวน 9,041 คน ขณะที่อายุ 90-99 ปี มีจำนวน 162,532 คน

    ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ในยุคนี้การมีอายุมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กลายเป็นคนสูงวัย เนื่องจากคนอายุ 60 ปีขึ้นไปยังมีความสามารถที่จะทำงานได้ จึงควรนิยามผู้สูงอายุในไทยเป็น 65 ปี ให้เป็นไปตามเกณฑ์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว

    ล่าสุด คณะรัฐมนตรีอนุมัติแก้ไขร่างกฎ ก.พ. เกี่ยวกับการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 70 ปี โดยกำหนดให้ข้าราชการที่สามารถขยายอายุเกษียณออกไปจะต้องอยู่ในสาขาที่ขาดแคลน อยู่ในสายวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ระดับ 9 และ ระดับทรงคุณวุฒิระดับ 10 หรือตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส หรือระดับทักษะพิเศษ เพื่อบรรเทาปัญหาความขาดแคลนบุคลากรในสาขาที่เป็นภารกิจสำคัญของรัฐ และเพื่อรองรับปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัย

    อีกทั้งในอนาคตผู้สูงวัยในต่างจังหวัดจะย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น โดยปี 2561 มีประชากรอาศัยในเขตเมือง 51% และคาดว่าปี 2573 ประชากรเมืองจะอยู่ที่ 60% ขณะที่ชนบทมีเพียง 40% ดังนั้นเมืองควรเอื้อให้คนทุกวัยใช้ศักยภาพของตัวเองในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้เต็มที่ (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1)

    คมนาคมกทม.ยังต้องพัฒนา?

    ในสังคมอายุยืนนั้น ผู้สูงวัยจะมีศักยภาพได้ก็ต้องมีสุขภาพแข็งแรง มีความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต โดยต้องมีการออกแบบจัดการเมืองเอื้อต่อคนทุกวัยและช่วยให้ผู้สูงวัยมีพลัง (Active Aging) โดยจัดให้มีพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด โดยเข้าถึงง่าย เดินทางสะดวก สามารถเดินไปได้  มีระบบขนส่งสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตร ตลอดจนลดความเร็วของรถยนต์ในย่านที่มีผู้สูงวัยพักอาศัยเพื่อลดอุบัติเหตุ

    ยกตัวอย่าง ปักกิ่ง สร้างเมืองสำหรับผู้สูงอายุ กำหนดให้เมืองจัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายในสวนสาธารณะกว่า 4,000 แห่ง ตั้งแต่ปี 2538 ขณะที่ฮ่องกงแม้มีพื้นที่จำกัด แต่สนับสนุนให้มีพื้นที่สาธารณะรองรับผู้สูงอายุเช่นกัน

    สิงคโปร์ กำหนดพื้นที่ผู้สูงอายุหนาแน่นเป็น Silver Zones 15 โซน เพื่อให้ผู้สูงอายุเดินได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งมีแผนจะเพิ่มเป็น 50 โซน ภายในปี 2566 คาดว่าจะลดอุบัติเหตุผู้เดินเท้าสูงอายุลงเกือบ 75%

    ด้านญี่ปุ่น มีนโยบายช่วยคนสูงวัยเข้าถึงระบบขนส่ง ออกกฎหมาย Barrier Free ปี 2549 กำหนดมาตรฐานการเข้าถึงระบบขนส่งสำหรับทุกอาคาร โดยสนับสนุนงบประมาณใช้เทคโนโลยีจัดการการขนส่งเพื่อผู้สูงอายุ บริการ “Shared Taxi” ซึ่งค่าโดยสารถูกกว่ารถแท็กซี่ ณ เมืองชิงาซากิ

    ขณะที่คนกรุงเทพฯ แม้จะมีการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกพื้น แต่ผู้สูงอายุก็ยังเข้าถึงรถไฟฟ้าได้ยาก ด้วยสถานีมีลิฟท์และทางลาดไม่ครอบคลุม โดยปัจจุบันรถไฟฟ้า 77 สถานี มีทางเข้า-ออก 201 ทาง แต่เกินครึ่ง หรือ 59% ไม่มีลิฟท์และทางลาด ทำให้ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพารถเมล์เป็นหลัก แต่ปัญหาหลักของรถเมล์ไทยปัจจุบันคือ มีรถชานต่ำเพียง 30% ของรถเมล์ทั้งระบบ อีกทั้งป้ายรถเมล์ส่วนใหญ่ไม่อำนวยสำหรับรถเมล์ชานต่ำ

    อย่างไรก็ตาม ล่าสุด รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เริ่มดำเนินการใช้อุปกรณ์ทางพาดพับได้เป็นที่แรกในระบบขนส่งสาธารณะทางรางของไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงวัย ผู้ทุพพลภาพและผู้พิการ สามารถเข้าสู่ขบวนรถไฟฟ้าได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2)


    ออกแบบพื้นที่สาธารณะพัฒนาเมือง

    เพื่อรองรับสังคมสูงวัย เมืองจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เช่น ทางเท้าและสวนสาธารณะ เพื่อส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจ ทั้งนี้ จากโครงการ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” (GoodWalk) โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) พบว่า กรุงเทพฯ และเมืองขนาดรองในไทย 33 เมือง เป็นเมืองเดินได้ คือสามารถเดินไปยังพื้นที่เป้าหมายโดยไม่ใช้รถยนต์ แต่กลับเป็นเมืองเดินไม่ดี เนื่องจากเดินไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย และไม่น่ารื่นรมย์

    ปัจจุบัน กทม. มีสวนสาธารณะหลัก 39 แห่ง และรอง 54 แห่ง อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้บริการอย่างเพียงพอ เช่น ห้องสุขา ที่จอดรถ เครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง สำหรับผู้สูงอายุ ล่าสุด สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้เพิ่มนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งในรูปแบบของสวนสาธารณะ และการปลูกต้นไม้ เกาะกลาง ทางเท้า และที่สาธารณะต่างๆ โดยหนึ่งในโครงการคือ โครงการปลูกต้นไม้และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีเป้าหมายปลูกต้นไม้มากกว่า 1 แสนต้น ในระยะเวลา 1 ปี  ตั้งแต่เดือนพ.คง 2562 – พ.ค. 2563

    ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ 1 ใน 4 เข้าถึงสวนสาธารณะในระยะเดินได้ 1.5 กิโลเมตร ขณะที่มีผู้สูงวัยในกรุงเทพฯ 8% เท่านั้นที่เลือกไปพักผ่อนที่สวนสาธารณะ (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 3)


    อย่างไรก็ตาม พื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายพื้นที่สีเขียวเพื่อยกระดับสุขภาวะให้คนเมือง เช่น โครงสร้างทิ้งร้างและพื้นที่ใต้ทางด่วน เฉพาะใจกลาง กทม. มีพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 600 ไร่ หรือเท่ากับ 2 เท่าของขนาดสวนลุมพินี หากได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว จะส่งผลให้การเข้าถึงสาธารณูปการสำหรับสุขภาพมีเพิ่มมากขึ้น

    ขณะที่โครงการพระปกเกล้าสกายปาร์ก ที่สภากรุงเทพฯ อนุมัติงบประมาณแล้ว คาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 2563 จะกลายเป็นทางเดิน-ทางจักรยานสีเขียวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของคนเมือง

    ทั้งนี้ การออกแบบเมืองเพื่อรองรับอนาคตที่มีคนสูงวัยเพิ่มขึ้น จะสามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการที่หลากหลายของคนได้อย่างแท้จริง ซึ่งการเป็นสังคมอายุยืนนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ มากมาย ภาครัฐ เอกชน และประชาชน จึงควรวางแผนและเตรียมการที่ดี เพื่อเตรียมความพร้อมให้สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ
    ____________________

    ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล – ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)

    “การออกแบบเมืองที่เป็นมิตรกับคนสูงวัย เป็นมาตรฐานการออกแบบอาคารและพื้นที่สาธารณะทั่วโลก หากสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ การออกแบบเมืองสำหรับคนที่ยังไม่แก่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนเหล่านี้แก่อย่างมีคุณภาพ ฉะนั้นเมืองต้องสร้างวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่ดี ส่งเสริมให้คนสะสมทุนสุขภาพไว้ใช้ตอนแก่”

    [English]
    Thailand’s Growing Average Life Expectancy Means Need for More Attention
    Modern technology and growing health consciousness have helped increase the average life expectancy of Thais to 75.3 years.

    Thailand Development Research Institute (TDRI) said that the latest number was a significant rise from an average of 55 years found in 1961.  Based on this finding, those who were born in 2016 will likely live until they are 80-98 years of age.

    TDRI said that, despite a growing population of older people, Thailand cannot be named an aging society just yet because people aged 60 years or older can still work and that, under a definition given by the United Nations, Thailand’s benchmark age to justify an aging society should be 65 years or higher.

    For a quality aging society, where people live longer, older people must be healthy and living a safe and secure life, while more elements, including the city planning and design, must be made to enable active aging.

    For example, Beijing has now more than 4,000 public parks to allow people to exercise, while Singapore has designated 15 Silver Zones for older people to live safely and Japan has introduced a policy to allow the elderly more convenience access to public transportation system.

    In Bangkok, despite sprawling electric train stations, old people still find it hard to access such a service, as 59% of them are currently not equipped with elevators and ramps.

    Urban Design and Development Center (UddC) found that Bangkok and 33 other secondary cities are areas where people can walk without having to rely on cars, but it is not going to be a good walk because of inferior, unsafe and unpleasant designs.