บรรจุภัณฑ์แก้วถือเป็นเครื่องใช้ที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน จากวัฒนธรรมการบริโภคเครื่องดื่มและอาหาร ซึ่งคาดว่าในปี 2565 มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วจะเติบโตขึ้นเป็น 84.5 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเทรนด์การงดใช้พลาสติก จากทิศทางดังกล่าว ทำให้ BGC หนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว จึงไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้เป็นที่ 1 ในไทยและอาเซียนต่อไป
ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แก้วในไทย
จากข้อมูลของ GlobalData Plt. ระบุว่าในปี 2561 ตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วในไทยมีมูลค่ารวม 73.8 พันล้านบาท และมีการใช้บรรจุภัณฑ์จำนวน 10,398.50 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 57.8 พันล้านบาท และใช้ บรรจุภัณฑ์จำนวน 9,541 ล้านหน่วย คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.5% และ 1.1% โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วจะเติบโตขึ้นเป็น 84.5 พันล้านบาท และมีการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มเป็น 11,826 ล้านหน่วย เติบโตเฉลี่ยต่อปี 3.2% และ 3.3% ซึ่งการเติบโตยังคงมาจากความต้องการของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร รวมถึง เภสัชภัณฑ์ โดยเฉพาะการบริโภคเครื่ืองดื่มไม่ผสมและผสมแอลกอฮอล์
สำหรับแนวโน้มการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วที่กำลังเกิดขึ้น คือ 1. การเลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพดี (Premiumzation) โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว (Personal Care) และเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ 2. การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ ซึ่งบรรจุภัณฑ์แก้วมีความปลอดภัย และมีแนวโน้มที่จะทำปฏิกิริยาเคมีน้อยกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น จึงส่งผลให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น และ 3. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคกำลังนิยมใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recyclable Packaging) ซึ่งแก้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด ทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์แก้วมากขึ้น
นับเป็นความท้าทายของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วของไทย แม้ว่าการแข่งขันในตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วนั้นจะมีข้อจำกัดในการเข้าแข่งขัน (High Barrier to Entry) เนื่องจากลงทุนสูง ใช้ประสบการณ์มาก รวมถึงมีบริษัทรายใหญ่ซึ่งอยู่ในเครือของบริษัทที่ผลิตเครื่องดื่มหรือประกอบธุรกิจค้าปลีก ที่ต่างก็มีส่วนแบ่งการตลาดสูงอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การจะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้นจึงต้องมีการลงทุนจำนวนมาก และมีความสามารถที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย
โดย บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC คือหนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ของไทย ซึ่ง คุณศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ในฐานะกรรมการผู้จัดการ BGC ได้เปิดเผยถึงทิศทางการขับเคลื่อนบริษัทที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากเทรนด์ที่กำลังจะเปลี่ยนไป พร้อมผลักดันตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วตั้งแต่การผลิตจนถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
จุดแข็งที่พาให้ BGC ก้าวเป็นผู้นำในไทยและอาเซียน
สำหรับ BGC มีจุดแข็งข้อแรก คือ การ เป็นหนึ่งในผู้นำของอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วในเมืองไทย ซึ่งในอุตสาหกรรมมีบริษัทรายใหญ่อยู่ 3 บริษัท คิดเป็นสัดส่วนของกำลังการผลิตอยู่ที่ 95% อีก 5% เป็นบริษัทรายเล็กอีก 3 บริษัท เฉพาะสัดส่วนของ BGC อยู่ที่ประมาณ 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งหากเทียบอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วของไทยกับต่างประเทศ ไทยถือเป็นฐานผลิตที่ใหญ่พอสมควร ซึ่งประเทศที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์แก้วปริมาณมากนั้น 1. ต้องเป็นประเทศที่เจริญพอสมควร และ 2. มีวัฒนธรรมการกินดื่มด้วยการใช้ขวดแก้ว อย่างเวียดนามก็เป็นประเทศที่เจริญ จำนวนประชากรก็มาก แต่นิยมใช้กระป๋องมากกว่า โดยในระดับเอเชีย จีน คือประเทศที่มีเตาหลอมแก้วมากที่สุดนับพันเตา รองลงมาคืออินเดีย ซึ่งพอๆ กับไทยที่มีจำนวนเตาหลอมแก้ว 35 เตา เฉพาะ BGC ก็มี 11 เตาแล้ว
ฉะนั้น BGC จึงถือเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจที่เรียกว่าผู้เล่นน้อยราย ไม่เหมือนพลาสติกหรือกล่องกระดาษที่มีผู้เล่นเป็นร้อยๆ รายซึ่งมีการลงทุนประมาณ 5-10 ล้านบาท ก็สามารถเปิดกิจการได้แล้ว แต่โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว 1 โรง ต้องลงทุนสูงถึงเกือบ 2 พันล้านบาท และต้องใช้ช่างที่มีประสบการณ์สูง เพราะแก้วถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งเริ่มมาจากการเป่าแก้ว เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
ข้อ 2 คือ การมีฐานลูกค้าที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นในเรื่องของความต้องการสั่งซื้อจึงมีอย่างสม่ำเสมอ ข้อ 3 การที่อยู่ในอุตสาหกรรมมานานกว่า 45 ปี ทำให้เรียนรู้เรื่องการจัดการต้นทุนที่ดีและเหมาะสมกับคุณภาพ ข้อ 4 เป็นบริษัทที่เชื่อมั่นในการลงทุน BGC จะไม่เป็นบริษัทที่ตื่นมาวันหนึ่งโลกไป 4.0 แล้วช้าหรืออยู่ปลายแถว ตรงกันข้าม จะ Keep up ตัวเองให้ทันสมัยเสมอ ด้วยการลงทุนทั้งในด้านเทคโนโลยี ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ รวมถึงการเทรนนิ่งพนักงาน เพราะฉะนั้นเรื่องการผลิตเมื่อเทียบกับบริษัทในยุโรป จึงเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีอยู่ในระดับแถวหน้า ซึ่งทำให้ BGC มีประสิทธิภาพที่ดี อันมาจาก Mindset ของผู้บริหารรุ่นก่อนจนถึงปัจจุบัน ที่ไม่ลังเลในการที่จะลงทุน เพื่อเพิ่มความทันสมัยและประสิทธิภาพการผลิต
ข้อ 5 ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานและมีบริษัทแม่ที่แข็งแรง ทำให้มีเงินลงทุนเยอะ และข้อ 6 การมีพนักงานตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงระดับปฏิบัติการที่มีประสบการณ์ในวงการแก้วมายาวนาน รวมถึงมีพนักงานรุ่นใหม่ๆ จากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย ทำให้มีมุมมองในการทำงานที่หลากหลาย
เป้าหมายของ BGC ในปี 2562
ในปี 2562 นี้ BGC มีกลยุทธ์สำคัญคือ 1. เพิ่มกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว มีการส่งออกบรรจุภัณฑ์แก้วไปยัง ต่างประเทศใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ 1. AEC แถบประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม, เมียนมา, สปป.ลาว และกัมพูชา, 2. ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์, 3. ยุโรป และ 4. อินเดีย โดยคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 5% ของยอดขายทั้งหมด ส่วนในปีนี้ได้ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายขึ้นเป็น 10% โดยไตรมาสแรกที่ผ่านมามีการส่งออกเพิ่มขึ้น 10% แล้ว ซึ่งถ้าเป็นไปในอัตรานี้ก็ทำให้ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 10% ของยอดขายทั้งหมด ตาม เป้าหมาย
ส่วนกลยุทธ์ที่ 2 คือการเพิ่มยอดขายของสินค้าที่มีราคาสูง เช่น สินค้าเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าทำยาก โรงงานต้องมีเครื่องมือที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งช่างก็ต้องมีประสบการณ์ และกลยุทธ์ที่ 3 เน้นการลดต้นทุนการผลิต ผ่านการผลิตที่มีคุณภาพสูง ด้วยศักยภาพของเครื่องจักร ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสู่โลก 4.0 ของ BGC
BGC ต้องการเป็นอินดัสทรี 4.0 โดยทำให้เครื่องจักรสามารถสื่อสารกันได้ ด้วยการติดตั้งเครื่อง IRD-IGC Installation ซึ่งเมื่อเกิดกรณีอย่างเช่น ขวดมีฟองที่เกิดจากเตาหลอมใช้ความร้อนไม่เพียงพอ เครื่องก็สามารถบอกจุดที่เกิดปัญหาได้และสั่งให้เตาหลอมเพิ่มความร้อนได้ในทันที เป็นต้น เปรียบเสมือนมีตาที่คอยมองและตรวจสอบไลน์การผลิตมากขึ้น
ขณะเดียวกันในปีนี้ BGC ยังได้มีการลงทุนกับซอฟต์แวร์จัดการการใช้พลังงานในเตาหลอมแก้ว หรือ Furnace Expert Control System (ES III) อันเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีการคิดค้นมาได้ 2-3 ปี โดยในกระบวนการผลิตจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในเตาหลอมและควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ 1,600 องศาเซลเซียส ตลอด 24 ชั่วโมง ซอฟต์แวร์นี้จะมาควบคุมความร้อนที่เป่าเข้าไปในเตาหลอมแทนคน ทำให้อุณหภูมิความร้อนคงที่มากที่สุด
นอกจากนั้น ยังได้มีการติดตั้งเครื่องล้างแม่พิมพ์ด้วยคลื่นอัลตร้าโซนิค หรือ Ultrasonic Mold Cleaning โดยในแต่ละปี BGC ใช้ต้นทุนหลายร้อยล้านบาทกับแม่พิมพ์ ซึ่งใช้งานไปไม่กี่วันก็จะมีน้ำมันติดค้างค่อนข้างเยอะ ก็ต้องนำเครื่องพ่นทรายมาล้างทำความสะอาดแม่พิมพ์ ซึ่งทำให้แม่พิมพ์เสียเร็วขึ้นด้วย จึงได้สั่งเครื่องทำความสะอาดแม่พิมพ์แบบใหม่ เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นเมื่อ 2-3 ปี ราคาหลายสิบล้านบาท แต่ช่วยยืดอายุการใช้งานของแม่พิมพ์ได้ยาวนานขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการไม่รอช้าในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพราะคือแนวคิดในการทำงานของ BGC ที่มีการลงทุนและพัฒนาตลอด เพื่อทำให้ตัวเองฟิตอยู่ตลอดเวลา
การมีส่วนร่วมกับชุมชนรอบโรงงาน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามากขึ้น แต่ BGC ก็ยังคงมีการจ้างงานคนในท้องถิ่นที่มีโรงงานตั้งอยู่ โดยรวมกว่า 3,200 คน อีกทั้งโรงงานทุกแห่งก็เป็นที่ยอมรับ ของคนในท้องถิ่น ซึ่งมีความต้องการอยากมาร่วมทำงานด้วย นอกจากการจ้างงาน ยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นในด้านอื่นๆ มีหลายแคมเปญที่ทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ อย่างโครงการรักษ์น้ำ โดยพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนวัดเขียนเขต ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานปทุมธานี โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยราชการในพื้นที่ ซึ่งในปีนี้วางแผนที่จะขยายไปในพื้นที่โรงงานแห่ง อื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากแก้วมีจุดเริ่มต้นจากศิลปะเมื่อหลายร้อยปีก่อนในเมืองมูราโน ประเทศอิตาลี ก่อนจะพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมงานศิลปะให้คงอยู่ จึงได้เปิด BGC Glass Studio ที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปะแก้วแห่งแรกของไทย เพื่อจัดการอบรมการออกแบบงานศิลปะแก้ว และเทคนิคการเป่าแก้วสำหรับศิลปินไทย และศิลปินต่างชาติ และเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมาได้จัดงาน Thailand Glass Art Festival 2018 นิทรรศการแสดงศิลปะจากการเป่าแก้วครั้งแรกของไทย โดยเชิญศิลปินเป่าแก้วระดับโลกมาจัดแสดงผลงาน นอกจากนี้ ยังเปิดให้เยี่ยมชมโรงงานทั้งที่ จ.ปทุมธานี และ จ.ขอนแก่น รวมถึงสนับสนุนสโมสรฟุตบอล ซึ่งมีสเตเดียมตั้งอยู่ภายในโรงงานที่ จ.ปทุมธานี และยังเป็นสปอนเซอร์ให้สโมสรฟุตบอลใน จ.ขอนแก่น อีกด้วย
มุมมองเมื่อเทรนด์ของโลกหมุนกลับมาใช้แก้วมากขึ้น
ยุโรปกำลังนิยมเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์แก้วเป็นอย่างมาก เพราะมีการเข้มงวดในเรื่องการใช้พลาสติก ส่งผลให้ปัจจุบันโรงงานผลิตขวดแก้วนั้นผลิตกันแทบไม่ทัน และต้องมีการขึ้นเตาใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในยุโรปมีการนำเศษแก้วกลับมาใช้ใหม่ได้มากถึง 80-90% ขณะที่ไทยสามารถนำเศษแก้วกลับมาใช้ได้เพียง 60% เท่านั้น ซึ่งทาง BGC ใช้เศษแก้วตั้งแต่ 40-80% ขึ้นอยู่กับราคาเศษแก้ว กับพลังงาน ช่วงไหนที่เศษแก้วมีราคาสูง เนื่องจากคนไม่ค่อยเก็บกันก็ใช้เศษแก้วน้อย ซึ่งถ้าใช้เศษแก้วมากก็จะใช้พลังงานต่ำ เพราะหลอมง่ายกว่า ทั้งนี้จะเห็นว่าเมื่อไม่มีการใช้พลาสติกก็ต้องเปลี่ยนเป็นแก้ว ก็เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในยุโรป และแนวโน้มก็ขยายวงมาในเอเชียและเมืองไทยต่อไป นอกจากนี้ในอนาคต BGC ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แก้วเป็นหลัก และเล็งถึงการขยายไปยังบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
คุณศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร – กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน)
“เราจะไม่เป็นบริษัทที่ตื่นมาวันหนึ่งโลกไป 4.0 แล้วฉันช้าหรืออยู่ปลายแถว ตรงกันข้าม เราจะ Keep up ตัวเองให้ทันสมัยเสมอ ด้วยการลงทุนทั้งในด้านเทคโนโลยี ฮาร์ดแวร์ ซอล์ฟแวร์ รวมถึงการเทรนนิ่งพนักงาน เพราะฉะนั้นเรื่องการผลิตเมื่อเทียบกับบริษัทในยุโรป เราก็เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีอยู่ในระดับแถวหน้า ซึ่งทำให้ BGC มีประสิทธิภาพที่ดี อันมาจาก Mind Set ของผู้บริหารรุ่นเก่าๆ จนถึงปัจจุบัน”