กทม. เผยความคืบหน้าการพิจารณาอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระบุใช้เกณฑ์การปรับขึ้นลงตามดัชนีผู้บริโภค ซึ่งกำหนดค่าโดยสารในแต่ละช่วงไว้ที่ 16-44 บาท ขณะที่ค่าโดยสารตลอดแนวเส้นทางกำหนดไว้ในอัตราไม่เกิน 65 บาท ซึ่ง TDRI ระบุว่าแพงเกินไป และสูงกว่าประเทศอื่นในโลก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ
นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวกรณี นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ระบุการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต–อ่อนนุช และช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ–สะพานตากสิน ส่วนต่อขยายช่วงสถานีสะพานตากสิน–สถานีบางหว้า และช่วงสถานีอ่อนนุช–สถานีแบริ่ง ส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต โดยหลักการจะต้องไม่เกิน 65 บาท นั้น สำนักการจราจรและขนส่ง ใช้เกณฑ์การปรับอัตราค่าโดยสารบีทีเอสขึ้นลงตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) โดยเก็บอัตราค่าโดยสาร 16-44 บาท
ส่วนการพิจารณาอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดแนวเส้นทาง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการหาเอกชนร่วมลงทุนเพื่อเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดย กทม. มีนโยบายและกำหนดเงื่อนไขสำหรับเอกชนในการเดินรถไฟฟ้าให้มีความต่อเนื่องเป็นระบบเดียวกัน (Through Operation) สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้โดยสาร พร้อมกำหนดค่าโดยสารตามระยะทางในอัตราไม่เกิน 65 บาท
สำหรับการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนทางราง สำนักการจราจรและขนส่ง ได้มีโครงการระบบขนส่งขนาดรอง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีเทา รถไฟฟ้า LRT สายบางนา–ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้าสายสีทอง รวมถึงระบบขนส่งมวลชนทางน้ำ และโครงการรถประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) ซึ่งจะเป็น feeder เชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อการเดินทางได้โดยสะดวก
อย่างไรก็ตาม สำหรับอัตราค่าโดยสาร มีผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ได้เปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี
ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท ซึ่งสูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ