แผนการนำระบบตั๋วร่วมในชื่อ “บัตรแมงมุม” มาใช้เชื่อมต่อการเดินทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกต่อประชาชน ทั้งในระบบขนส่งสาธารณะ ได้แก่ รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้า MRT รถโดยสารประจำทาง เรือโดยสาร ทางด่วน มอเตอร์เวย์ รวมถึงใช้เป็นกระเป๋าเงินในการจับจ่ายสินค้าหรือธุรกรรมต่างๆ ยังคงเป็นฝันค้าง ต้องเลื่อนจากปลายปี 2562 ไปเป็นปลายปี 2563 หรืออาจจะนานกว่านั้น เนื่องจากยังติดปัญหาในหลายจุด
คมนาคมเร่ง รฟม. พัฒนาระบบตั๋วร่วม
นับจากที่คณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมได้อนุมัติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำเทคโนโลยี EMV มาใช้ในการพัฒนาระบบตั๋วร่วม ช่วงเดือน เม.ย. 61 จนล่วงเลยมากว่า 1 ปี ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการฯ ที่มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้ประชุมติดตามผล ซึ่งยังคงล่าช้า ติดขัด และมีข้อสงสัยในหลายจุด จึงได้เร่งรัดให้ รฟม. ไปดำเนินการให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด
โดยนายเผด็จ ประดิษฐเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวยอมรับว่า ภายในปี 2562 นี้บัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2.5 จะใช้ได้กับรถไฟฟ้า 3 สายเท่านั้น คือ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนบัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 4.0 ยังไม่สามารถใช้งานได้ตามเป้าหมายที่ รฟม. เคยแจ้งไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีความล่าช้าในการดำเนินงาน และมีประเด็นข้อสงสัยที่คณะกรรมการฯ ต้องการให้ รฟม. ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม 6 ข้อ
ประกอบด้วย 1. แนวทางการนำระบบบัตรแมงมุม 2.0 ในระบบปิดของ สนข. มาพัฒนาต่อยอดร่วมกับระบบตั๋วร่วมมาตรฐานของ รฟม. ให้เป็นมาตรฐานตั๋วร่วมระบบเปิด คือ บัตรแมงมุม 4.0 ระบบ Account Based Ticketing (ABT) 2. แนวทางการจัดทำระบบ ABT เพื่อรองรับบัตรประเภทอื่นๆ เช่น บัตร EMV หรือคิวอาร์โค้ด 3. แนวทางการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (CTC), 4. แผนการดำเนินการระบบตั๋วร่วม, 5. มาตรฐานกลางของระบบตั๋วร่วมทั้งระบบปิดและระบบเปิด รวมถึงเงื่อนไขและร่างข้อตกลงทางธุรกิจต่างๆ ของระบบตั๋วร่วมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมในระบบตั๋วร่วม ทั้งผู้ประกอบการที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันและที่จะเปิดให้บริการในอนาคต และ 6. อัตราค่าโดยสารร่วมจะเป็นอย่างไร
เลื่อนคิวใช้งานจาก ธ.ค. 62 เป็นปลายปี 63
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจาก รฟม. เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบตั๋วร่วม EMV มีวงเงินลงทุนประมาณ 516 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างธนาคารกรุงไทยดำเนินการปรับปรุงระบบหลังบ้าน เคลียริ่งเฮาส์ ประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 216 ล้านบาท รฟม. จะใช้ลงทุนปรับปรุงหัวอ่านรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง (ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่) และรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน (ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และ บางซื่อ-ท่าพระ) โดยจะมีการลงนามใน MOU ร่วมกันเพื่อพัฒนาตั๋วร่วมเป็นระบบ 4.0 ซึ่งเป็นระบบเปิด (Open Loop) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/Visa Card) ซึ่งเบื้องต้นธนาคารกรุงไทยแจ้งว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาและติดตั้งระบบ 18 เดือน เป้าหมายให้การใช้งานจึงต้องขยับจากเดือนธันวาคม 2562 ไปเป็นปลายปี 2563
อย่างไรก็ตามจากการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 62 ที่ผ่านมาได้มีการพิจารณารายละเอียดเงื่อนไขในการทำสัญญาจ้างธนาคารกรุงไทยเป็นผู้พัฒนาระบบ แต่ยังไม่มีมติเห็นชอบ เนื่องจากมีข้อกังวลในหลายประเด็น เช่น การจ้างธนาคารกรุงไทยโดยตรงเพียงรายเดียว โดยไม่มีการเปิดประมูลจะทำได้หรือไม่ ข้อเสนอหรือเงื่อนไขและผลตอบแทนต่างๆ จากธนาคารกรุงไทยไม่มีข้อเปรียบเทียบ ทำให้ไม่แน่ชัดว่าเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดจริงหรือไม่ ที่สำคัญ รฟม. จะพัฒนาบัตรโดยสารร่วมหรือบัตรแมงมุม ด้วยระบบ ABT ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ใหญ่และครอบคลุมมากขึ้นกว่า EMV เนื่องจากสามารถรองรับการชำระค่าโดยสารทั้งแบบ QR-Code, Application, EMV และรองรับบัตรโดยสารรุ่นเดิมได้ด้วย ซึ่งจะสะดวกกว่าการใช้เพียงระบบ EMV และเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสารที่ไม่มีบัตรวีซ่า หรือมาสเตอร์การ์ด ซึ่งจุดนี้เป็นอีกข้อกังวลที่เกรงว่าหากจ้างธนาคารกรุงไทยทำเพียงระบบ EMV อาจจะมีปัญหาในการเปิดรับผู้ประกอบการรายอื่นให้เข้ามาเชื่อมต่อระบบ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อกังขาทั้งจากบอร์ด และกระทรวงคมนาคม เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ มีข้อสงสัยว่าทำไม รฟม. จึงไม่ดำเนินการเอง และมองว่าการให้กรุงไทยทำ จะไม่เปิดกว้าง ในอนาคตจะยากที่จะทำให้ผู้อื่นเข้าร่วมระบบด้วย แม้ผู้บริหาร รฟม. จะชี้แจงแล้วว่า การที่ รฟม. ให้ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจดำเนินการโครงการปรับปรุงระบบตั๋วร่วมเป็นการดำเนินการระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน สามารถทำได้ตามกฎกระทรวงการคลังก็ตามแต่บอร์ด รฟม. ก็ยังต้องการการยืนยันที่ถูกต้องชัดเจนอีกครั้ง ขณะเดียวกันธนาคารกรุงไทยเองก็ได้ชะลอเแผนเสนอร่าง MOU กับ รฟม. ต่อบอร์ดออกไปก่อน เนื่องจากไม่มั่นใจในท่าทีของรัฐบาลและรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคมชุดใหม่ ว่าจะเดินหน้าต่อเนื่องเลยหรือจะทบทวน จึงจะรอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อย่างสมบูรณ์และรับฟังความเห็นแนวนโยบายซะก่อนจึงจะดำเนินการต่อ
รฟม. ศึกษาอัตราค่าโดยสารร่วม
ขณะเดียวกัน รฟม. ยังได้มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษา เริ่มดำเนินการศึกษารายละเอียด พิจารณาแนวทางและรูปแบบสำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม (Common Fare) เพื่อวางมาตรฐานสำหรับใช้ในการกำหนดอัตราค่าแรกเข้าระบบ อัตราค่าโดยสาร การสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการชดเชยในกรณีที่ผู้รับสัมปทานต้องเสียรายได้จากการลดค่าแรกเข้าหรือค่าโดยสารเมื่อมีบัตรโดยสารร่วมใช้งานแล้วควบคู่กันไปด้วย โดยการคิดค่าโดยสารรวมเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติของร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบร่วม (พ.ร.บ.ตั๋วร่วม) เพื่อส่งเสริมการใช้บัตรใบเดียวเดินทางได้ในทุกระบบขนส่งมวลชน เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรแออัด และจูงใจให้ประชาชนหันมามช้ระบบขนส่งมวลชนกันมากขึ้น
แอร์พอร์ต เรล ลิงก์พร้อมใช้แมงมุม 2.5 ก.ย. นี้
สำหรับความคืบหน้าทางด้าน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 62 ที่ผ่านมา ได้เริ่มเปิดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนำบัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2.0, 2.5 และบัตร Contactless เวอร์ชั่น 4.0 จ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ได้ทั้ง 8 สถานีโดยจ่ายผ่านเครื่อง EDC เพื่อออกเป็นเหรียญโดยสาร สำหรับ บัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2.5 ซึ่งเป็นระบบปิด (Closed Loop) ภายใต้ระบบตั๋วร่วม คาดว่าจะพร้อมใช้งานประมาณเดือน ก.ย. หรือไม่เกินปลายปี 2562 ซึ่งเลื่อนจากกำหนดเดิมคือเดือน พ.ค. เนื่องจากปัญหาในการเชื่อมต่อซอฟต์แวร์ ระบบความปลอดภัย การตัดเงิน เคลียริ่งเฮ้าส์ ส่วนการปรับปรุงเป็นแมงมุม 4.0 ซึ่งเป็นระบบเปิด (Open Loop) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV ได้ทำซอฟต์แวร์รองรับไว้ เมื่อมีกำหนดใช้อย่างเป็นทางการต้องอัพเกรดอีกเล็กน้อยก็จะสามารถใช้งานได้
ขสมก. เดินหน้าระบบบ E-ticket
ส่วน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั้น หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-ticket) จำนวน 2,600 คัน กับกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน โดย บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ขสมก. จึงได้ปรับแผนงาน โดยในระหว่างนี้ ขสมก. ได้นำเครื่องอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา (EDC) มาใช้สำหรับการอ่านบัตรสวัสดิการฯ ทดแทนตั้งแต่ 8 มี.ค. 62 เพื่อรองรับการใช้สิทธิบริการรถโดยสารของผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ นอกจากนั้นยังทำบันทึกความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย เพื่อทดสอบการรับชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสดในสาย 510 ซึ่งในอนาคตจะขยายการรับชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสดในทุกเส้นทาง
ขณะเดียวกัน ขสมก. ยังได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการว่าจะดำเนินการติดตั้งและใช้งานระบบ E-ticket โดยการจัดหาคู่สัญญารายใหม่ และคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในเดือน ส.ค. 63 ซึ่งจะเป็นระบบที่สามารถต่อเชื่อมกับระบบงานทั้งภายในและภายนอก ขสมก. ได้อย่างลงตัว มีการต่อเชื่อมกับระบบตั๋วโดยสารร่วม เชื่อมโยงกับระบบ GPS และจะต้องมีฟังก์ชันที่ครอบคลุมการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในหลายลักษณะ ทั้งกรณีที่ ขสมก. เป็นผู้ออกบัตร E-ticket เอง (Issuer) กรณีที่ ขสมก. ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อออกบัตร E-ticket (Co-Issuer) และกรณีที่ ขสมก. ให้หน่วยงาน อื่นๆ ออกบัตรภายใต้รูปแบบของ ขสมก. (Co-Brand) โดย ขสมก. มีเป้าหมายว่าจะจัดเก็บค่าโดยสารด้วยระบบ E-ticket ได้ทั้งหมดภายในปี 2563
นับตั้งแต่ออกตัวบัตรแมงมุมและชักใยได้แค่ครึ่งทางก็มีอันต้องสะดุด ทั้งด้วยเหตุการเปลี่ยนแปลงนโยบายจาก บัตรโดยสารหรือตั๋วร่วมแแมงมุม ที่ สนข. เรียกว่าเวอร์ชั่น 2.0 แล้ว รฟม. นำไปอัพเกรดเป็น 2.5 มีบัตรออกมาแจกเป็นรุ่น Limited Edition ได้ 200,000 ใบ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 61 จากนั้นก็นิ่งไปเพราะการปรับนโยบายให้ทำเป็นระบบ EMV มาจนกระทั่งขณะนี้มีการขยายไอเดียเพิ่มเป็นใช้ระบบ ABT เรียกได้ว่าเป็นความล่าช้าที่สะท้อนการทำงานแบบบูรณาการอย่างไม่สะเด็ดน้ำของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการติดตั้งระบบบัตรโดยสารในเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ โครงข่ายใหม่ ที่ยังขาดมาตรฐานกลางให้นำไปใช้ออกข้อกำหนดจัดซื้อจัดจ้าง เสี่ยงต่อการทำงานซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองงบประมาณ และยังทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจ เพราะผ่านมาหลายดีเดย์แล้ว แต่กำหนดการใช้งานบัตรโดยสารร่วม ที่ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดเรื่องค่าโดยสารร่วมก็ยังคงเลื่อนให้รอเก้อกันต่อไป
คุณเผด็จ ประดิษฐเพชร – ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
“คณะกรรมการฯ ได้เร่งรัดให้ รฟม. ดำเนินการ และให้ทำแผนมาส่งว่าขั้นตอนการดำเนินการเป็นอย่างไร แล้วเสร็จเมื่อไร พร้อมทั้งต้องชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ โดยมีประเด็นสำคัญที่ถามไป คือ กรณีที่ให้ธนาคารกรุงไทยทำเขาจะสามารถทำระบบได้เองหรือไม่ หากทำได้เองก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าต้องไปจ้างคนอื่นทำระบบให้ ซึ่งหากเป็นแบบนั้น ทำไม รฟม. ไม่จ้างเองเพื่อที่ว่าตัวระบบ การเชื่อมโยงข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล จะได้อยู่กับ รฟม. ซึ่งระบบตรงนี้เป็นส่วนของภาคขนส่ง รฟม. ควรที่จะทำเอง ทั้งนี้ รฟม. ต้องเร่งดำเนินการให้มีความชัดเจนโดยเร็ว เพื่อที่จะได้กำหนดมาตรฐานกลางของระบบตั๋วร่วม แล้วส่งมอบให้หน่วยงานอื่นที่ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ๆ นำไปใช้กำหนดในทีโออาร์ได้ หากไม่มีทิศทางที่ชัดเจนอาจส่งผลให้ต้องติดตั้งระบบบัตรโดยสารซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองงบประมาณ”
[English]
Bangkok’s Mangmoom Card not yet ready to be introduced
The long-delayed introduction of the joint public transport ticket system, known as the Mangmoom Card, remains unconfirmed and it looks likely that commuters will have to wait for at least a year or longer.
The project was approved since April 2018 but the progress of the implementation has hit several obstacles. The latest meeting of the committee overseeing the project, chaired by the Permanent Secretary of the Ministry of Transport, has instructed Mass Rapid Transit Authority of Thailand (MRTA), which was initially tasked to adopt the EMV (Euro/Master/Visa card) technology in the development of the joint public transport ticket system, to address all issues as soon as possible.
The Office of Transport and Traffic Policy and planning (OTP) said that the first joint ticket — Mangmoom Card 2.5 — would be operational only with three electric rail lines, including the Blue Line, the Purple Line and the Airport Rail Link.
A source from MRTA said that the joint ticket project has been allocated with a budget of 516 million baht, covering the fee for Krungthai Bank (KTB) to improve the clearing house system (300 million baht) and a 216-billion-baht allocation for MRTA to upgrade card readers to accommodate the higher version of the system — Mangmoom Card 4.0.
The MRTA Board recently held back its approval for the hiring of KTB to handle the system development task due to a number of concerns while the Ministry of Transport agreed that MRTA should have taken charge of this part. At the same time, KTB decided to wait before officially joining the project as the company is not certain about the the new government’s stance.