บลูมเบิร์ก เผย เงินบาท เป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัยมากที่สุด แข็งค่าที่สุดในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนโลก ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ เงินบาทได้รับแรงหนุนจากแรงขายเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลต่อสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน
ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดจากสงครามการค้า และสงครามค่าเงิน (Currency War) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเที่ยบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเป็นค่าเงินที่มีความเข้มแข็งที่สุดในโลก โดยเป็นผลบวกมาจากบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และเงินสำรองระหว่างประเทศ
ซึ่งหลังจากที่การลงทุนในหุ้นถูกจัดว่าเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่ทำให้นักลงทุนมีการเทขายหุ้นทิ้งอย่างหนัก ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา และต่างหันมาสนใจในการเข้าถือครองทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้นถึง 17% นับจากต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยราคาทองล่าสุดพุ่งทะลุ 1,514 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และถ้าถือในระยะ 1 ปี ราคาทองจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 25%
ขณะเดียวกันอัตราแลกเปลี่ยนทั้งเงินเยน และฟรังก์สวิส เป็นอีกสกุลเงินปลอดภัยเช่นเดียวกับทองคำ มีการแข็งค่าขึ้นท่ามกลางสงครามค่าเงินที่ปะทุขึ้น หลังประธานาธิบดีทรัมป์และกระทรวงการคลังสหรัฐออกมากล่าวหาจีนปั่นค่าเงินหยวนอ่อนตัวลงจนทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางด้านการค้า
โดยที่เงินหยวนมีค่าอ่อนทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร์ และยังถูกมองว่ามีการใช้เงินหยวนเป็นเครื่องมือตอบโต้สงครามการค้ากับสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนครั้งหลังสุดอีก 10% เป็นมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 กันยายนนี้
ทั้งนี้ เงินเยนเคลื่อนไหวล่าสุดที่ 106 ต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 1.44% นับตั้งแต่ต้นปีนี้ และแข็งค่าเพิ่มขึ้น 1.24% ในช่วง 1 ปี ส่วนเงินฟรังก์สวิส แตะระดับ 0.97 ต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.8% นับตั้งแต่ต้นปีนี้ และแข็งค่าเพิ่มขึ้น 2.15% ในช่วง 1 ปี
สำหรับเงินบาท หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.5% เพื่อรับมือความผันผวนของตลาดการเงินโลก รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จากปัญหาของสงครามการค้า และการเริ่มปะทุของสงครามค่าเงิน แต่เงินบาทในวันนี้ยังคงแข็งค่าขึ้น 4.95% นับจากต้นปีนี้ และแข็งค่าถึง 7.83% ในช่วง 1 ปีมานี้
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยเงินบาทได้รับแรงหนุนในช่วงต้นสัปดาห์ ( 5 – 9 ส.ค. 62) จากแรงขายเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลต่อสงครามการค้า อย่างไรก็ตามเงินบาทมีการอ่อนตัวลงช่วงสั้นๆ หลังกนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ก่อนจะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนบางส่วนจากแรงขายเงินดอลลาร์ ของผู้ส่งออก และทิศทางเงินดอลลาร์ ที่ยังอ่อนแอเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก
ทั้งนี้ สำหรับในสัปดาห์นี้ (13 – 16 ส.ค. 62) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ากรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.50 – 30.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีปัยจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางค่าเงินหยวน สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และประเด็นเรื่อง BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือน ก.ค.