อุตสาหกรรมร้านจำหน่ายสินค้าเคลื่อนที่ หรือฟู้ดทรัค (Food Truck) กำลังเป็นที่นิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีรถฟู้ดทรัคกว่า 1,500 คัน ทั่วประเทศ และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีเพิ่มอีก 2,500 คัน ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ พร้อมขยายตลาดให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล
ธุรกิจฟู้ดทรัคเติบโตต่อเนื่อง
ข้อมูลด้านการส่งเสริมธุรกิจฟู้ดทรัคของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ระบุว่า ธุรกิจฟู้ดทรัคมีการขยายตัวมาตั้งแต่ปี 2559 และมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,680 ล้านบาท และในปัจจุบันมีรถฟู้ดทรัคกว่า 1,500 คันทั่วประเทศ มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 4,000 บาท/คัน ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในขณะนี้ได้กว่า 1,350 ล้านบาท
นอกจากนั้น กสอ. ยังคาดว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีรถฟู้ดทรัคเพิ่มอีก 2,500 คัน หรือเฉลี่ยปีละ 500 คัน โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจด้านนี้อีกประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 6,750 ล้านบาท และเมื่อรวมเข้ากับอีก 8 กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะก่อให้เกิดรายได้และเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้มากถึง 17,000 ล้านบาท
ผลักดันสู่ Smart 4 Food Truck
ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงให้ความสำคัญและมุ่งเน้นด้านการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้เติบโตอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความเข้มแข็ง และมีความยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่ และขยายฐานการตลาดให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค และยกระดับมาตรฐานอาหารสตรีทฟู้ด ให้มีความสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล
โดย นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กสอ. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคอย่างต่อเนื่อง ผ่าน 5 มาตรการ เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมฟู้ดทรัค ให้เติบโตอย่างยั่งยืนและขยายตัวสู่ภูมิภาคอาเซียน สำหรับมาตรการแรก คือ มาตรการสนับสนุนให้เกิดฟู้ดทรัคที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในสังคม โดยร่วมมือกับ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอนามัย กรมการขนส่งทางบก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันอาหาร สถาบันยานยนต์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ออกมาตรการผลักดันและส่งเสริมที่เรียกว่า “สมาร์ทโฟร์ฟู้ดทรัค (SMART 4 Food Truck)” เน้นสร้างมาตรฐานสำคัญ 4 ด้าน
ประกอบด้วย 1. ด้านคน โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะมาช่วยฝึกอบรมให้ผู้ประกอบอาหารทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 2. ด้านครัว คือ วัตถุดิบ เครื่องปรุง ภาชนะที่ใช้ รวมถึงคุณภาพอาหาร ทางกรมอนามัย และสถาบันอาหาร จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ส่วนด้านที่ 3. ตัวรถฟู้ดทรัค กรมการขนส่งทางบก จะส่งวิทยากร หรือวิศวกร เข้ามาให้คำแนะนำเรื่องการขอทะเบียนรถ และการดัดแปลงตัวรถให้เข้ากับอาหารหรือประเภทผลิตภันฑ์ที่จะขึ้นฟู้ดทรัค โดยไม่ผิดหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ. ขนส่งทางบก และ 4. ด้านตลาด ทั้งตัวตลาดที่เป็นสถานที่ (Market Place) รวมถึงการจัดการและการตลาด (Management & Marketing) ซึ่งจะเชิญกลุ่มต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย ที่มีพื้นที่กว้างพอให้ฟู้ดทรัคเข้าไปจำหน่ายสินค้า หรือจัดเป็นฟู้ดทรัคแลนด์หรือฟู้ดทรัคปาร์ค โดย กสอ. จะกำหนดหลักเกณฑ์ด้านอื่นๆ เช่น ต้องประกอบและจำหน่ายอาหารที่ไม่ทำลายมลภาวะและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในขณะนี้มีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ให้ความร่วมมือ และในอนาคตจะขยายผลไปในพื้นที่อื่น อาทิ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น
เน้นสร้างผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง
สำหรับมาตรการที่ 2 คือการพัฒนาบ่มเพาะผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้เข้มแข็ง โดยสร้างรูปแบบการพัฒนาเป็นบันได 5 ขั้นสู่ความสำเร็จ เริ่มจากการให้ความรู้ตั้งแต่การเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดทรัค การเป็นผู้ประกอบการฟู้ดทรัคหน้าใหม่ การพัฒนาธุรกิจฟู้ดทรัคระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูง เพื่อให้สามารถต่อยอดธุรกิจฟู้ดทรัคให้ก้าวไปในระดับสากล และสร้างความเข้มแข็งด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
มาตรการที่ 3 คือ การพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคในระดับประเทศ ด้วยการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการฟู้ดทรัคและผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฟู้ดทรัค หลังจากผ่านการบ่มเพาะด้วยบันได 5 ขั้น เพื่อให้เกิด “คลัสเตอร์ฟู้ดทรัคทั่วประเทศ” และสร้างการจัดการบริหารในภาพรวมให้เป็น “เครือข่ายฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ประเทศไทย” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ มาตรฐานและมีความพร้อม ภายใต้การกำกับดูแลของ กสอ.
มาตรการที่ 4 คือการเชื่อมโยงสู่ตลาดต่างๆ โดย กสอ. จะเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการในคลัสเตอร์ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Big Brothers หรือ หน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างๆ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ กสอ. ทำร่วมกับภาคีเครือข่าย
มาตรการที่ 5 ความพร้อมทางด้านเงินทุน ซึ่ง กสอ. ได้ปรับเกณฑ์การพิจารณาและประเภทของธุรกิจสำหรับการขอสินเชื่อจากกองทุนในความดูแลของ กสอ. โดยมีทุนในการให้สินเชื่อปีละ 100-150 ล้านบาท และมีอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 4 และมีวงเงินในการขอ สินเชื่อถึง 1 ล้านบาท ทั้งนี้วงเงินจำนวนดังกล่าวจะปรับเปลี่ยนไปตามศักยภาพของธุรกิจฟู้ดทรัค เพื่อการบริหารความเสี่ยงของกองทุน หากเป็นฟู้ดทรัคที่มีศักยภาพ ได้มาตรฐานสมาร์ท โฟร์ฟู้ดทรัคจะได้เพดานวงเงินสูงสุดเต็มจำนวน แต่หากอยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจวงเงินสินเชื่อก็จะลดลงเหลือไม่เกิน 5 แสนบาท โดยผู้ที่ขอสินเชื่อนี้มีข้อแม้ว่าจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของ กสอ. ด้วย
ปี 63 ตั้งงบพัฒนาต่ออีก 20 ล้าน
เพื่อให้เกิดการส่งเสริมและผู้ประกอบการธุรกิจฟู้ดทรัคอย่างต่อเนื่อง กสอ. ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการสำหรับปีงบประมาณ 2563 จากกระทรวงอุตสาหกรรม 20 ล้านบาท โดยในส่วนนี้อธิบดีกรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมบอกว่าจะมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคไว้รองรับสำหรับผู้ที่ต้องการมีรายได้เสริม รวมถึงผู้ที่มีอาชีพพนักงานธนาคาร นักข่าว และผู้ทำอาชีพด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ที่จะได้รับผล กระทบจากดิจิทัลดิสรัปชั่น ซึ่งคาดว่าจะมีคนตกงานในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้อีกประมาณ 10,000 คนด้วย
อย่างไรก็ดี การยกระดับอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคให้เติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน โดยต้อง บูรณาการการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อให้อุตสาหกรรมฟู้ดทรัคมีมาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งได้ในอนาคต ผ่าน Smart 4 Food Truck นับเป็นความท้าทายที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคนักท่องเที่ยว และเป็นความหวังในการสร้างให้ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งสตรีทฟู้ดที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้อย่างแท้จริง
คุณกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ – อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)
“กสอ. ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เกิดฟู้ดทรัคที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในสังคม และมีมาตรฐานที่เป็นสากล โดยผลักดันผ่านมาตรฐาน Smart 4 Food Truck เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้เติบโตอย่างเป็นรูปธรรม และขยายตลาดให้เติบโต ทั้งเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค และเพื่อรองรับกับผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากดิจิทัลดิสรัปชั่น เช่น พนักงานธนาคาร นักข่าว ผู้ที่ทำงานในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ ที่คาดว่าจะมีการตกงานจำนวนมาก ซึ่งในอนาคตเรามองว่าสตาร์ตอัพฟู้ดทรัคจะช่วยรองรับในส่วนนี้ได้ และสำหรับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง กสอ. ได้เสนอของบประมาณปี 2563 ไว้อีก 20 ล้านบาท”
[English]
Industry Ministry aims to promote Thai food truck business at international level
Data from the Department of Industrial Promotion (DIP) showed the local food truck business has been expanding since 2016 and registered an estimated value of over 1.68 billion baht in 2018. There are currently more than 1,500 food trucks operating nationwide.
DIP forecast the total number of food trucks in Thailand would increase 500 units a year during the next five years, when around 2.5 billion baht of investment would be put into the business and offer about 6.75 billion baht in economic value to the country. This value, when compared with those contributed by eight other businesses, should inject as much as 17 billion baht into the economy.
With that, DIP decided to provide more support to help food truck operators to develop their businesses in a concrete and strong fashion, while preparing to help new operators to enter the business to meet consumer demand as it pushes for the improvement of street food quality and hygiene to reach international standards.
In doing so, DIP will collaborate with seven other offices and organizations, such as the Department of Health, the Department of Land Transport, Thailand Automotive Institute, Panpyapiwat Institute of Management and Rajamangala University of Technology Phra Nakhon to introduce and promote the SMART 4 Food Truck measures.
These measures are aimed at setting standards in four areas, including personnel (skill training), kitchen (ingredients and utensils), trucks (special license and modification of vehicle), and marketing and management.
And, in order to ensure such support will continue uninterrupted, DIP has requested 20 million baht from the 2019 fiscal budget from the Ministry of Industry.