แนวโน้มของธุรกิจร้านอาหารในไทยยังคงมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2562-2563 จะขยายตัว 4-5% ต่อปี ขณะที่ชวนจับตาเทรนด์ Fast Casual แพลตฟอร์มค้นหาร้านอาหาร Foodie influencer ที่จะเขย่าวงการร้านอาหารในไทยปีนี้
คาดธุรกิจร้านอาหารยังเติบโต 4-5% ต่อปี
ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งจากครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลง และการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นการชะลอตัวของการบริโภคลง จากรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ประกอบกับรายได้ภาคเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ข้อมูลของ Euromonitor พบว่ายอดขายธุรกิจบริการอาหาร (Food Service) ของไทย ในช่วงปี 2556-2561 ยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 4% ต่อปี ส่งผลให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 8.8 แสนล้านบาทในปี 2561
ขณะที่ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่าในปี 2562-2563 ธุรกิจบริการอาหารยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องราว 4-5% โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่ครัวเรือนมีขนาดเล็กลง และต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของเมือง (Urbanization) ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของศูนย์การค้าใหม่ๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยนิยมทานอาหารนอกบ้านหรือซื้ออาหารสำเร็จรูปมาทานที่บ้านมากขึ้น
สะท้อนได้จากข้อมูลการสำรวจการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยในด้านอาหารของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปี 2552-2561 ครัวเรือนไทยใช้จ่ายไปกับการทานอาหารนอกบ้าน หรือซื้ออาหารสำเร็จรูปมาทานที่บ้าน เพิ่มขึ้นราว 3% ต่อปี ส่วนการปรุงอาหารเองที่บ้านนั้นเติบโตเพียง 1% ต่อปี
สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของไทย โดย EIC ในปี 2560 ซึ่งพบว่า 68% ทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น โดยการทานอาหารนอกบ้านเป็นกิจกรรมที่นิยมทำมากที่สุดถึงราว 65% อีกทั้งผู้บริโภค 76% ยังมีการใช้จ่ายนอกบ้านมากขึ้น นอกจากนี้ การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา ยังช่วยผลักดันยอดขายของร้านอาหาร โดยข้อมูลการใช้จ่ายหมวดอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปี 2556-2560 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องประมาณ 5% ต่อปี หรือราว 10,568 บาท/คน/ทริป สะท้อนถึงโอกาสสำหรับธุรกิจร้านอาหารที่ยังเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
Chained Restaurant กลุ่มหลักของตลาด
การเติบโตของร้านอาหารเป็นผลจากการขยายตัวของกลุ่มร้านอาหารที่มีสาขา (Chained Restaurant) เป็นหลัก ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่าในช่วงปี 2555-2561 ยอดขายของร้านอาหารประเภทเชนในไทยขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 9% ต่อปี ขณะที่การขยายสาขาเติบโตราว 8% โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายสาขาไปตามพื้นที่ค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเติบโตสูงกว่าร้านอาหารที่ไม่มีสาขา (Non-Chained Restaurant) ซึ่งมียอดขายเพิ่มขึ้นราว 4% ต่อปี และมีจำนวนร้านขยายตัวเพียง 2% ต่อปี เมื่อดูประเภทร้านอาหาร พบว่าร้านจำกัดการให้บริการ (Limited Service) อย่างรูปแบบการสั่งอาหารที่เคาน์เตอร์และลูกค้าบริการตัวเองหรือมีพนักงานมาเสิร์ฟ เป็นรูปแบบที่ขยายตัวดี เนื่องจากตอบโจทย์ทั้งความรวดเร็ว ลดจำนวนพนักงาน และโต๊ะอาหารมีจำนวนรอบหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาร้านในรูปแบบนี้ ซึ่งแต่เดิมส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหาร Fast Food ประเภทเบอร์เกอร์ แต่ปัจจุบันร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านเบเกอรี่ ก็ได้พัฒนารูปแบบเป็น Limited Service มากขึ้นด้วยเช่นกัน
จับตากลุ่มร้านอาหาร Asian แข่งขันสูง
จากความนิยมในร้านอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี ส่งผลให้มีการขยายสาขาของกลุ่มเชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ขยายตัวตามการเปิดศูนย์การค้า ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาดร้านอาหาร Asian เพิ่มขึ้นด้วย ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มยอดขายต่อสาขาของร้านอาหาร Asian โดยรวมชะลอตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มเชน ซึ่งช่วงปี 2555-2561 เติบโตเพียงแค่ประมาณ 2% ต่อปี เนื่องจากมีการขยายสาขาค่อนข้างเร็ว ส่วนใหญ่ยังเน้นเจาะตลาด Mass ซึ่งต้องแข่งขันด้านราคา ขณะเดียวกันร้านอาหาร Asian ยังมีความหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมาก โดยกลุ่มที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Sushi, Ramen, Izakaya, Shabu และ Yakiniku นอกจากนี้สิ่งที่น่าจับตามองคือ ผู้ประกอบการมีแนวโน้มในการพัฒนารูปแบบของร้านอาหารที่พรีเมียมมากขึ้น เน้นวัตถุดิบชั้นดี โดยเชฟเป็นผู้รังสรรค์เมนู ทำให้คิดค่าบริการที่สูงมากขึ้นได้ ซึ่งจะเน้นจับกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง
คาเฟ่กาแฟ-ชานมไข่มุกครองเมือง
ขณะที่ร้านคาเฟ่เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะร้านกาแฟและชาไข่มุก จากกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2555-2561 กลุ่มเชนร้านกาแฟเติบโตถึง 20% ต่อปี จากการขยายสาขาของแบรนด์ขนาดใหญ่ ซึ่งหลายแบรนด์ใช้กลยุทธ์ขยายสาขารูปแบบแฟรนไชส์ จึงขยายสาขาได้เร็วและกระจายในหลายพื้นที่ อีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจคือการกระจาย Segment เพื่อเจาะผู้บริโภคหลายกลุ่ม ด้วยการแตกแบรนด์ออกมาเป็นกลุ่ม Mass และพรีเมียม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละทำเล
ในส่วนของตลาดชานมไข่มุก อีกธุรกิจที่น่าจับตามองจากกระแสความนิยมในปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ต้องจับตามองเทรนด์การบริโภคชานมไข่มุกนั้น มีโอกาสเป็นกระแสความนิยมในระยะสั้น อีกทั้งยังเป็นกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มี Brand Loyalty มากนัก ดังนั้นการแข่งขันในระยะต่อไป หากผู้ประกอบการยังไม่มีจุดแข็งของแบรนด์หรือสร้างความแตกต่างก็มีโอกาสที่จะไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว
Grocery Store คู่แข่งที่ไม่ควรมองข้าม
ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารกำลังแข่งขันรุนแรงขึ้น Grocery Store โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ ก็เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดร้านอาหารไปบางส่วนด้วย จากการเพิ่มสัดส่วนของอาหารพร้อมทาน รวมทั้งพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ อย่างการเพิ่มโซนทานอาหาร บริการอาหารปรุงสด รวมถึงมุมกาแฟ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เร่งรีบ ข้อมูลของ Euromonitor พบว่าในช่วงปี 2556-2561 ยอดขายในส่วนของการให้บริการอาหารของร้านสะดวกซื้อในไทย ขยายตัวถึง 14% ต่อปี เติบโตเร็วกว่ายอดขายของร้านอาหารประเภทเบอร์เกอร์ ที่มีอยู่ราว 11% ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าร้านสะดวกซื้อตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคยุคใหม่ จากการมีอาหารสำเร็จรูปให้เลือกหลากหลาย ซึ่งสัดส่วนของสินค้าประเภทอาหารในร้านสะดวกซื้อรายหลักก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึง 50-70% ของสินค้าทั้งหมด ขณะเดียวกันซูเปอร์มาร์เก็ต ยังนำเอาร้านอาหารมาไว้ภายในที่เรียกว่า Grocerant ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นอีกด้วย
เทรนด์ธุรกิจร้านอาหารมาแรงในปี 2562
ด้วยรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดเทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตาเกิดขึ้นในปี 2562 อย่าง ร้านอาหารประเภท Fast Casual (ผสมระหว่าง Fast Food กับ Casual Dining) ที่ทั่วโลกมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น จากสถิติในสหรัฐฯ พบว่าในปี 2559 Fast Casual มีแนวโน้มขยายตัวเร็วกว่า Fast Food ประมาณ 8% และ 4% ตามลำดับ ด้วยความที่มีอาหารหลากหลายชนิด ซึ่งในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นร้านประเภทแซนด์วิช อาหารเม็กซิกัน และเบเกอรี ขณะที่ในไทยก็เริ่มได้รับความนิยม ซึ่งกลุ่มอาหาร Asian และเบเกอรี น่าจะที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการควรเน้นทำเลใกล้ออฟฟิศหรือสถานศึกษา ชูจุดเด่นที่อาหารจานเร็วและมีคุณภาพ
ขณะที่ ร้านอาหารที่ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค เป็นอีกเทรนด์ที่น่าสนใจ ด้วยเพราะการออกไปทานอาหารนอกบ้านของผู้บริโภคยุคใหม่ เป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างประสบการณ์ ด้วยบรรยากาศที่แปลกใหม่ที่เป็นจุดขาย อย่างร้านอาหารประเภท Plant Based หรือ Local Ingredient รอบร้านเป็นสวนผัก หรือผลไม้ให้เลือกเด็ดวัตถุดิบมาทำเมนูต่างๆ หรือร้านอาหารในความมืด (Dine In The Dark) ที่ใช้ประสาทสัมผัสในการคาดเดาเมนูอาหาร นอกจากนี้ กระแสการท่องเที่ยว Food Experience ก็ส่งผลให้เกิดความนิยมในการไปตระเวนชิมร้านอาหารท้องถิ่น รวมถึง Street Food
อีกสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือ Foodie Influencer และแพลตฟอร์มค้นหาร้านอาหาร มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการร้านอาหาร จากผลสำรวจอีไอซี พบว่า โซเชียลมีเดียและรีวิวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเข้าไปใช้บริการร้านอาหาร 58% รองลงมา การบอกต่อ 23% และโฆษณาในสื่อ 9% สะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของ Foodie Influencer มีอิทธิพลต่อผู้บริโภค ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับรีวิวร้านอาหารทั้งในแง่คุณภาพและบริการ ซึ่งแพลตฟอร์มรวบรวมร้านอาหารและมีรีวิว รวมถึงโปรโมชันส่วนลด ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Instagram ที่เป็นช่องทางสำคัญที่ร้านอาหารใช้ในการโปรโมทร้าน
การสั่งอาหารออนไลน์ ช่องทางสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม จากมูลค่าตลาด Food Delivery ที่ขยายตัวต่อเนื่องราว 10% ต่อปีในช่วงปี 2556-2561 จากการเทคโนโลยี และพัฒนาแอปฯ ส่งอาหาร ซึ่งในปัจจุบันบางแพลตฟอร์มมี Active User มากกว่า 3 ล้านราย สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย
แม้ว่าธุรกิจร้านอาหารยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ส่งผลให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ด้วยภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้มีผู้ที่เลิกกิจการไปเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าในปี 2561 ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร เป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุดเป็นอันดับ 3 จำนวน 2,058 ราย คิดเป็นสัดส่วน 3% ของธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั้งหมด แต่ขณะเดียวกัน ร้านอาหารยังเป็นธุรกิจที่มีการเลิกกิจการสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ด้วยจำนวน 566 ราย คิดเป็น 2% ของธุรกิจที่เลิกกิจการทั้งหมด
ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้จึงต้องมีความระมัดระวังพิจารณาเลือกทำเลที่เหมาะสม เน้นคุณภาพและบริการ ขณะเดียวกัน ต้องหาจุดขายที่สร้างความแตกต่าง และที่สำคัญคือการบริหารจัดการต้นทุนและสร้างความผูกพันของลูกค้าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวต่อไป
คุณปราณิดา ศยามานนท์ – ผู้จัดการคลัสเตอร์บริการ EIC
“แม้ว่าธุรกิจร้านอาหารยังเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ยังมีผู้ประกอบการที่ไม่ประสบความสำเร็จและเลิกกิจการเป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้นการจะเข้ามาในธุรกิจนี้ต้องมีความระมัดระวัง พิจารณาเลือกทำเลที่เหมาะสม เน้นคุณภาพและบริการ สร้างความแตกต่างและที่สำคัญคือการบริหารจัดการต้นทุน ตลอดจนสร้างความผูกพันกับลูกค้าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว”
[English]
Thailand’s food business looks likely to continue enjoying growth in 2019
Thailand’s food business is likely going to see further growth on the back of the country’s household structure, which is getting smaller, and consumers’ changing lifestyle.
Euromonitor said that the food service sector has grown at an average rate of 4% during 2013 and 2018 while its total value has risen to around 880 billion baht in 2018.
The SCB Economic Intelligence center (SCB-EIC) forecast that the food service sector will expand further by 4%-5% in 2018 and 2019 as people will likely prefer more convenience and the urbanization trend alongside the opening of new shopping centers should encourage more consumers to dine out or buy ready meals to consume.
A survey by the National Statistical Office suggested that Thai households’ spending on dining out and food purchase has grown around 3% a year during 2009 and 2018, when home-cooking has increased only by around 1% per year.
Euromonitor added that the growth in the food service sector could be attributed to the expansion of chained restaurants, which has been at around 9% each year during 2012 and 2018.
It was found that the popularity of Japanese and Korean restaurants has benefited the booming of the chained restaurant business as well as cafes and bubble tea shops
Grocery stores have also driven the food service sector’s growth as many have added ready-to-eat meals or a-la-carte service as convenient options for consumers.
And, fast-casual food, a combination of fast food and casual dining, is the trend of 2019, while food delivery remains something anyone can overlook for its annual growth of 10% since 2013.