7 เดือนแรก ไทยกวาดรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศไปกว่า 6.3 แสนล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.9% โดยในช่วงที่เหลือ คาดว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้น คาดการณ์รายได้รวมทั้งปี 1.12 ล้านล้านบาท จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงิน 1,000 บาท/คน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท พร้อมเผยเทรนด์จุดหมายปลายทาง ภูเขาและทะเลยังคงครองใจนักท่องเที่ยวชาวไทย
ภาพรวมสถานการณ์เที่ยวไทยปี 62
ข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณ 90.5 ล้านคน-ครั้ง เติบโต 2.6% มีการใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมูลค่าประมาณ 6.3 แสนล้านบาท เติบโต 4.9%
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมาตรการภาษีเพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นระยะเวลาสั้นๆ (30 เม.ย.- 30 มิ.ย. 62) แต่ตลาดไทยเที่ยวไทยยังอ่อนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมการท่องเที่ยวในประเทศที่ไม่เอื้อ อาทิ ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มมีการปรับพฤติกรรมการท่องเที่ยว
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงที่เหลือน่าจะดีขึ้นจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพราะจะมีช่วงที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยวในต่างจังหวัดมากขึ้น จากการปิดภาคการศึกษาและมีวันหยุดติดต่อกัน และปัจจัยจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะช่วยหนุนให้คนไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
โดยคาดว่า รายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศทั้งปี 2562 จะมีมูลค่าประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท เติบโต 4.7% จากปีก่อนหน้า โดยคาดว่าเม็ดเงินการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปี 2562 เฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้นจากในช่วง 7 เดือนแรกของปี (ดูอินโฟกราฟิก 1)
รัฐแจกเงิน 1,000 บาท กระตุ้นไทยเที่ยวไทย
การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นหรือชุมชนท่องเที่ยว ด้วยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยในพื้นที่สามารถช่วยกระจายรายได้สู่ธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรงและลงไปสู่ห่วงโซ่ธุรกิจและเกี่ยวเนื่องรวมไปถึงผู้คนในชุมชนท่องเที่ยวได้รวดเร็ว
ล่าสุด รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นทั้งมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ นอกจากการต่ออายุมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival รวมตลาดจีนและอินเดีย จากสิ้นสุด ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2562 เป็นสิ้นสุด ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2563 แล้ว คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวสำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศ คือ 1. ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดนอกเขตภูมิลำเนาที่อายุ 18 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ลงทะเบียนได้รับ 1,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชันที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้น โดยเป็นผู้ที่ลงทะเบียน 10 ล้านคนแรก คิดเป็นวงเงิน 10,000 ล้านบาท
และ 2. ผู้ที่ได้สิทธิ์ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายจริงจากการเดินทางท่องเที่ยวมาขอคืนเงินได้อีก 15% ของค่าใช้จ่ายไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท โดยเริ่มลงทะเบียนรับสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.–15 พ.ย. 2562 และสามารถใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.-30 พ.ย. 2562 ซึ่งนับเป็นการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเป็นครั้งที่ 2 หลังจากมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 (ดูอินโฟกราฟิก 2)
ภูเขา – ทะเล ยังครองใจนักท่องเที่ยวไทย
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่นิยมของคนไทยในช่วงท้ายปี ส่วนใหญ่แล้วยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวภูเขา โดยหากในปีนี้บรรยากาศการท่องเที่ยวรวมถึงสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการท่องเที่ยว คาดว่าสถานการณ์ในหลายๆ จังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวน่าจะดีขึ้น เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา เป็นต้น ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เช่น ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เป็นต้น ก็ยังคงเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
สอดคล้องกับผลสำรวจจาก Booking.com เผยว่า มีผู้เดินทางชาวไทย 67% ต้องการไปเที่ยวทะเลในปี 2562 และอีก 80% กล่าวว่าเทือกเขาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกจุดหมาย
ด้าน Airbnb ระบุว่า ปัจจุบันกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบของการเดินป่าในช่วงวันหยุดหรือวันสุดสัปดาห์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดย 1 ใน 5 ของจุดหมายปลายทางกิจกรรมเดินป่ายอดนิยมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเชียงใหม่
ขณะที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทยปัจจุบันเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ล่าสุด โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ เตรียมจัด “โอเชี่ยน มารีน่า พัทยา โบ๊ท โชว์” งานแสดงเรือยอช์ทนานาชาติระดับเอเชีย ในช่วงเดือนพ.ย.นี้ หวังกระตุ้นธุรกิจและตลาดท่องเที่ยวทางทะเล โดยที่ผ่านมา โอเชี่ยน มารีน่า พัทยา โบ๊ท โชว์ ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลกว่า 2,500 ล้านบาท โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนมากสุด 70%
ด้านผลสำรวจพฤติกรรมด้านการเดินทางและเป้าหมายของคนเจเนอเรชั่นที่กำลังก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ของ Booking.com พบว่า Gen Z (อายุ 16-24 ปี) มีแนวโน้มที่จะทำงานอาสาสมัครในระหว่างทริปเดินทางมากถึง 53% โดยเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะทำให้ได้รับประสบการณ์ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพราะผู้เดินทางจะมีโอกาสได้พบปะกับคนท้องถิ่น และยังทำให้รู้สึกว่าตนเองได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอีกด้วย (ดูอินโฟกราฟิก 3)
กระตุ้นผู้ประกอบการวางแผนการตลาด
สำหรับภาพรวมการท่องเที่ยวไทยช่วงปลายปีที่จะถึงนี้ มีแนวโน้มเติบโตขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองท่องเที่ยวรองเองควรพิจารณาใช้โอกาสจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เร่งทำกิจกรรมการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างแรงจูงใจในการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ผ่านการจัดโปรโมชันต่างๆ ร่วมกับพันธมิตร อาทิ จัดแคมเปญร่วมกับสถาบันการเงิน การจัดประชาสัมพันธ์การตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น เพื่อให้ตอบโจทย์เทรนด์การท่องเที่ยวของชาวไทยที่มีความต้องการสัมผัสกับวิถีชุมชมการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างการท่องเที่ยว และความต้องการของนักท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน รวมถึงมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการและลูกค้าเพื่อให้เกิดการ กลับมาท่องเที่ยวซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นประเด็นท้าทายต่อแนวโน้มตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จึงยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์กันต่อไป
นายอุตตม สาวนายน – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
“สำหรับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ประชุมเห็นชอบให้แจกเงินให้กับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดนอกเขตภูมิลำเนาจำนวน 1,000 บาท โดยมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นจำนวน 10 ล้านคน โดยต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชันที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้น และยังให้ผู้ที่ได้สิทธิ์สามารถนำค่าใช้จ่ายจริงจากการเดินทางท่องเที่ยวมาขอคืนเงินได้อีก 15% ของค่าใช้จ่ายที่ไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท”
[English]
Thai tourism industry hopeful to hit 2019 revenue target of THB1.12 trillion
Data from the Ministry of Tourism and Sports showed Thais have made a total of 90.5 million domestic trips during the first seven months of this year — a 2.6% increase, while their combined spendings were worth 630 billion baht — a 4.9% rise.
Despite such an increase and a recent short-term stimulus measure, the Thai tourism industry is still weak because of the problem of dust particles, the drought issue, and the economic slowdown in the country.
Kasikorn Research Center (KResearch) forecast the situation will pick up during the rest of the year, when the high season normally kicks in. KResearch expected the 2019 tourism revenue from domestic holiday-makers to total 1.12 trillion baht or a 4.7% increase from a year ago.
The government has continued introducing new stimulus measures to boost the economy, including the extension of the Visa on Arrival fees for travelers from China and India, the 1,000-baht cash handout for registered Thai holiday-makers traveling outside their hometowns but within the country, and the 15% reimbursement of domestic travel expenses for registered Thai travelers.
It is expected that many travel destinations, such as Chiang Mai, Pehtchabun, Nakhon Ratchasima, Chonburi, Prachuap Khiri Khan, and Phetchaburi will likely be crowded with tourists from now until the end of the year.
A survey by booking.com showed 67% of Thai travelers wish to go to beaches in 2019 and 80% said they also considered mountains as key decision-making factors.
Airbnb added that trekking has been increasingly popular while Thailand’s eastern coast appeared to be a preferred destination as well.