Thursday, October 5, 2023
More

    หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง ไตรมาส 1/62 สูงติดอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย รองเกาหลีใต้

    นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 หรือเท่ากับ 13 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.7 ของจีดีพี และสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไทยขณะนี้อยู่ในอันดับที่ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลก และอันดับ 2 จาก 22 ประเทศในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ โดยหนี้ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และรถยนต์

    โดยในไตรมาส 2 ปี 2562 แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาพรวมสินเชื่อธนาคารพานิชย์ เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 11.3 สูงสุดในรอบ 4 ปี นั้บตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2558 ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และเพื่อรถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 7.4 และร้อยละ 10.2 ตามลำดับ ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 9.1 และร้อยละ 11.4 ตามลำดับ


    ขณะที่ยอดคงค้างที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภค ในไตรมาส 2 ปี 2562 มีมูลค่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

    ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตที่มียอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป เริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 หรือประมาณ 7,322 ล้านบาท หลังจากหดตัวในไตรมาสที่แล้ว 

    นอกจากนี้ สภาพัฒน์ ยังมีการประเมินแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดการณ์ว่า ภาพรวมสินเชื่อบ้านอาจจะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง รวมถึงความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ ส่วนด้านคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มจะด้อยคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากในช่วงก่อนมีมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อในลักษณะที่ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุมัติ ประกอบกับมีการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทำให้ผู้กู้ได้เงินสดกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น

    สำหรับภาพรวมหนี้ครัวเรือนทั้งปี คาดว่าอาจไม่เกินร้อยละ 80 ของจีดีพี หากจีดีพียังขยายตัวเกินร้อยละ 3 ตามเป้าหมาย แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศ

    ทั้งนี้จากการรายงานสภาวะสังคมไทย ไตรมาส 2 ปี 2562 โดยสภาพัฒน์ ยังพบว่า ภาพรวมการจ้างงานลดลงร้อยละ 0.3 โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 4 แต่อัตราว่างงานยังต่ำที่ร้อยละ 0.98 และพบว่าภาพรวมคดีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6

    อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นทางสังคมที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาความเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง หลังพบยอดผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการเจ็บป่วยจากโรคซิฟิลิสในวัยรุ่น และอาการจิตเวชรุนแรงจากการติดสารเสพติดเพิ่มขึ้น