GoBear Thailand แพลตฟอร์มเว็บไซต์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ร่วมกับพันธมิตร เปิดเผยข้อมูลความรู้ด้านการเงิน เพื่อให้เป็นแนวทางให้ผู้บริโภคคนไทย หันมาสนใจสุขภาพทางการเงินของตนเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการวางแผนด้านการเงินในระยะยาว
โดย มร.มาร์นิกซ์ สวาร์ท รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านพัฒนาธุรกิจ และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์โกแบร์ เปิดเผยว่า โกแบร์ได้จัดทำดัชนีชี้วัดสุขภาพทางการเงินของโกแบร์ หรือ GoBear Financial Health Index ขึ้นเพื่อการเรียนรู้ และทำความเข้าใจถึงแนวคิด ความรู้สึก และการจัดการการเงินส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมกับองค์กรวิจัย Kadence International โดยศึกษาในตลาดสำคัญทั่วเอเชีย 4 แห่ง ได้แก่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย
จากผลการศึกษาพบว่าปัญหาหลักๆ ของการไม่ลงทุน เกิดจากปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน มากกว่าความรู้ทางด้านการลงทุน โดยได้มีการศึกษาในคนไทย 5 กลุ่มอายุ คือ อายุระหว่าง 18-25 ปี, ระหว่าง 26-35 ปี, ระหว่าง 36-45 ปี, ระหว่าง 46-55 ปี และระหว่าง 56-65 ปี พบว่า คนไทยประมาณ 50% ของทุกกลุ่มอายุ ไม่มีการลงทุน เนื่องจากไม่มีเงินเหลือเพียงพอหลังหักค่าใช้จ่าย รองลงมากคือขาดความคุ้นเคยหรือขาดความรู้ด้านการลงทุน ทั้งยังมองว่าการลงทุนมีความเสี่ยง
นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยกว่า 50% ไม่มีเงินออมในบัญชีเหลือเพียงพอที่จะใช้ดำรงชีพได้เกิน 6 เดือน หากเกิดการขาดรายได้อย่างกระทันหัน และคนไทยจำนวน 66% พบเจอปัญหานี้เป็นประจำทุกปี ซึ่ง 15% ของคนที่ตกงานหรือขาดรายได้ จะไม่มีทางออก หรือได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากญาติพี่น้องหรือคนรอบข้าง
โดยผลสำรวจพบว่า จำนวนเงินออมที่คนไทยส่วนใหญ่มี สามารถดำรงชีพได้เป็นระยะเวลา ดังนี้
อันดับ 1 นาน 6 เดือนขึ้นไป (44.%)
อันดับ 2 มากกว่า 1 เดือน แต่น้อยกว่า 3 เดือน (18%)
อันดับ 3 มากกว่า 3 เดือน แต่น้อยกว่า 6 เดือน (17%)
อันดับ 4 มากกว่า 1 อาทิตย์ แต่น้อยกว่า 1 เดือน (9%)
อันดับ 5 น้อยกว่า 1 อาทิตย์ (6%)
อันดับ 6 ไม่แน่ใจ (6%)
ซึ่งปัญหาการขาดวินัยด้านการเงิน มักส่งผลให้เกิดปัญหาการเงินด้านอื่นๆ ตามมา อาทิ หนี้สิน ไม่มีเงินออม และไม่ได้วางแผนด้านการเงินเพื่อรองรับชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งการศึกษาพบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งเป้าที่จะเกษียณอายุในช่วงวัย 50 ปี แต่ในคนวัย 46 ปีขึ้นไป ตั้งเป้าเกษียณที่อายุหลัง 60 ปี แสดงให้เห็นว่า คนไทยหวังที่จะเกษียณเร็วขึ้น แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดวินัยทางการเงิน ทำให้ในความเป็นจริง คนไทยอาจจะยังคงต้องทำงานต่อไปหลังอายุ 60 ปี
ขณะที่ผลการศึกษาของ Kadence พบว่า คนไทยวัย 18-25 ปี จำนวน 38% ยังไม่เริ่มวางแผนเกษียณ ขณะที่คนวัย 26-35 ปี มีจำนวน 30% และวัย 36-45 ปี มีจำนวน 26%
ซึ่งจากการวิจัยของโกแบร์ และ Kadence พบว่า คะแนนการประเมินสุขภาพทางการเงินโดยรวมของคนไทยอยู่ที่ระดับ 61% ซึ่งถือว่ายังมีช่องว่างเพื่อการพัฒนาได้อีกมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยในการสำรวจ ทำคะแนนในแบบทดสอบในส่วนของความรู้ทางการเงินได้น้อย
โดยปัญหาหลักด้านการเงินของคนไทยที่เห็นชัดจากผลการศึกษาแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. ปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้ ทำให้ไม่เหลือเงินเพื่อเก็บหรือเพื่อลงทุน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า 49.8% ของคนไทย ไม่สามารถลงทุนได้เพราะไม่มีเงินเพียงพอ หากรายได้น้อยรายจ่ายมาก ควรเลือกการลงทุนด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินน้อยแต่ให้ความมั่นคง และไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะขาดทุน
2. ปัญหาการขาดสภาพคล่องของเงินสดในมือ จากการที่ 50% ของคนไทยไม่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปโดยไม่ทำงานได้นาน 6 เดือน หมายความว่า หากต้องสูญเสียรายได้ไปเพราะตกงาน หรือประสบเหตุฉุกเฉิน จะทำให้การดำรงชีพเป็นไปอย่างลำบาก
3. ขาดการวางแผนด้านการเงินในวัยเกษียณ หรือเริ่มวางแผนการเงินวัยเกษียณเมื่ออายุมากเกินไป ซึ่งจากตัวเลขการวิจัยพบว่า อายุเฉลี่ยที่คนไทยให้ความสนใจวางแผนด้านการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 41.5 ปี ทั้งที่ในความเป็นจริง การวางแผนด้านการเงินเพื่อการเกษียณสามารถทำได้ตั้งแต่วัย 20+ หรือหลังเรียนจบ เพราะเมื่อเริ่มออมไว จะไม่ต้องออมคราวละจำนวนมาก และมั่นใจได้ว่าจะมีเงินพอใช้ยามเกษียณอย่างแน่นอน และสำหรับคนวัย 30+ หรือ 40+ ที่เพิ่งจะคิดวางแผนการเงินวัยเกษียณ ก็ต้องมีรูปแบบการออมที่แตกต่างไปจากคนเริ่มออมตั้งแต่วัย 20+
4. ขาดความรู้อย่างจริงจังในเรื่องของการเงิน ทำให้การจัดการที่เกี่ยวกับการเงินมักมีข้อผิดพลาดเสมอ โดยจากผลการศึกษาพบว่า 19.5% ที่ไม่กล้าลงทุนเพราะไม่มีความรู้หรือไม่มีความคุ้นเคยกับการลงทุน และ 17.3% คิดว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ทั้งๆ ที่การลงทุนมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งที่เสี่ยงมากและเสี่ยงน้อย ดังนั้นหากทุกคนหันมาสนใจสุขภาพทางการเงินของตนเอง และศึกษาหาความรู้ด้านการเงินและการลงทุนเพิ่มเติม ก็จะสามารถวางแผนด้านการเงินในอนาคตได้อย่างไม่ผิดพลาด