Wednesday, October 4, 2023
More

    ดร.สุรัตน์ จงดา การสืบทอดนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยกับการกำกับโขนตอน “สืบมรรคา”

    ปีที่ผ่านมาเราได้รับข่าวดีที่ “การแสดงโขน” ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งในปีนี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดการแสดงโขน ตอน “สืบมรรคา” ซึ่งนับเป็นการแสดงลำดับที่ 10 ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา โดยชวนไปติดตามการผจญภัยและอิทธิฤทธิ์ของหนุมาน ผสานกับความตระการตาของฉากและเทคนิคที่พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา BLT มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้กำกับการแสดงโขน ตอนสืบมรรคา ผู้อยู่เบื้องหลังการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2562 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย


    กำเนิดโขนพระราชทาน
    “ในปี 2545 ผมได้ทำงานกับ อ.สมิทธิ ศิริภัทร์ ในขณะนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่าโขนไม่เป็นที่นิยมมากนัก พระองค์ทรงมีความเป็นห่วงและให้นำโขนไปทำการแสดงเมื่อแปรพระราชฐานเพื่อทรงงาน จากนั้นทรงมีพระราชเสาวนีย์ และพระราชทานเงินให้สร้างเครื่องแต่งกายโขนที่ประณีตและสวยงาม จึงเกิดเป็นโครงการสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นเมื่อปี 2546”


    “ต่อมาในปี 2549 มีความคิดเรื่องการแสดงโขน จึงเกิดเป็น การแสดงโขนครั้งแรกในการแสดงคอนเสิร์ตประกอบวงสากลเฉลิมพระเกียรติ เรื่องรามเกียรติ์ ตอนพรหมาศ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม พรรษา 80 พรรษา ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2550 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ”


    การแสดงโขนประจำปี 2562
    “ที่ผ่านมามูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขน รามเกียรติ์ ได้แก่ ในปี 2552 มีการนำโขนชุดพรหมาศ มาปรับปรุงใหม่ ปี 2553 ชุดนางลอย ปี 2554 ชุดศึกมัยราพณ์ ปี 2555 ชุดจองถนน ปี 2556 ชุดศึกกุมภกรรณ ตอนโมกขศักดิ์ ปี 2557 ชุดศึกอินทรชิต ตอนนาคบาศ ปี 2558 ชุดศึกอินทรชิต ตอนพรหมาศ และปี 2561 ตอนพิเภกสวามิภักดิ์”

    “ในปีนี้คิดจะนำตอนเก่ามาเล่นอีกครั้งเหมือนตอนพรหมาศ แต่เราก็ได้ทำแบบสอบถาม ซึ่งผู้ชมเรียกร้องอยากจะเห็นหนุมาน จึงเลือกตอนสืบมรรคา เพราะเล่าถึงการเดินทางและวีรกรรมของหนุมาน”


    ไฮไลต์ในสืบมรรคา
    “ปัจจุบันคนไทยชอบดูการแสดงที่เรื่องราวมีความกระชับ ตื่นเต้น เร้าใจ และตลก จึงต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย เราจึงคิดว่าการแสดงในเวลา 2 ชั่วโมงครึ่งต้องถ่ายทอดใจความสำคัญ แต่ตรงไหนที่เป็นจารีตโขนก็ไม่ทิ้ง เช่น ฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน เพราะเป็นเนื้อหาที่ต้องโชว์กระบวนท่ารำของทศกัณฐ์ที่มีเฉพาะตอนนี้ ซึ่งเป็นกระบวนท่ารำที่สืบทอดกันตั้งแต่สมัย ร.6 จนเป็นแบบแผนในปัจจุบัน”


    “ยังมีการรื้อฟื้นกระบวนท่ารำแม่บทเก่าแก่ขึ้นมาใหม่ เช่น หนุมานรบนางอังกาศตไล ตัวละครที่มีเฉพาะในตอนนี้ แล้วตอนสืบมรรคาก็ไม่ค่อยได้นำมาแสดง ถามว่าโขนสร้างสรรค์ใหม่ได้ไหม สร้างสรรค์ได้ ครูบาอาจารย์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนาศิลป์ก็สร้างสรรค์ตลอดเวลา เช่น กระบวนท่ารบสหัสกุมารกับหนุมาน กระบวนท่าอินทรชิตรบหนุมาน ท่ารำกระบี่กระบองสำหรับองคตตัดคอยักษ์ปักหลั่น โดยเอาโครงสร้างของท่ารำเดิมที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดกันมา”


    ความยิ่งใหญ่ของนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย
    “ด้วยเนื้อหาของการแสดงโขนมีความเป็นแฟนตาซี ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราเลือกตอนสืบมรรคา เพราะสามารถสร้างจินตนาการได้ เช่นเราใช้เทคนิคพิเศษของการสร้างหุ่นหนุมาน หุ่นหนุมานเล็ก หุ่นผีเสื้อสมุทร มาประกอบ เพราะว่ามีบทที่หนุมานต้องเหาะเข้าปากนางผีเสื้อสมุทรแล้วผ่าท้องออกมา หนุมานข้ามแม่น้ำใหญ่แล้วเอาหางพันกับต้นไม้ไว้ ก็ต้องเนรมิตกาย รวมถึงหนุมานขี่นกสัมพาที”

    “ผู้ชมจะได้จิน ตนาการจากหนังสือที่เรียนมาจากวรรณกรรมที่ไม่มีตัวตนให้มีตัวตน พร้อมกับได้รับสุนทรียภาพ ความสนุก สนาน ความสุขเหมือนดูการแสดงทั่วไป ในส่วนของแง่คิดก็สอดแทรกเรื่องการทำ หน้าที่และความเฉลียว-ฉลาดของหนุมาน ที่สำคัญการดูโขนก็เสมือนกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมเช่นกัน”