จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายไขมันทรานส์ ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น ขณะเดียวกันผลสำรวจความต้องการมีโภชนาการที่ดีขึ้นของชาวไทย พบว่า กว่าครึ่งกำลังจะเริ่มปฏิวัติวิถีการบริโภคในอีก 12 เดือนข้างหน้าเพื่อสุขภาวะที่ดี
คนเมืองชูกระแสการเป็นตัวเองที่ดีกว่า
จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของเมือง ทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น ทำให้กระแสการเป็นตัวเองที่ดีกว่ากำลังมาแรง ทั้งในเชิงสุขภาวะร่างกาย อารมณ์ และสุขภาพจิตใจ
ผลสำรวจจาก มินเทล บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก ประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า ผู้บริโภคทั่วโลก 79% ต้องการมีโภชนาการที่ดีขึ้น ในขณะที่ 76% ระบุว่า อยากมีชีวิตสมดุล และ 73% จะหันมาออกกำลังกายให้มากขึ้น
ด้านผลสำรวจเฉพาะผู้บริโภคชาวไทย พบว่า คนไทย 48% กำลังจะเริ่มปฏิวัติวิถีการบริโภคในอีก 12 เดือนข้างหน้าเพื่อสุขภาวะที่ดี และในกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ประมาณ 90% ระบุว่า จะรับประทานผลไม้รวมถึงผักต่างๆ ให้มากขึ้น ในขณะที่อีก 53% วางแผนที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และ 45% เผยว่า พวกเขาจะเดินตามแนวทางชีวจิต หรือมังสวิรัติ
ไม่เพียงแต่หันหลังให้พฤติกรรมเสี่ยง แต่ชาวไทยเริ่มหันมาใส่ใจในเรื่องของการบริโภค อีกทั้งกระแสที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่องการกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายไขมันทรานส์นั้น ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยตระหนักในการเลือกบริโภคมากยิ่งขึ้น
ผลสำรวจพบว่า คนเมืองยุคใหม่จะค่อยๆ ปรับความชอบของตัวเองไปบริโภคพืชผักมากขึ้น และลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง โดย 76% จะเลือกรับประทานโปรตีนจากพืช เช่น ผักใบเขียวและถั่ว ในขณะที่ 55% เห็นด้วยว่า โปรตีนจากพืชนั้นมีคุณค่ากว่าโปรตีนจากสัตว์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบกิจการประเภทการจัดการแสดงทางธุรกิจและการแสดงสินค้า ซึ่งได้เปิดเผยเทรนด์อาหาร 2018 พบว่า ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการสินค้าที่สดใหม่ มาจากธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง
โดย 89% ต้องการซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ, 84% ชื่นชอบอาหารที่หาซื้อได้ในท้องถิ่น, 84% ต้องการอาหารที่ไม่มีสารเคมี และ 82% ชื่นชอบฉลาก Clean label เพราะปัจจุบันผู้บริโภคไม่กลัวที่จะต้องจ่ายเงินให้กับผลิตภัณฑ์คุณภาพดีๆ อีกต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ระดับกลางจะพิจารณาซื้อสินค้าจากคุณภาพมากกว่าราคา และจะตัดสินใจซื้ออาหารที่มีกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน ทำให้ในอนาคตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่จะออกมาใหม่นั้น จะมุ่งไปยังการนำส่วนผสมจากพืชพรรณธรรมชาติมาใช้ (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1 )
ธุรกิจด้านสุขภาพขยายตัวต่อเนื่อง
นอกจากผู้บริโภคจะหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการก็ได้เริ่มคิดค้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้สินค้ามีความหลากหลาย ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ เช่น สารสกัดจากสมนุไพรที่ช่วยบำรุงร่างกาย ธัญพืชแปรรูปที่ช่วยบํารุงผิวพรรณและช่วยสร้างกล้ามเนื้อ และอาหารสําหรับผู้ดูแลรูปร่าง ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีบริการจัดส่งอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อรองรับการใช้ชีวิตแบบคนเมืองที่ไม่มีเวลาปรุงอาหาร แต่มีความต้องการดูแลสุขภาพ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบาย พร้อมทั้งได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม อย่าง อินดี้ดิช สตาร์ทอัพรวมอาหารสุขภาพพร้อมส่งของคนไทย ที่รวบรวมเมนูสุขภาพในร้านอาหารเจ้าดังต่างๆ ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคในเมือง เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การลงทุนธุรกิจด้านสุขภาพของผู้ประกอบธุรกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสังคมกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย และคนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ Health Care กลายเป็นธุรกิจยอดฮิตตั้งแต่ปลายปี 2560
โดยธุรกิจบริการด้านสุขภาพที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทยมีจำนวน 4,086 ราย มูลค่าการลงทุนปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 117,908 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของคนไทยร้อยละ 99 คิดเป็น 116,771 ล้านบาท และมูลค่าการลงทุนของต่างชาติร้อยละ 1 คิดเป็นมูลค่า 1,137 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ คือ กรุงเทพมหานคร มูลค่าการลงทุน 60,936 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 52 รองลงมาคือ จังหวัดที่เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2 )
ขณะเดียวกัน โลกดิจิทัลกำลังวางกรอบแนวคิดในเรื่องของการบริโภคข้อมูลข่าวสาร และสร้างอิทธิพลต่อผู้บริโภคชาวไทย โดยงานวิจัยระบุว่า 63% ของผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจากออนไลน์ ในขณะที่ 54% เลือกซื้อตามอิทธิพลของสังคมออนไลน์ โซเชียล มีเดีย หรือตามบล็อกเกอร์ และ 59% ระบุว่า สินค้าประเภทความสวยความงามได้รับอิทธิพลมาจากสังคมออนไลน์ ส่วนอีก 56% เผยว่า พวกเขาค้นหาข้อมูลต่างๆ ผ่านออนไลน์เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันเทรนด์สุขภาพมาแรง แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ผู้ประกอบการด้านอาหารสุขภาพ ควรทําความเข้าใจลักษณะความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้ก้าวทันความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้สามารถตอบสนองผู้บริโภค และแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้ ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องศึกษาระเบียบข้อบังคับและมาตรฐานการผลิตอาหารสุขภาพควบคู่ไปด้วย เพื่อแนวทางในการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้บริโภค
คุณกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
“ปัจจุบันทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับกระแสรักสุขภาพ ทำให้ธุรกิจด้านสุขภาพต่างๆ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ที่ส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพได้รับความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว การหันมาใส่ใจสุขภาพ นโยบายของรัฐในการส่งเสริมธุรกิจด้านสุขภาพให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
[English]
Health Lifestyle, a Strong Trend for City Dwellers
The Ministry of Public Health’s ban on trans fat has promptly sparked Thai consumers’ attention to take better care of their health, especially when their income has been growing and big cities have been expanding.
Mintel, a global provider of market research, said 79% of consumers around the world want better nutrition while 76% of them want balanced life. In Thailand, 48% have planned to achieve good health in 12 months.
Another survey suggested that consumers in city areas have already focused on more vegetables and less meat as over 80% are willing to pay higher prices for healthy and chemical-free food and beverages.
Business operators also started catching up with the trend and began introducing new products to meet changing lifestyle and health-conscious consumers while investing more in health-related businesses, particularly when Thailand is moving towards an aging society.